คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,443 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลยกคำร้องงดบังคับคดี ถือเป็นคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 ที่เป็นที่สุดแล้ว ไม่อุทธรณ์ได้
คำสั่งของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 ที่เป็นที่สุด มิได้หมายความเฉพาะคำสั่งที่เกิดจากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวอ้างในคำร้องขอให้งดการบังคับคดีเท่านั้น แต่รวมถึงคำสั่งที่เกิดจากการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ด้วย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยเห็นว่าจำเลยฟ้องโจทก์เป็นกรณีเดียวกันหาใช่ฟ้องเรื่องอื่นตามมาตรา 293 นั้น ถือได้ว่าเป็นการสั่งตามมาตรา 293 จึงเป็นที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีล้มละลาย และสิทธิเจ้าหนี้มีประกัน
ลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งตั้งแต่งวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอมได้นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2537 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 จึงพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้แล้ว ทั้งการที่เจ้าหนี้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี และลูกหนี้ที่ 1 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาลดยอดหนี้เพื่อขอไถ่ถอนจำนองนั้น ก็มิใช่เป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีหรือเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และ (5) ดังนั้น มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงขาดอายุความและถือเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94 (1)
เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 96 (3) แม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้ว เจ้าหนี้ก็ยังคงมีทรัพยสิทธิบังคับชำระหนี้จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในวงเงินจำนอง แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมและสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย
หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาตามยอมของศาลที่ถึงสุดแล้ว จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี และเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ประกอบมาตรา 193/12 เมื่อลูกหนี้ทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่งวดแรกวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาตามยอมได้นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2537 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 จึงพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ จึงขาดอายุความแล้ว
การที่ลูกหนี้ที่ 1 เคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายขอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาลดยอดหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ที่ 1 สามารถไถ่ถอนทรัพย์จำนอง เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยมีการยึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว มิใช่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง ทั้งมิใช่เป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และ (5) ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันในทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองไว้ในคดีแพ่ง และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) แล้ว แม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความเจ้าหนี้ก็ยังคงมีทรัพย์สิทธิบังคับชำระหนี้จากราคาทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ภายในวงเงินจำนอง แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพญ์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์/ฎีกา เนื่องจากศาลชั้นต้นยกฟ้อง และการนำสืบพยานบุคคลแทนการมีหลักฐานหนังสือ
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมถูกโต้แย้งสิทธิในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมนั้นเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การกู้ยืมเงินเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินแทนจำเลยร่วม ปัญหาเรื่องข้อห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในพยานเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินโจทก์
เนื้อหาของฎีกาส่วนที่เป็นสาระสำคัญในประเด็นว่าโจทก์ส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้เพียง 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่เกินว่ากฎหมายกำหนด และจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน ล้วนแต่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด โดยมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์ฎีกาจำเลยร่วม & หลักฐานการกู้ยืมเงิน-การตั้งตัวแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมแล้ว ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมถูกโต้แย้งสิทธิในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมนั้นเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินแทนจำเลยร่วม ปัญหาเรื่องข้อห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในพยานเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกวินิจฉัยได้เองตามมาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ: การไม่คัดค้านและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปทำให้เสียสิทธิ
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 ว่า คดีของโจทก์เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง จึงเพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นรับฟ้อง และให้ส่งสำนวนไปยังศาลภาษีอากรกลางโดยเร็ว ศาลภาษีอากรกลางส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ต่อมาประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางจึงส่งสำนวนคืนยังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยจึงมายื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่อ้างว่าการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาโดยมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ได้สั่งไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2540 เป็นการไม่ชอบกรณีเป็นการร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาทั้งในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา โดยมิได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง อีกทั้งจำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาหลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบนั้น จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1499/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันแจ้งตกหล่น การแก้ไขคำขอรับชำระหนี้ที่เกินกำหนดเวลา มีผลผูกพันตามกฎหมายล้มละลาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า เหตุที่ผู้คัดค้านมิได้ระบุหลักประกันเหนือที่ดินของลูกหนี้ในคำขอรับชำระหนี้ที่ผู้คัดค้านได้ยื่นไว้ด้วยเนื่องจากพลั้งเผลอ และขออนุญาตเพิ่มเติมหลักประกันในคำขอรับชำระหนี้ มิใช่เรื่องการเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในคำขอรับชำระหนี้ แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันด้วยต้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าการละเว้นนั้นมิได้เกิดจากการพลั้งเผลอ คดีถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ พ.ศ.2522 มาตรา 14 และมีผลให้ผู้คัดค้านจะต้องคืนหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องและสิทธิเหนือทรัพย์นั้นเป็นอันระงับตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 97 ผู้คัดค้านย่อมไม่อาจยกข้อกล่าวอ้างหรือนำสืบในภายหลังอันเกี่ยวกับประเด็นกันนั้นอีกได้ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ผู้คัดค้านคืนหลักประกันและเพิกถอนรายการจดทะเบียนจำนองหลักประกันว่า ผู้คัดค้านมิได้ปกปิดหลักประกันก็ดี ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเนื่องจากความพลั้งเผลอก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำร้องของผู้คัดค้านมาแล้ว จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายฯ พ.ศ.2542 มาตรา 14 อีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1482/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขสัญญาประนีประนอมตามยอมได้หากเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ไม่กระทบคำพิพากษาเดิม
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จึงอยู่ในบังคับที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในสัญญาดังกล่าวได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143
คำฟ้องของโจทก์บรรยายเกี่ยวกับเลขที่อาคารที่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดคลาดเคลื่อน เป็นเพียงข้อผิดพลาดเล็กน้อย แม้โจทก์จะมิได้ขอแก้ไขคำฟ้อง และโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระบุเลขที่อาคารคลาดเคลื่อนไปด้วย ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ เมื่อมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์มีสิทธิขอแก้ไขข้อผิดพลาดได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตา 143 และมิใช่เป็นเรื่องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาประนีประนอมยอมความให้นอกเหนือไปจากที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกัน ทั้งมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำพิพากษาตามยอมเดิม ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 143 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389-1393/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน: สิทธิเรียกร้องเงินฝากและเงินปันผลต้องรอการชำระบัญชี
การร่วมกันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อกู้ของโจทก์ทั้งห้าสิบสอง จำเลยทั้งห้ากับราษฎรในท้องที่เป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 มาตรา 1025 และมาตรา 1026 เมื่อโจทก์ทั้งห้าสิบสองอ้างว่าไม่ได้รับเงินฝากสะสมและเงินปันผลที่ครบกำหนดจ่ายและสมาชิกบางคนได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติผิดสัญญาหุ้นส่วนในสาระสำคัญจนไม่อาจดำรงการเป็นหุ้นส่วนต่อไปได้ กับเป็นเหตุที่จะเลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (1) มาตรา 1061 และมาตรา 1062 แต่การที่โจทก์ทั้งห้าสิบสองฟ้องเรียกเอาเงินฝากสะสมและเงินปันผล อันมีลักษณะเป็นการคืนทุนโดยยังมิได้มีการชำระบัญชีหรือข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนด้วยวิธีอื่นระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าสิบสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้จำเลยทั้งห้ามิได้ให้การต่อสู้และไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1353/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินต่อศาลเพื่อฟ้องคดีแรงงาน: เงื่อนไขและผลของการไม่ปฏิบัติตาม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยมาตรา 125 วรรคสาม กำหนดให้นายจ้างที่นำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงจะฟ้องคดีได้ เงินดังกล่าวเป็นเงินที่นายจ้างต้องวางต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 193/2548 อันเป็นคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แล้วเป็นฝ่ายนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โจทก์จักต้องนำเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาลจึงจะฟ้องคดีได้ เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลภายในสิบห้าวันโจทก์ไม่ปฏิบัติตามแล้วอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันแล้วศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์ไม่วางเงินภายในกำหนดจึงไม่รับฟ้องของโจทก์แล้วให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้โจทก์วางเงินต่อศาลและเมื่อโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลจึงสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้ว
เมื่อโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลแรงงานกลางภายในกำหนดศาลแรงงานกลางจึงไม่รับฟ้องของโจทก์ เช่นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
of 245