คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กีรติ กาญจนรินทร์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 271 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12704/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้เยาว์เป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ แม้มีผู้แทนโดยชอบธรรม ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้ผู้ใหญ่เป็นผู้จัดการมรดก
เด็กหญิง ช. เป็นผู้เยาว์ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ต. แม้เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมก็เป็นผู้จัดการมรดกแทนผู้เยาว์ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ เด็กหญิง ช. โดย ต. ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตายย่อมเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10507/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิ้นสุดความเป็นผู้อนุบาลเมื่อผู้ถูกอนุบาลถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดี
เมื่อ ส. คนไร้ความสามารถถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถย่อมสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 ผู้อนุบาลจะต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ทายาทของ ส. และทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในหกเดือนและถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี แต่ถ้าผู้อนุบาลหรือทายาทร้องขอศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้ทั้งนี้ตามมาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1598/11 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายกองมรดกของ ส. ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่งและมาตรา 1600 ดังนั้น หากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อนุบาลก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ส. อย่างไร ความเสียหายที่ ส. ได้รับย่อมเป็นมรดกของ ส. ที่ตกได้แก่ทายาทที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้อนุบาล เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าสมควรถอนผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้อนุบาลหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นโดยปริยาย หาผูกพันว่าผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติผิดหน้าที่ไม่
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสามและมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการยื่นคำร้องถอนผู้จัดการมรดกต้องมีเหตุตามกฎหมาย และต้องเกิดขึ้นหลังครบกำหนดเวลาที่ผู้จัดการมรดกต้องปฏิบัติหน้าที่
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728" แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8049/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาการยื่นคำให้การหลังศาลสั่งรอการพิจารณาคดีในคดีเยาวชนและครอบครัว
เจ้าหน้าที่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2555 การส่งหมายมีผลเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถือว่าได้รับหมาย
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งถ้อยคำสำนวนให้ประธานศาลฎีกาชี้ขาดและให้รอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่มีบทบัญญัตินิยามคำว่า "การพิจารณา" และ "กระบวนพิจารณา" จึงต้องนำบทนิยามตาม มาตรา 1 (4) และ 1 (7) แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลม ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ดังนั้น การยื่นคำให้การของจำเลยซึ่งเป็น "กระบวนพิจารณา" อย่างหนึ่ง จึงจำต้องรอไว้ก่อน มีผลให้ระยะเวลานับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งของประธานศาลฎีกาดังกล่าวย่อมไม่นับรวมในกำหนดเวลาที่จะต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7941/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อในการขับรถ รถฉุกเฉิน ผู้ขับรถมีหน้าที่ระมัดระวังและชะลอความเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ
คดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 ขับรถตู้คันเกิดเหตุนำ จ. จากโรงพยาบาลตาลสุมไปส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จำเลยที่ 1 เปิดสัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และไฟกะพริบตลอดทาง โจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ได้รับสัญญาณไฟจราจรสีเขียว จึงขับรถเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุ กรณีจึงเชื่อว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถตู้มาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุได้ใช้สัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และเปิดไฟกะพริบ ซึ่งสัญญาณดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะรับรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นรถฉุกเฉิน และผู้ที่ขับรถฉุกเฉินจะต้องขับรถด้วยความเร่งรีบ ทั้งโจทก์เองก็อ้างว่าเพิ่งออกจากบ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร กำลังจะไปสนามกีฬาซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร ก็ควรที่จะชะลอความเร็วรถลงเพื่อเปิดโอกาสให้รถที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินผ่านไปก่อน การที่โจทก์ไม่ชะลอความเร็วรถลงหรือหยุดรถจนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุที่เป็นรถฉุกเฉิน ซึ่งลักษณะการชนตามภาพเป็นลักษณะที่รถยนต์ของโจทก์พุ่งเข้าชนรถตู้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีส่วนขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากโจทก์เป็นผู้ก่อด้วยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6870/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการสินสมรสต้องด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย การแบ่งทรัพย์สินโดยไม่ได้รับความยินยอมและขายต่อให้ผู้อื่นเป็นโมฆะ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินในลักษณะเจ้าของรวม แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอุทธรณ์อ้างว่าต้องนำบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนมาใช้บังคับก็เป็นข้อที่คู่ความหยิบยกเอาข้อกฎหมายมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงในคดีอันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลโดยเฉพาะ และหากศาลเห็นว่าข้อกฎหมายที่คู่ความอ้างมาไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะปรับบทกฎหมายไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเองได้ อุทธรณ์ในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวแล้วในศาลชั้นต้น
แม้ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์จะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ต้องถือว่าในส่วนที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพราะสินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้ หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) โดยไม่จำต้องมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมก่อนจึงจะเป็นสินสมรส
การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6) วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าต้องรู้ว่าผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ การเข้าใจผิดว่าตายแล้วไม่ถือเป็นเจตนาฆ่า
ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาและความผิดฐานฉ้อโกง/กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ศาลพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่ชอบด้วยกฎหมายและจำหน่ายคดีบางส่วน
ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุหย่าตามมาตรา 1516(4/2) ต้องเป็นการแยกกันอยู่โดยมีเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้
พฤติการณ์ที่จะเข้าเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) นั้น นอกจากสามีภริยาต้องสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน 3 ปี แล้ว ยังต้องเป็นการแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติด้วย
โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อความตกลงประนีประนอมยอมความกันว่า ไม่ประสงค์จะร่วมชีวิตฉันสามีภริยากันอีกต่อไปจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกิน 3 ปี แล้ว แต่เหตุที่โจทก์จำเลยไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกตินั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่นำสืบถึงเหตุทะเลาะ แต่โจทก์กลับรับว่า จำเลยไม่เคยประพฤติเสียหายหรือประพฤติชั่วอันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ทางนำสืบของจำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์ติดพันหญิงอื่นมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินกับจำเลยและไปจากภูมิลำเนาเสียเอง ทั้งที่จำเลยยังเต็มใจที่จะเป็นคู่สมรสของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความว่า โจทก์จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากันอีกต่อไป แต่ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นเพียงว่า โจทก์เท่านั้นที่สมัครใจแยกไปฝ่ายเดียว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข จึงไม่เข้าเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ไม่ว่ามีการแยกกันอยู่นานเท่าใดก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1710/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาซื้อขายร่วมลงทุน และผลของการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
การที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เป็นเพียงผลตามกฎหมายในกรณีเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เท่านั้น สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่ได้รับชำระเงินตามสัญญาและไม่ได้รับการโอนคืนประทานบัตรรวมทั้งทรัพย์สินอื่นตามที่จำเลยทั้งสองตกลงว่าจะคืนให้ หากโจทก์ประสงค์ที่จะได้รับชำระเงินหรือทรัพย์สินสิ่งใดที่มีการโอนหรือส่งมอบตามสัญญาไปแล้วคืนเพียงใด อย่างไรหรือจำนวนเท่าใด ก็ชอบที่จะต้องระบุมาในคำขอท้ายฟ้องเพื่อศาลจะได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติและบังคับคดีได้โดยถูกต้อง โจทก์จะอ้างว่าเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะเดิมแล้วโจทก์จะไปไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองตามรายละเอียดในสัญญาต่อไปโดยอาศัยคำพิพากษาดังกล่าวหาได้ไม่ คำขอของโจทก์ในลักษณะเช่นนี้จึงไม่มีสภาพเป็นคำขอบังคับที่ศาลจะพิพากษาให้ตามคำขอได้ ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับว่าโจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลในทรัพย์สินส่วนที่จะให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมมาด้วยหรือไม่
of 28