คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 179 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดอำนาจสำเร็จและการสิ้นสุดสิทธิในการต่อต้านของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 69 ที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" และมาตรา 70 ที่บัญญัติว่า "บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้" จะใช้บังคับได้จริงต่อเมื่อการยึดอำนาจการปกครองยังไม่เป็นผลสำเร็จ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองก็ยังไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ กล่าวคือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ถูกยกเลิกไปโดยอำนาจของคณะผู้ยึดอำนาจ สิทธิดังกล่าวของจำเลยและประชาชนอื่นก็ยังคงมีอยู่ แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า การยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จแล้ว เนื่องจาก คสช.ประกาศใช้กฎอัยการฝึกที่ราชอาณาจักร ประกาศให้รัฐธรรมูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นบทบัญญัติหมวด 2 รวมทั้ง คสช. ได้มีประกาศและคำสั่งอันเป็นการใช้อำนาจบริหารประเทศอีกหลายอย่าง คสช.จึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์จึงย่อมมีอำนาจออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยรายงานตัวต่อ คสช.ได้ และสิทธิของจำเลยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้วนับแต่วันที่ คสช.ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3014/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวจากการแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. แม้การแจ้งความจะเกิดขึ้นต่างเวลา
การให้ถ้อยคำของจำเลยต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในตอนแรกสืบเนื่องจากการที่จำเลยมาเป็นพยานในคดีที่ อ. เป็นผู้กล่าวหาในกรณีการหายตัวไปของ ส. อันมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่าจำเลยถูกโจทก์กับพวกทำร้ายเพื่อบังคับให้รับสารภาพในข้อหาปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 และในข้อหาจ้างวานฆ่าจ่าสิบตำรวจ ป. ซึ่งมีลักษณะเป็นการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การให้ถ้อยคำของจำเลยต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในตอนหลังในเรื่องเดียวกันอีกครั้ง ก็เนื่องจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจสอบสวนต่อไปต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21/1 อันมีลักษณะเป็นการสอบสวนเช่นเดียวกันกับการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แม้การให้ถ้อยคำทั้งสองครั้งจะต่างเวลากัน แต่ก็เป็นการให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนด้วยกันในเรื่องเดียวกันนั่นเอง จึงเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียว หาใช่เป็นความผิดสองกรรมต่างกันไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5847/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของสมาชิกหมู่บ้านจัดสรร: สิทธิในการตรวจสอบการบริหารจัดการนิติบุคคล vs. อำนาจบริหาร
นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร สวนแหลมทอง 2 จำเป็นต้องมีคณะกรรมการนิติบุคคลเพื่อดำเนินการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ตามข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ข้อ 8 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ดังนั้น แม้คณะกรรมการนิติบุคคลชุดที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกรรมการอยู่ด้วยจะครบวาระแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ และดำเนินกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก คณะกรรมการชุดนี้จึงยังคงมีอำนาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะหากถือว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจบริหารกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ย่อมทำให้เกิดปัญหาขัดข้องในการดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ได้
ส่วนการที่คณะกรรมการชุดนี้ไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่นั้น โจทก์ทั้งแปดสามารถรวบรวมสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนให้ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าเสนอวาระเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ต่อคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ซึ่งคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ จะต้องจัดให้มีการประชุมภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งแปดจะกระทำได้
โจทก์ทั้งแปดเป็นเพียงสมาชิกของหมู่บ้านจัดสรร สวนแหลมทอง 2 ไม่มีอำนาจบริหารกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ไม่มีอำนาจใดที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการตามคำขอของโจทก์ทั้งแปดได้ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังคงปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ไม่ได้เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งแปดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานข่มขืนใจ ทำร้ายร่างกาย และความผิดตาม พ.ร.บ.อาญา มาตรา 309 ไม่สามารถระงับได้ด้วยการยอมความ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กลุ่มคนชมรม ค. กระทำความผิดในคดีนี้ โดยบรรยายครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละข้อหา จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว โดยหาจำต้องระบุตัวบุคคลผู้ถูกใช้หรือลงมือกระทำความผิดไม่
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 ที่ได้กระทำโดยมีอาวุธและโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามวรรคสอง ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 321 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น แม้จะได้ความว่าฝ่ายโจทก์ตกลงยอมความกับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้ตกลงให้ความผิดของจำเลยที่ 1 ระงับไปด้วย ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงหาระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแย้งของนิติบุคคลอาคารชุด: การบังคับภาระจำยอมและการลบล้างผลทางกฎหมายจากการทิ้งคำร้อง
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 2572/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว แต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะจำเลยที่ 1 ทิ้งคำร้องขอ จึงย่อมมีผลเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องขอ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาภายหลังการยื่นคำร้องขอนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องขอเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 คดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดไว้เฉพาะตามมาตรา 33 วรรคสอง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น แต่นิติบุคคลอาคารชุดยังมีอำนาจตามมาตรา 39 ซึ่งบัญญัติว่า "นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก... เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้" เมื่อเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุด ทั้งนี้ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น หากเจ้าของร่วมมีสิทธิฟ้องบังคับภาระจำยอมเอาจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีอำนาจใช้สิทธินั้นได้ตามบทบัญญัติมาตรา 39 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องแย้ง
การเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองเป็นผลของกฎหมาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีอำนาจตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 36 (3) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่จำต้องตั้งตัวแทนตามบทกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาอีก จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10865/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินปฏิรูปเกษตรกรรม, การเพิกถอนสิทธิ, ฟ้องขับไล่, เขตปฏิรูปที่ดิน, สาธารณสมบัติ
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาว่า การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยที่ 5 เพิกถอน ส.ป.ก. 4 - 01 สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้น เมื่อหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่จำเลยที่ 5 ออกให้แก่โจทก์ถูกเพิกถอนแล้วทั้งสองฉบับ ไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เกิดขึ้นตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 4 กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ควนหินตั้งอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินดังกล่าวโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านานถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่โจทก์พึงมีสิทธิที่จะได้รับเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากไม่มีการโต้แย้งสิทธิโดยกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ โจทก์คงได้รับเอกสาร น.ส. 3 ก. ตามที่ได้ยื่นคำขอและคงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องไปยื่นขอ ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำขอยกเลิกเรื่องออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เองเนื่องจากได้นำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) แล้ว การที่จำเลยที่ 4 ดำเนินคดีต่อโจทก์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดไม่
การที่โจทก์ถูกเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์คือโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างยืนยันว่าโจทก์เป็นเกษตรกรแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้น การที่โจทก์สมัครใจยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นถือว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ เพราะหากที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่จำเลยที่ 5 ไม่อาจนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้ จนกว่าจะได้จัดซื้อหรือเวนคืนมาเป็นของจำเลยที่ 5 เสียก่อน ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 5 จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดเช่นกัน
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ประการแรกคู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรก ประการที่สอง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง ประการที่สาม ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้ หลังจากจำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งการสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์จึงนำคดีไปฟ้องจำเลยที่ 5 ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช และศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ที่ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งหรือมติของจำเลยที่ 5 ที่สั่งให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทของศาลดังกล่าวมีเพียงว่า คำสั่งของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวชอบหรือไม่ ส่วนคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นและคนละเขตอำนาจศาลกัน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อกฎหมายดังที่กล่าวมา ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยที่ 5 เคยออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาคุณสมบัติของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 จึงมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า หากเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 ก็ชอบที่จะเพิกถอนและเรียกคืนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) เท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์นั้นหาได้ไม่ เพราะที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 5 แต่ข้อเท็จจริงได้ความจาก ว. และ ส. อดีตเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต พยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทแปลงแรกอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินทั้งแปลง ส่วนที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพียงบางส่วนเนื้อที่ 4 ไร่ 33 ตารางวา และอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 14 ตารางวา เป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5995/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่อศาลยุติธรรม: ประเพณีการปกครองและฐานะเทียบเท่าศาลรัฐธรรมนูญ
องค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มีที่มาจากองค์กรตุลาการคือศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมและจากศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นศาลปกครอง ในส่วนขององค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยก็มีข้อกำหนดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีไม่ต่ำไปกว่ามาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดอันเป็นการประกันความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ดังนี้ จึงถือได้ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีฐานะเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จะมิได้บัญญัติถึงผลบังคับของคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 38 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า ก็ถือได้ว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มีผลผูกพันศาลยุติธรรมเนื่องจากเป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11148/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเสร็จสิ้นเมื่อมีการชำระหนี้ แม้จะไม่มีการขายทอดตลาด เจ้าหนี้ต้องรับผิดค่าฤชาธรรมเนียม
หลังจากที่มีการยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2553 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนการยึดทรัพย์และสละสิทธิในการบังคับคดีเนื่องจากได้รับชำระหนี้จากฝ่ายจำเลยทั้งสามแล้ว ถือได้ว่ามีการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้ว เพราะการบังคับคดีเพื่อให้มีการชำระหนี้ตามคำพิพากษาสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ไม่ใช่มีเพียงการนำทรัพย์ที่ยึดมาขายทอดตลาดแต่อย่างเดียว ส่วนการโอนสำนวนการบังคับคดีไปไว้ในคดีล้มละลายก็เนื่องจากเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะสามารถจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้ ไม่ใช่ว่าเป็นกรณีการบังคับคดียังไม่เสร็จสิ้นแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึด ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 295 (2) โจทก์ทั้งสามจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9152/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงซื้อขายที่ดินขัดแย้งกฎหมายปฏิรูปที่ดินและมีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีก่อน จำเลยซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในคดีดังกล่าวทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 มีสาระสำคัญในข้อ 1 ว่า จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในวันที่... จะทำกันที่ศาลฎีกา โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ข้อ 2 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง โดยตกลงชำระเงินเป็นค่าซื้อขายที่ดินพิพาทจำนวน 40,000,000 บาท โดยชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่... ให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินค่าที่ดิน และจำเลยสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ซื้อก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ข้อ 5 จำเลยและทายาทของ ห. ทุกคนจะต้องยินยอมให้ความร่วมมือในการที่ ก. จดทะเบียนรับ ส. เป็นบุตรบุญธรรม เพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และทายาทของ ห. ทุกคนต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ได้ทำการซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกหลักฐาน ส.ป.ก. 4 - 01 ในปัจจุบัน ข้อ 6 ในวันที่โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยจะต้องได้รับเงินครบถ้วน 40,000,000 บาท หากโจทก์หรือผู้ซื้อผิดสัญญาให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน และโจทก์ยินยอมรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินพร้อมค่าเสียหายแก่จำเลย ในทางกลับกันหากจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินค่าปรับ 40,000,000 บาท นั้น บันทึกดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ คู่กรณีต้องดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องและชำระเงินกันก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษา เพราะเมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อตกลงนอกศาลที่ทั้งสองฝ่ายทำไว้ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำพิพากษาได้ ส่วนตามบันทึกข้อตกลงตามเอกสาร จ.5 ข้อ 5 ที่ระบุว่าจำเลยและทายาทอื่นของ ห. ทุกคนต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่ ก. ภริยา ห. จดทะเบียนรับ ส. พี่ชายโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. 4 - 01 ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ตามที่โจทก์ฎีกา จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์เบิกความว่าเงิน 40,000,000 บาท ที่จะจ่ายให้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นเงินรวมทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นหลายแปลง จึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดทุกแปลงแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินรวม 40,000,000 บาท จึงไม่สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7956/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีไม่มีทุนทรัพย์: สิทธิเก็บกินในที่ดินมรดก ศาลฎีกาสั่งคืนค่าขึ้นศาล
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น มิได้ขอให้ที่ดินพิพาทเป็นของตน หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอยู่ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลทั้งสามชั้นศาลจากโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมา
of 18