คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เปรมศักดิ์ ชื่นชวน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงคดีซื้อขาย, ทุนทรัพย์, สัญญาจะซื้อจะขาย, การยอมรับข้อเท็จจริง, ข้อจำกัดการฎีกา
คำฟ้องของโจทก์ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการบังคับจำเลยในทุนทรัพย์ 300,000 บาท มิใช่ราคา 600,000 บาท การคำนวณทุนทรัพย์ของคดีจะต้องคำนวณตามราคาที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นราคาที่ตกลงจะซื้อขายกับจำเลย จำเลยไม่เคยโต้เถียงในเรื่องนี้มาก่อนและจำเลยได้ร่วมดำเนินคดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น เท่ากับจำเลยยอมรับว่าคดีมีทุนทรัพย์ 300,000 บาท เมื่อเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9046/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันทำร้ายร่างกาย: พฤติการณ์ต่อเนื่อง, เจตนา, การหลบหนีบ่งชี้การเป็นตัวการร่วม
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์สวนทางกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล่นมา 6 คัน จากนั้นพวกของจำเลยขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหนึ่งมาด่าผู้เสียหายแล้วกลับไปรวมตัวกับกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาพวกของจำเลยและจำเลยขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มายังบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วพวกของจำเลยใช้ขวดสุราขว้างปาใส่ผู้เสียหาย พฤติการณ์การเชื่อได้ว่า กลุ่มวัยรุ่นที่กระทำการดังกล่าวเป็นกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มเดียวกันโดยมีจำเลยอยู่ร่วมกลุ่มด้วยมาโดยตลอด แสดงว่าจำเลยรับรู้ข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ประกอบกับขณะเกิดเหตุพวกของจำเลยที่ใช้ขวดขว้างปาใส่ผู้เสียหายยังใช้ผ้าปิดบังอำพรางใบหน้า ส่อแสดงว่าจะก่อเหตุร้ายขึ้นโดยไม่ให้มีผู้ใดจดจำได้ ซึ่งจำเลยย่อมตระหนักได้เป็นอย่างดี หากจำเลยไม่มีเจตนาร่วมกับพวกในการกระทำความผิด จำเลยก็ชอบจะแยกตัวไปโดยไม่เกี่ยวข้องด้วย พฤติการณ์แห่งคดีชี้ให้เห็นว่าจำเลยกับพวกคบคิดกันมาก่อนในการทำร้ายผู้เสียหาย และอยู่ในภาวะที่สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ อีกทั้งยังหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องอาญาถูกระงับหากคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีที่เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2266/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นคดีที่ อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 เป็นจำเลย โดยมูลเหตุมาจากการที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในฐานะ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ใช้หลักเกณฑ์ขัดกับหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาคราวเดียวกันกับมูลเหตุคดีนี้ และศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีของศาลชั้นต้นดังกล่าวด้วยนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2549 อันเป็นวันที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์แล้วพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 เท่ากับศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้นแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 เพื่อช่วยเหลือพวกของตน กลั่นแกล้งโจทก์และผู้บริหารสถานศึกษาอื่นให้ได้รับความเสียหาย การร่วมกันกำหนดแนวทางในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยกำหนดให้มีการประเมินเป็นคะแนน ต่อมาร่วมกันประเมินคะแนนและร่วมกันพิจารณาอนุมัติย้าย ณ. ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส. ตามคะแนนที่ประเมินโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามแนวทางในการพิจารณาซึ่งกำหนดขึ้น เห็นได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่แสดงความจำนงจะขอย้ายในคราวเดียวกันให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส. การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตามฟ้องจึงเป็นกรรมเดียว และข้อกล่าวหาในคดีก่อนและคดีนี้มีมูลมาจากเหตุเดียวกัน เมื่อการกระทำตามฟ้องได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์โดยมีเจตนาอื่น และการยึดเงินส่วนหนึ่งหลังจากการส่งมอบเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำร้าย
จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายแต่แรก การที่ผู้เสียหายส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงิน 700 บาท แก่จำเลยกับพวกโดยเจตนาเพื่อไม่ให้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายและข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อจำเลยกับพวกรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ แต่ยังคงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอยู่เพื่อข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อผู้เสียหายขอคืน จำเลยกับพวกยังยึดเงิน 200 บาทไว้ ไม่คืนให้ผู้เสียหาย เป็นการเอาทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายไปอันเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายส่งมอบเงินให้ก่อนหน้านี้เพื่อไม่ให้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ดังนั้น การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยกับพวกไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14806/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนอง: ผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในส่วนเกินหลังบังคับจำนอง หากสัญญามิได้ระบุข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมิได้ตกลงยกเว้นความใน ป.พ.พ. มาตรา 733 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดหลังจากการบังคับจำนอง และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยตามมาตรา 698 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10020/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันในหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่แยกจากหนี้เงินกู้หลัก
จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ด้วย โดยจำเลยที่ 1 ต้องเอาประกันภัยทรัพย์จำนอง โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายเบี้ยประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน หนี้ค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์จำนองเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาจำนอง จึงไม่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันและหลุดพ้นจากความรับผิดเนื่องจากหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความรับผิดในหนี้ค่าเบี้ยประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7013/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอลงโทษจำเลย จำเลยปฏิเสธ ผู้เสียหายไม่เบิกความต่อศาล
ผู้เสียหายยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะสามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานได้ แต่หาได้ดำเนินการไม่จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) แม้โจทก์จะมี จ. ที่ทราบเหตุการณ์จากผู้เสียหาย และพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนที่เบิกความยืนยันตามเหตุการณ์ที่ได้ทราบจากผู้เสียหายประกอบคำให้การของผู้เสียหายล้วนแต่เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่พอให้รับฟังลงโทษจำเลยทั้งสามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6530/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่จากความผิดขับรถเมาแล้วเกิดอุบัติเหตุ ไม่เข้าข่ายการใช้ ม.50 ป.อ. ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ
การที่ศาลจะนำ ป.อ. มาตรา 50 มาใช้บังคับต้องได้ความว่า จำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และได้กระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และศาลเห็นว่าหากจำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไป อาจกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้ แต่ความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ไม่เกี่ยวกับอาชีพหรือวิชาชีพที่จำเลยประกอบอยู่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลของจำเลย จึงหาใช่คำสั่งตาม ป.อ. มาตรา 50 ไม่ แต่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย กรณีจึงไม่อาจนำ ป.อ. มาตรา 50 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมและการใช้ดุลพินิจของศาลในการสืบพยานคดีควบคุมตัวโดยมิชอบ
การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนอันเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะใช้อำนาจสืบพยานเองโดยพลการ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 228 ให้อำนาจไว้ ทั้งศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ และพิพากษาคดีไปตามนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องลงวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ของผู้ร้องที่ขอให้หมายเรียกพยานอันดับที่ 3 และอันดับที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ร้องเพราะเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต: ศาลฎีกาพิพากษายืนตามฟ้อง แม้มีข้อโต้แย้งเรื่องเจตนาหลอกลวง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งเก้ากับพวกซึ่งเป็นคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง ไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่พวกผู้เสียหายเพียงแต่อ้างการประกอบธุรกิจจัดหางานมาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่าบริการจากพวกผู้เสียหายมาสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ แม้ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลอุทธรณ์มีสิทธิยกขึ้นอ้างได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 1782/2554 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย จึงไม่อาจนำมารับฟังได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งเก้าซึ่งเป็นคนหางาน
of 3