พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8363/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งปิดป่าโดยรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิด สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยต้องยื่นตามขั้นตอน
โจทก์บรรยายฟ้องพอสรุปได้ว่าการประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ของจำเลยทั้งสองที่มีต่อโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 68 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายผิดสัญญาและเป็นการละเมิดต่อโจทก์และเรียกค่าเสียหายตามฟ้องอันเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ในลักษณะละเมิดและผิดสัญญามิใช่เป็นการฟ้องเรียกเงินชดเชยความเสียหายเพียงประการเดียวกรณีไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 68 ทศ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ คำว่า "สัมปทาน" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 หมายถึง การอนุญาตให้มีสิทธิที่จะทำได้แต่ผู้เดียวในกิจการบางอย่างเช่นเหมืองแร่และป่าไม้และตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ได้บัญญัติไว้ว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รัฐบาลมีอำนาจให้สัมปทานในการทำไม้ชนิดใด หรือเก็บของป่าอย่างใดโดยมีขอบเขตเพียงใดและในสัมปทานนั้นจะให้มีข้อกำหนดและเงื่อนไขอย่างใดก็ได้"เนื้อความสัมปทานทำไม้ของห้าม เป็นเรื่องที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยที่ 1 ให้บริษัทตากทำไม้ จำกัดโจทก์เข้าทำไม้หวงห้ามภายในเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยกำหนดเวลาและเงื่อนไขให้โจทก์ต้องปฏิบัติด้วย และตามข้อกำหนดในสัมปทานโจทก์เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่โดยเสียผลตอบแทนให้รัฐบาลเพียงเล็กน้อยเป็นเงินค่าภาคหลวงและค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ของสัมปทาน การให้สัมปทานเป็นวิธีการอนุญาตวิธีหนึ่งซึ่งผู้ได้รับสัมปทานมีสิทธิที่จะทำกิจการที่ได้รับสัมปทานโดยไม่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังนี้ สัมปทานทำไม้ตามฟ้องจึงเป็นเอกสารการอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิทำไม้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น มิใช่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้สัมปทานตามฟ้องสิ้นสุดลงเป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในคำสั่งดังกล่าวที่ได้ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งว่าเนื่องจากปัจจุบันนี้พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงจนเป็นเหตุให้เกิดสภาวะการขาดความสมดุลของสภาพแวดล้อม กรณีเป็นการจำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าไม้ในเขตสัมปทาน เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่จะแสดงว่า จำเลยทั้งสองออกคำสั่งเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการออกโดยกฎหมายให้อำนาจไว้ จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ได้ยื่นคำร้องเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายต่ออธิบดีกรมป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 68 อัฎฐแล้ว แต่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงบางส่วน โจทก์ไม่พอใจ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 68 ทศ และได้นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในขณะที่รัฐมนตรียังไม่ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และยังไม่พ้นกำหนดเวลาที่จะวินิจฉัย การที่โจทก์มายื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก่อนที่รัฐมนตรีจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์หรือก่อนที่จะพ้นกำหนดเวลาพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องที่ผิดขั้นตอนของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวโจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลในส่วนที่เกี่ยวกับเงินชดเชยค่าจ้างคนงานได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8363/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสิ้นสุดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเพิกถอนสัมปทานป่าไม้ และการปฏิบัติตามขั้นตอนการขอรับเงินชดเชย
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า การประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยที่มีต่อโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 68 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายผิดสัญญาและเป็นการละเมิดต่อโจทก์และเรียกค่าเสียหาย อันเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในลักษณะละเมิดและผิดสัญญา มิใช่เป็นการฟ้องเรียกเงินชดเชยความเสียหายเพียงประการเดียวจึงไม่อยู่ในบังคับของเงื่อนไขในการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 68 ทศโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ สัมปทานทำไม้เป็นการอนุญาตให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิทำไม้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายเท่านั้น มิใช่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยออกคำสั่งให้สัมปทานการทำไม้หวงห้ามทุกชนิดทั่วประเทศรวมทั้งของโจทก์สิ้นสุดลง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 ทวิแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เงินประกันการปฏิบัติตามสัมปทานการทำไม้หวงห้ามเป็นเงิน ที่โจทก์ผู้รับสัมปทานวางไว้เพื่อเป็นประกันในการที่โจทก์ จะปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัมปทาน ผู้ให้ สัมปทานจะริบได้ต้องเป็นกรณีมีการเพิกถอนสัมปทานโดย ผู้รับสัมปทานปฏิบัติผิดข้อกำหนดหรือเงื่อนไขตามสัมปทานการทำไม้ ข้อ 33 เท่านั้น แต่กรณีที่รัฐบาลออกกฎหมายและมีคำสั่งให้สัมปทานการทำไม้ทั่วประเทศสิ้นสุดลง มิใช่เป็นการสั่งเพิกถอนตามสัมปทานข้อ 33 จึงไม่มีสิทธิที่จะริบเงินประกันต้องคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายต่ออธิบดีกรมป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 68 อัฏฐแล้ว แต่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงบางส่วน โจทก์ไม่พอใจ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเลยตามมาตรา 68 ทศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2533 และได้นำคดีมาฟ้องจำเลยในวันที่ 22 มกราคม 2533 ซึ่งรัฐมนตรียังไม่ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และยังไม่พ้นกำหนดเวลาที่จะวินิจฉัยเป็นการยื่นฟ้องที่ผิดขั้นตอนของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลในส่วนที่เกี่ยวกับเงินชดเชยค่าจ้างคนงาน