พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8358/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางถนน: ประมาทเลินเล่อของผู้ตาย, การคำนวณค่าขาดไร้อุปการะ, และขอบเขตการรับฟังพยาน
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 27,033.33 บาทและให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 192,000 บาท ซึ่งเท่ากับให้ร่วมชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์คนละ 96,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้องทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 กับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้ประมาทเลินเล่อหรือหากมีส่วนประมาทเลินเล่อก็เพียง1 ใน 4 ส่วน ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพไม่เกิน 20,000 บาทค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองรวมกันไม่เกิน 1,200 บาทต่อเดือน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ทั้งสองได้ระบุอ้างบัญชีค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายไว้ในบัญชีระบุพยานโดยชอบแล้ว แม้มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า3 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90(เดิม) วรรคแรก แต่โจทก์ทั้งสองก็อ้างส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลในวันสืบพยานนัดแรกซึ่งโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่สืบก่อน เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 2 มีโอกาสจะซักค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวและมีโอกาสที่จะนำสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวได้ การรับฟังพยานเอกสารเช่นว่านี้จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2เสียเปรียบแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจึงมีอำนาจที่จะรับฟังบัญชีค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายตามเอกสารดังกล่าวได้ตามมาตรา 87(2) แม้ผู้ตายมิได้ขับรถจักรยานยนต์ล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์โดยสารก็ตาม แต่การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นมาด้วยความเร็วสูงผ่านโค้งก่อนถึงที่เกิดเหตุและไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย และเมื่อรถสวนกันก็ไม่ขับชิดด้านซ้ายของทางเดินรถ ซึ่งเป็นการไม่ปฎิบัติ ตามกฎหมายจึงเกิดชนกับรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับสวนทางมา ถือได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดู ถ้าหากเคยได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจริงก็นำมาพิจารณาประกอบด้วยส่วนระยะเวลาในอนาคตที่จะคำนวณค่าขาดไร้อุปการะเป็นจำนวนเดียวนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าตามความหวังที่มีเหตุผลหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใด และเป็นเวลานานเท่าใด