คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประพาฬ อนมาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 55 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8420-8421/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราโทรมหญิง ร่วมกันพรากผู้เยาว์ และชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
แม้ผู้ร้องที่ 2 มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 1 กรณีผู้ร้องที่ 2 จึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เหมือนผู้ร้องที่ 3 ที่เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นบิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 1 ต้องถือว่าผู้ร้องที่ 2 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้ร้องที่ 1 และเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดาซึ่งเป็นผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรกด้วย ผู้ร้องที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7381/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องแย้งเรื่องการครอบครองที่ดิน การพิสูจน์สิทธิในที่ดิน และขอบเขตคำขอในคดี
แม้จำเลยชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะตั้งประเด็นส่วนที่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. นั้น จำเลยก็ได้โต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของ ต. การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตั้งประเด็นในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. หรือไม่ กับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. จึงชอบแล้ว
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการแย่งการครอบครองที่ดินกันและฝ่ายที่ถูกแย่งการครอบครองประสงค์จะเอาที่ดินคืน จึงต้องฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่คดีนี้จำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นมรดกของ ต. ซึ่งตกทอดแก่ทายาทและจำเลยแย่งการครอบครองมาจากทายาทคนอื่นจนได้สิทธิการครอบครองแล้วแต่อย่างใด หากแต่ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของ ต. เพราะ ต. ยกให้ อ. บิดาจำเลยตั้งแต่ ต. ยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของ อ. และตกทอดมาเป็นของจำเลย โดย อ. และจำเลยมิได้แย่งการครอบครองมาจากผู้ใด คำให้การของจำเลยจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ไม่อาจแย่งการครอบครองในที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ แม้ อ. เคยมีหนังสือไปถึงโจทก์ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของ ต. ที่จะต้องนำไปแบ่งปันให้ทายาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เพราะจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. การโต้แย้งตามหนังสือของ อ. ดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว
การขอรังวัดออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทจากเดิมที่เป็นที่ดินมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ย่อมจะทำให้ทราบแนวเขตและเนื้อที่ของที่ดินได้แน่นอนชัดเจน ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทนั้นเอง เมื่อการรังวัดถูกจำเลยขัดขวางอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ต. หรือไม่
โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยไปเพิกถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินและห้ามจำเลยคัดค้านหรือยุ่งเกี่ยวกับการรังวัดออกโฉนดที่ดินเท่านั้น โดยมิได้มีคำขอห้ามจำเลยขัดขวางการแบ่งปันมรดกของโจทก์ในกรณีอื่นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาห้ามจำเลยขัดขวางการแบ่งปันมรดกของโจทก์จึงเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7381/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์มรดกและการฟ้องบังคับให้เพิกถอนคำคัดค้านการขอออกโฉนด: ประเด็นการแย่งการครอบครองและขอบเขตคำขอ
แม้จำเลยชนะคดีในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะตั้งประเด็นส่วนที่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนาย ต. ซึ่งจำเลยก็ได้โต้แย้งแก้อุทธรณ์ไว้ในข้อ 2 ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ไม่อาจนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตั้งประเด็นในการวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนาย ต. หรือไม่ กับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนาย ต. จึงชอบแล้ว
จำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นมรดกของนาย ต. ซึ่งตกทอดแก่ทายาทและจำเลยแย่งการครอบครองจากทายาทอื่นจนได้สิทธิการครอบครองแล้วแต่อย่างใด หากแต่ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ไม่อาจนำไปแบ่งปันแก่ทายาทได้ เพราะนาย ต. ยกให้นาย อ. บิดาจำเลยตั้งแต่นาย ต. มีชีวิตอยู่ เท่ากับอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนาย อ. และตกทอดมายังจำเลย โดยนาย อ. และจำเลยมิได้แย่งการครอบครองมาจากผู้ใด คดีจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ไม่อาจแย่งการครอบครองในที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ แม้ภายหลังโจทก์มีหนังสือแจ้งให้ทายาทและนาย อ. ไปตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนาย ต. นาย อ. ได้มีหนังสือไปถึงโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ที่จะต้องนำไปแบ่งปันแก่ทายาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เพราะจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนาย ต. การโต้แย้งตามหนังสือของนาย อ. ดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7200/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าของรถและผู้ประกอบการขนส่งต่อความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และขอบเขตความรับผิดตามสัญญาประกันภัย
จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 85 - 3491 นครปฐม และจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุกกึ่งพ่วงหมายเลขทะเบียน 82 - 7411 นครปฐม โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถบรรทุกดังกล่าวไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แก่ทางราชการไม่ กลับยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกคันเกิดเหตุดังกล่าวไปใช้ประกอบการขนส่งโดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปกระทำละเมิดอันต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำไปนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427, 820

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7149/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้ข้อมูลยาเสพติดต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ จึงจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงการให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ติดต่อผู้ที่จำหน่ายยาเสพติดให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าขายยาเสพติดให้ตนได้ คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5902/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลชั้นต้นประทับฟ้องมีผลเด็ดขาด ศาลอุทธรณ์ไม่อาจทบทวนข้อหาเดิมได้
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่อาจหยิบยกข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมีมูลแล้วขึ้นมาทบทวนได้อีก ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วกลับพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วยจึงมิชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของเจ้าของรถแท็กซี่และสหกรณ์จากการกระทำละเมิดของคนขับ
สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า "สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก" ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องไล่เบี้ยจากประกันภัยและการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นสองปีนับแต่วันวินาศภัย หมายความถึงว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย แต่ในกรณีของผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย กำหนดอายุความต้องเป็นไปตามสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงมีต่อบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี หาใช่ว่าจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ส. กับไล่เบี้ยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง และสิทธิเรียกร้องสำหรับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ให้ไว้แก่บริษัท ส. นายจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันพนักงาน โดยแนบสัญญาค้ำประกันพนักงานมาท้ายฟ้องด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันพนักงานข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมเรียกได้ว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและประสงค์จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะเป็นการต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้างขณะขับรถ แม้หลังเลิกงาน หากยังไม่ได้ส่งคืนรถ
ความหมายของคำว่า "ในทางการที่จ้าง" มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและ ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่า ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของ ว. นั้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4491/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทในการจอดรถกีดขวางการจราจรและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรทางบก ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบ
โจทก์ฟ้องว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่จอดรถไว้ในช่องเดินรถช่องทางด่วนซ้ายสุดโดยไม่เปิดไฟฉุกเฉิน ไม่แสดงเครื่องหมายจราจรหรือสัญญาณจราจรอื่นใดไว้บริเวณท้ายรถ ซึ่งตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่จะมองเห็นรถที่จอดในทางเดินรถได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ซึ่งจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภทลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบพยานหลักฐานใดที่จะแสดงให้เป็นไปตามข้ออ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ดังกล่าวแล้ว รวมทั้งไม่นำสืบหักล้างให้เห็นได้ว่า ย. กระทำผิดโดยมีส่วนประมาทด้วยเช่นไร กรณีจึงต้องรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมด จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น
of 6