พบผลลัพธ์ทั้งหมด 271 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14762/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาล: คดีครอบครัวต้องพิจารณาโดยศาลเยาวชนและครอบครัว การโอนคดีเป็นไปตามกฎหมาย
เมื่อประธานศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า คดีนี้อยู่อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรังเปิดดำเนินการแล้ว ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรังเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไปตามนัย มาตรา 13 และ 15 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้อง และให้โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12457/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำฟ้องไม่เคลือบคลุมแม้ไม่ได้ระบุรายละเอียดสินเชื่อ 'เงินสดโทรสั่งได้' และดอกเบี้ยถูกต้องตามอัตราบัตรเครดิต
แม้โจทก์จะบรรยายมาในคำฟ้องเพียงว่า จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่าทองของโจทก์ โจทก์อนุมัติให้จำเลยเป็นสมาชิกและออกบัตรเครดิตให้แก่จำเลยใช้แทนเงินสดเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ ตลอดจนเบิกถอนเงินสดจากสถานประกอบการที่เป็นสมาชิกของโจทก์ และนอกจากนี้ในการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยยังได้รับวงเงินหมุนเวียนอีกจำนวน 240,000 บาท แต่โจทก์ได้แนบใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับยอดหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" มาด้วย ทั้งยังปรากฏว่าในแต่ละเดือนโจทก์ได้ส่งใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตไปให้จำเลยทราบตลอดมาจนกระทั่งสัญญาเลิกกัน จำเลยจึงย่อมจะต้องทราบถึงข้อผูกพันของสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" รวมทั้งภาระหนี้สินที่เกิดจากสินเชื่อเป็นอย่างดี การไม่ระบุรายละเอียดของข้อตกลงในการใช้สินเชื่อประเภทนี้ในใบสมัครและในเงื่อนไขการใช้บัตร จึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในทางคดี ประกอบกับในคำให้การของจำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" แสดงว่าจำเลยไม่ได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด กรณีจึงถือได้ว่าคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การให้สินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" แก่จำเลย แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นหลังจากจำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่าของโจทก์ แต่ก็ได้ความจากใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตพร้อมคำแปลเอกสารว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" รวมกันมากับหนี้อันเกิดจากการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งจำเลยเองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวของโจทก์แต่อย่างใด จึงทำให้น่าเชื่อว่าสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาบัตรเครดิต การคิดดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากการผิดนัดชำระหนี้จึงต้องถือตามอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่า มิใช่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.8 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้บังคับในระหว่างไม่ผิดนัดตามที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ซึ่งปรากฏตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ว่า ในช่วงวันที่ 9 กันยายน 2549 ที่จำเลยเริ่มผิดนัดชำระหนี้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2549 จึงชอบแล้ว
การให้สินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" แก่จำเลย แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นหลังจากจำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่าของโจทก์ แต่ก็ได้ความจากใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิตพร้อมคำแปลเอกสารว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" รวมกันมากับหนี้อันเกิดจากการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งจำเลยเองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวของโจทก์แต่อย่างใด จึงทำให้น่าเชื่อว่าสินเชื่อ "เงินสดโทรสั่งได้" เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาบัตรเครดิต การคิดดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากการผิดนัดชำระหนี้จึงต้องถือตามอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่า มิใช่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.8 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้บังคับในระหว่างไม่ผิดนัดตามที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ซึ่งปรากฏตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของโจทก์ว่า ในช่วงวันที่ 9 กันยายน 2549 ที่จำเลยเริ่มผิดนัดชำระหนี้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพียงอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2549 จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12258/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลาภมิควรได้จากเช็ค: การคืนเงินเฉพาะส่วนที่มีอยู่จริง ณ เวลาเรียกคืน
จำเลยนำเช็คของธนาคาร ส. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 จำนวนเงิน 9,450 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เท่ากับเงินไทย 385,371 บาท ซึ่งมี ก. เป็นผู้สั่งจ่ายมาให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากธนาคารเจ้าของเช็คแทนจำเลย เมื่อโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยเท่ากับจำนวนเงินในเช็ค ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้จำเลยในฐานะผู้ทรงเช็คเข้าใจได้ว่าเงินที่โจทก์โอนเข้าบัญชีนั้นเป็นเงินตามเช็ค การที่จำเลยเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของจำเลยเพียงบางส่วนจำนวน 120,000 บาท ทั้งที่สามารถเบิกถอนออกจากบัญชีได้ในคราวเดียวทั้งหมด จึงไม่น่าจะเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริต เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับเงินไว้โดยไม่สุจริต จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 412 เมื่อปรากฏว่าจำนวน 120,000 บาท ที่จำเลยเบิกถอนไปนั้น ส่วนหนึ่งจำเลยได้โอนคืนให้ บ. ภริยาของ ก. อีกส่วนหนึ่งนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ของวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยได้รับแจ้งจากพนักงานของโจทก์ว่าเช็คที่จำเลยให้โจทก์เรียกเก็บแทนนั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงถือว่าในวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเป็นเวลาขณะเมื่อเรียกเงินคืน จำเลยไม่มีเงินเหลือที่จะคืนให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12193/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยมิได้สืบพยานในชั้นพิจารณา เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำ โดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ประกอบกับขณะมีการพิจารณาคดีนี้ ป.วิ.อ. ยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 226/5 ซึ่งมีข้อความว่า ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ แม้โจทก์มีพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ออกเช็คตามฟ้องและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองได้แถลงร่วมกันว่า ประสงค์จะต่อสู้ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 โจทก์จึงมีภาระต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความจริงว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องจริง เมื่อโจทก์ไม่นำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณา คงยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลชั้นต้น จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่นำสืบพยานเพื่อสนับสนุนว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิด จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11731/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญารับใช้หนี้ที่ไม่เป็นธรรมในฐานะทายาท: ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้บังคับใช้เฉพาะส่วนที่เป็นธรรม
จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตาย และจำเลยกับผู้ตายเป็นลูกหนี้สินเชื่อของโจทก์เช่นเดียวกัน การที่จำเลยทำสัญญารับใช้หนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยจำเลยยอมรับผิดร่วมกับกองมรดกของผู้ตาย โดยมีข้อตกลงและเงื่อนไขสำคัญว่า เมื่อโจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เพียงใด จำเลยจะชำระหนี้ในส่วนต่างระหว่างหนี้ตามคำพิพากษาและดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองคดีกับเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาด และหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่ได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เป็นงวดจนกว่าจะครบนั้นก็เนื่องจากในขณะนั้นสินเชื่อในส่วนของจำเลยเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หากจำเลยไม่เข้ารับใช้หนี้ของผู้ตายแล้วโจทก์ก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่จำเลยอีก ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มเติมความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของผู้ตายที่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ดังนั้น สัญญารับใช้หนี้จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005-7006/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิทายาทโดยธรรมลำดับที่ 6 (ลุง ป้า น้า อา) แม้บิดาผู้ตายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการตั้งผู้จัดการมรดก
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6425/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคัดค้านเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องอ้างเหตุขัดต่อกฎหมาย ไม่ใช่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
คำร้องคัดค้านการตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยอ้างว่าการดำเนินการเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39, 197, 212 ประกอบมาตรา 211 เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ที่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับชำระค่าปรับ จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันจะต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ศาลจะต้องส่งคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวการร่วมชิงทรัพย์-การใช้รถจักรยานยนต์-การลดโทษเยาวชน-การเปลี่ยนโทษเป็นฝึกอบรม
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นคนที่ถูกผู้อื่นหลอกลวงได้ง่ายและพฤติการณ์ในคดีก็ได้ความว่าอาของจำเลยเป็นผู้ใช้ให้จำเลยไปชิงทรัพย์ และอาของจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปทิ้งให้อยู่ในที่เกิดเหตุ จนกระทั่งจำเลยมาชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหลบหนีไปเพียงลำพัง โดยอาของจำเลยไม่ได้กลับมาที่เกิดเหตุอีกเลย จำเลยกับอาของจำเลยจึงมิใช่ตัวการร่วมกันชิงทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 83 แต่เป็นกรณีจำเลยชิงทรัพย์ตามที่อาของจำเลยใช้เท่านั้น และตามพฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์อันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้น ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
ปัญหาว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์และปัญหาว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ปัญหาว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์และปัญหาว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5803/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีค่าปรับในคดียาเสพติดภายหลัง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 โดยในบทเฉพาะกาลตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า "บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติบังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด แต่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นการบังคับโทษปรับหรือการบังคับให้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาเป็นชั้นของการบังคับคดี ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้" และวรรคสองบัญญัติว่า "การบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สิน และให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา" เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 21 วรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว เห็นว่า บัญญัติไว้ต่างหากในหมวด 5 การบังคับโทษปรับ ส่วนบทเฉพาะกาลตามมาตรา 24 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของศาลซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน นอกจากนี้ พนักงานอัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 เพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนค่าปรับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี ซึ่งเป็นเวลาภายหลัง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว แม้จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 29 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตามคำร้องขอของพนักงานอัยการโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การติดตามทรัพย์สินคืนจากผู้ถือครองโดยไม่ทราบข้อเท็จจริง กรณีถูกหลอกใช้เอกสารปลอม
คดีนี้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ในการเรียกให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ แต่เมื่ออ่านฟ้องทั้งหมดแล้ว จำเลยถูกผู้อื่นแอบอ้างและใช้เอกสารปลอมในการจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยจำเลยไม่มีเจตนารับโอนเป็นของตน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เพียงพอโดยไม่จำต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง กรณีเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไป เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า มีผู้แอบอ้างและใช้เอกสารปลอมขอกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้วนำเงินของโจทก์ไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งซื้อมาด้วยเงินของโจทก์มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งจำเลยก็มิได้กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงชอบด้วยความเป็นธรรมที่โจทก์จะเรียกเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้เสมือนเป็นการติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนแทนเงินที่โจทก์ต้องสูญเสียไป เพื่อเยียวยาความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำอันมิชอบ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์ได้ แต่ไม่อาจเรียกให้จำเลยชดใช้หนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยประกันภัยตามฟ้องได้เพราะจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์