คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 456

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,139 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายืนตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเรื่องกรรมสิทธิ์วิลล่า ย้ำศาลต้องไม่ก้าวก่ายดุลพินิจอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยสรุปได้ความว่า ข้อเสนอที่จะขายที่ดินพิพาทในราคาพิเศษให้ผู้คัดค้านนั้นไม่ถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 และไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 152 ทั้งประเด็นเรื่องสิทธิเหนือบ้านพักหรือวิลล่า 16 และความสมบูรณ์ของข้อตกลงพิพาทนั้นเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งไม่จำต้องจดทะเบียน กรณีจึงเป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านดังกล่าวมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่สามารถเรียกร้องและบังคับกันได้ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ส่วนการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนดอันจะมีผลใช้ยันบุคคลภายนอกนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ใช่ประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าสัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นโมฆะจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยเจตนาของผู้ร้องและผู้คัดค้านในขณะทำสัญญา อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและเป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลจะแทรกแซงโดยเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำชี้ขาดเฉพาะส่วนที่ผู้คัดค้านมีกรรมสิทธิ์เหนือวิลล่า 16 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในสัญญาซื้อขาย แม้การโอนกรรมสิทธิ์ถูกขัดขวางจากการกระทำของลูกจ้าง (จำเลยที่ 2) การปลอมเอกสารไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิด
โจทก์ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วมเนื่องจากจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จะขายจึงมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ย่อมถือว่าเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 จะยกเรื่องตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หาใช่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่
การกระทำของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกจำเลยร่วมในคดีแพ่ง: เหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและการรับผิดร่วมกันทางพาณิชย์
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันค้าขายพืชไร่โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "ท่าข้าว ก." สั่งซื้อข้าวโพดจากโจทก์แล้วไม่ชำระราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย แล้วจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับซื้อและจำหน่ายพืชไร่ใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า ท่าข้าว ก. ซึ่งจดทะเบียนพาณิชย์ในนามของจำเลยร่วมตามใบทะเบียนพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวโพดตามฟ้อง แต่เป็นบุคคลอื่นที่ซื้อข้าวโพดจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชำระค่าข้าวโพดให้แก่โจทก์นั้น กรณีจึงยังมีข้อโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการท่าข้าว ก. ที่แท้จริง แม้โจทก์ไม่อาจขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) (ก) แต่การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการ แต่จดทะเบียนพาณิชย์ในชื่อของจำเลยร่วมและยังมีบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามาซื้อข้าวโพดจากโจทก์ในท่าข้าว ก. อีก ตามคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีจึงเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็น และศาลย่อมมีอำนาจที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17393/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าเมื่อมีการยึดและขายทอดตลาดที่ดิน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน
การยึดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ย่อมครอบไปถึงดอกผลนิตินัยของที่ดินนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง ค่าเช่าที่ดินที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่า ถือเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินที่ถูกยึด ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในการเรียกค่าเช่าในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและต้องรับไปซึ่งภาระตามสัญญาเช่าที่ต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เช่าตามข้อสัญญาเช่นกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ
การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15379/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย: การชำระราคาเป็นเงื่อนไขสำคัญ และการนำสืบข้อตกลงเพิ่มเติม
ตามหนังสือสัญญาซื้อขายมีข้อความว่า โจทก์ขายบ้านพร้อมที่ดินและกิจการน้ำดื่มแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000,000 บาท และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน แม้หนังสือสัญญาซื้อขายจะระบุชื่อชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายอันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาความตกลงในสัญญาโดยเฉพาะสัญญาข้อ 5 ที่ระบุว่าผู้ซื้อต้องชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อให้แก่ผู้ขายให้ครบจำนวนภายในเวลา 1 ปี หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ เป็นที่เห็นได้ว่าการซื้อขายที่ดินยังไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์แก่กันได้ จำต้องอาศัยผลของการชำระเงินเป็นเงื่อนไข จึงแสดงถึงเจตนาของคู่สัญญาว่ามีเจตนาจะไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในภายหลังแม้โจทก์ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายแก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย หาใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
หนังสือสัญญาซื้อขายไม่ได้ระบุจำนวนเนื้อที่ดินที่ซื้อขาย การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยทั้งสองรวมที่ดินของ ว. และ ห. เนื้อที่ 3 งาน ซึ่งอยู่ในรั้วที่ดินที่โจทก์นำชี้ด้วย และโจทก์ไม่สามารถโอนที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ให้แก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงตกลงกันให้หักราคาที่ดินเนื้อที่ 3 งาน ซึ่งเป็นของ ว. และ ห. เป็นเงิน 300,000 บาท ออกจากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท ตามสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการนำสืบถึงข้อตกลงต่างหากจากสัญญาซื้อขายดังกล่าวว่าได้มีการตกลงในการชำระราคาที่ดินที่ซื้อขายกันอย่างไร มิได้เป็นการนำสืบหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขาย จำเลยย่อมนำสืบได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14921/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายเรือที่มีผลบังคับใช้ การออกเช็คชำระหนี้ที่สมบูรณ์ และความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค
สัญญาซื้อขายเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีใจความแสดงให้เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อตามสัญญามีความประสงค์ที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเรือซึ่งมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไปที่ซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินครบถ้วนแล้ว แม้โจทก์จะส่งมอบเรือทั้งสามลำที่ซื้อขายให้จำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเรือทั้งสามลำให้เสร็จเด็ดขาดต่อไป สัญญาซื้อขายเรือดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว ผู้ทำสัญญาไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือที่จะซื้อขายขณะทำสัญญาก็ได้ เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงกัน และเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ทั้งได้ความว่าโจทก์ได้ส่งมอบเรือทั้งสามลำที่จะซื้อขายพร้อมหนังสือมอบอำนาจในการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือทั้งสามลำให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญา แสดงว่าโจทก์สามารถดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในเรือทั้งสามลำที่จะซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ สัญญาซื้อขายเรือดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีผลใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7735/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ การส่งมอบสินค้าถือเป็นการชำระหนี้และมีสิทธิฟ้องร้องได้
ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม นอกจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้ว ยังได้บัญญัติอีกว่า "...หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..." ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อย โจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหรือมีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์: เอกสารสิทธิชี้ขาด การนำสืบแก้ข้อความในเอกสารต้องห้าม
การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก เป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง เมื่อหนังสือสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระบุว่า โจทก์ทั้งสองได้ชำระราคาและจำเลยทั้งสองได้รับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องฟังยุติตามนั้น การที่จำเลยทั้งสองนำพยานบุคคลมาสืบว่า ยังไม่ได้รับชำระค่าที่ดินครบถ้วน เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11883/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายหุ้นต้องปฏิบัติตามหลักการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ แม้การโอนหุ้นไม่ถูกต้องก็ไม่ทำให้การซื้อขายเป็นโมฆะ
การซื้อขายหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งซึ่งต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง เพียงกำหนดแบบของการโอนหุ้นที่มีหลักฐานการโอนที่แน่นอนเท่านั้น หาใช่แบบของการซื้อขายหุ้น ผู้ซื้อหุ้นที่มิได้โอนหุ้นให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวยังไม่อาจอ้างว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท และไม่อาจใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นตามที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้เท่านั้น หาทำให้การซื้อขายหุ้นตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังจดทะเบียน: สิทธิของเจ้าของเดิมสิ้นสุด แม้ยังไม่ชำระราคา
โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 21 แปลง ให้แก่ ป. เมื่อปี 2532 กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกไปเป็นของ ป. ผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 453 และมาตรา 456 แม้ ป. ผู้ซื้อยังไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์ผู้ขาย แต่การชำระราคามิใช่เงื่อนไขแห่งการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การชำระราคาอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเวลาโอนกรรมสิทธิ์ก็ย่อมทำได้ตามแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน ดังนั้น สัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ป. จึงมีผลสมบูรณ์เสร็จเด็ดขาด และที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. มิใช่เป็นที่ดินของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้ทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้
of 114