คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,443 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11028/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในหนี้ภาษีของเจ้าของใหม่หลังโอนทรัพย์สิน และอำนาจฟ้องคดีภาษีที่ต้องชำระภาษีให้ครบก่อน
ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ถ้าค่าภาษีค้างอยู่และยังมิได้ชำระขณะเมื่อทรัพย์สินได้โอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของเจ้าของใหม่โดยเหตุใดๆ ก็ตาม เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีนั้นร่วมกัน" เมื่อบริษัท บ. เจ้าของโรงเรือนพิพาทคนเก่าผู้รับประเมินเป็นหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและยังมิได้ชำระ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จึงเป็นเจ้าของคนใหม่ ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีร่วมกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง โดยประการสำคัญก็เพื่อให้จำเลยยกเลิกการเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามนัยมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลา เช่นว่านั้น คดีโจทก์เป็นเรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์เป็นเจ้าของคนใหม่ ย่อมอยู่ในฐานะเดียวกับเจ้าของคนเก่าผู้รับประเมิน โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้อง เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10454/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำโดยตัวแทนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากทายาททุกคน ไม่ผูกพันทายาทที่ไม่ได้ให้ความยินยอม
การที่ ส. นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง 4 คดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งหมดเข้าด้วยกัน แม้ ส. แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า กระทำในฐานะทายาทเจ้ามรดก และกระทำแทนทายาทอื่นของเจ้ามรดกในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือว่า ส. ได้รับแต่งตั้งจากทายาทอื่นและโจทก์ให้เป็นผู้กระทำการแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 สัญญาประนีประนอมยอมความที่ ส. ทำกับจำเลยซึ่งมีการตกลงแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกรวมทั้งที่ดินพิพาทจึงไม่ผูกพันโจทก์ แม้การตกลงระหว่างบุคคลทั้งสองจะมีข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 และโจทก์เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์ในฐานะทายาทของเจ้ามรดกใช้สิทธิฟ้องเรียกคืนทรัพย์มรดกจากผู้ที่ได้รับไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10260/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การหักลบค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัย
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 กำหนดให้ค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 25 วรรคสอง และเมื่อบริษัทรับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด มาตรา 31 บัญญัติว่าย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากบุคคลภายนอกหรือจากเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถ หรือผู้ประสบภัย หากเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลดังกล่าว แม้มาตรา 22 จะไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตาม ป.พ.พ. แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นการให้สิทธิโจทก์ในอันจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลที่รับไปแล้วได้อีก จึงต้องนำเงินที่โจทก์ได้รับมาแล้วตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหักออกจากค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปจริงด้วย
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฟ้องโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่ง และพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท แต่มิได้สั่งให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมศาลในนามของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 ศาลฎีกาจึงสั่งใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10195/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต้องยื่นภายในกำหนด หากพ้นกำหนดแล้ว แม้จะมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ก็ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้
เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่จะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ต่อเมื่อมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม แต่ต้องยื่นคำขอต่อผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 มาตรา 91 และมาตรา 94 หนี้ค่าปรับที่ผู้ร้องนำมาขอรับชำระหนี้ศาลมีคำสั่งปรับลูกหนี้ที่ 3 นายประกันตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2548 และวันที่ 14 มีนาคม 2549 ภายหลังจาก พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 เพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคสอง กำหนดให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันนานพอสมควรแล้ว ผู้ร้องซึ่งรับโอนอำนาจการบังคับคดีแก่นายประกันย่อมสามารถดำเนินการวางระบบงานเพื่อตรวจสอบว่านายประกันสำนวนคดีใดบ้างผิดสัญญาประกันและเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ของตน และเพื่อทราบว่าลูกหนี้ใดศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ จะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
การที่ผู้ร้องอ้างว่าศาลแขวงนครราชสีมามีบุคลากรผู้รับผิดชอบในการบังคับคดีแก่นายประกันไม่เพียงพอกับปริมาณงาน และเพื่อมิให้หน่วยงานของรัฐต้องสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ กรณียังไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือกฎหมายให้อำนาจที่จะขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ออกไปได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าปรับตามสัญญาประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9982/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินวางประกันคดีล้มละลาย แม้ศาลมิได้แจ้ง และพ้นเวลา 5 ปี เหตุเงินมิได้ค้างจ่าย
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินวางประกันค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือคืนจากศาลนั้น เป็นกรณีของการขอเงินค้างจ่ายคืนจากศาลซึ่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 323 บัญญัติว่า บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ปรากฏว่าศาลมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีเงินวางประกันค่าใช้จ่ายคงเหลืออยู่ที่ศาลและโจทก์มีสิทธิรับเงินดังกล่าว เงินดังกล่าวจึงมิใช่เงินค้างจ่ายซึ่งจะตกเป็นของแผ่นดินตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์เพิ่งทราบว่ามีเงินคงเหลือและมีสิทธิรับเงินดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงได้ยื่นคำขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาล กรณีจึงยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิรับเงินคงเหลือคืนได้ เงินดังกล่าวนั้นย่อมไม่ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7082-7083/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ต้องขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย แม้มีข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ การสอบสวนหนี้สินไม่ทำให้เสียเปรียบ
เมื่อลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ต้องการได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 กล่าวคือจะต้องขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กล่าวไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้และยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 บัญญัติให้ผู้คัดค้านมีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินต่อศาล ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวและในการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้นั้น บทบาทของผู้คัดค้านมิได้อยู่ในสถานะเป็นตัวลูกหนี้ แต่เป็นเพียงคนกลางในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานหาข้อเท็จจริงในเรื่องหนี้ทั้งจากฝ่ายของเจ้าหนี้และลูกหนี้ แล้วทำความเห็นเสนอศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อไป ดังนั้น ลำพังการสอบสวนและความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังไม่มีผลผูกพันเจ้าหนี้ ส่วนการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 12 จะบัญญัติว่า "ความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการย่อมไม่เสียไปแม้ในภายหลังคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือสิ้นสุดสภาพความเป็นนิติบุคคล ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ" บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทยกเว้นหลักการในการขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย แต่เป็นบทบัญญัติถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการว่าไม่เสียไปแม้ภายหลังคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น ผู้คัดค้านจึงยังคงมีหน้าที่ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ขณะเดียวกันคณะอนุญาโตตุลาการก็ยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้และการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านเป็นคนละส่วนกับการดำเนินการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ที่ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการโดยด่วน การสอบสวนของผู้คัดค้านจึงไม่ทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ หรือมีผลกับการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใดไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องงดสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเพื่อรอผลการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7051/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีประกันภัย: การตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจและชื่อจำเลย
คดีนี้จำเลยให้การว่า ที่โจทก์มอบอำนาจให้ ก. หรือ ส. หรือ พ. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 50 และหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 16 มกราคม 51 ปรากฏว่าลายมือชื่อของ ส. ในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับมีลักษณะช่องไฟและตัวอักษรต่างกัน ไม่น่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การจำเลยมุ่งเน้นให้การต่อสู้ลายมือชื่อของ ส. ส่วนที่จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิใช่ลายมือชื่อโจทก์ เป็นการปฏิเสธลอย ๆ ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่เป็นประเด็นให้ศาลต้องวินิจฉัยว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อกรรมการโจทก์หรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่ายังฟังไม่ได้ว่า ส. และ อ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ในขณะฟ้องคดี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ส่วนที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีขับรถยนต์กระบะชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยให้การรับว่าเป็นคู่กรณีจริง การที่หนังสือมอบอำนาจ ระบุชื่อสกุล จำเลย ผิดพลาดเป็นคำว่ามั่นประเสริฐ ที่ถูกต้องคือ มั่นประสิทธิ์ จึงเป็นการพิมพ์ผิดพลาด มิใช่กรณีฟ้องผิดคน ถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยโดยชอบ แม้ว่าภายหลังโจทก์จะยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ ระบุชื่อ และชื่อสกุลจำเลยโดยถูกต้อง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง ก็ไม่มีผลให้การมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6718/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาและการคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้มีประกันจากการบังคับคดี
หนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1958/2539 ของศาลแพ่งที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 และเป็นคดีที่ลูกหนี้ (จำเลย) อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เนื่องจากลูกหนี้ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 (เดิม) คดีย่อมถึงที่สุดเมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้สิ้นสุดลง ทั้งนี้ เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง
พนักงานเดินหมายนำคำบังคับไปส่งให้แก่ลูกหนี้โดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2539 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น การส่งคำบังคับมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง คำบังคับที่ส่งให้แก่ลูกหนี้จึงมีผลในวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ลูกหนี้อาจยื่นคำขอ ให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่การส่งคำบังคับมีผล
กำหนดระยะเวลา 6 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก ตอนท้าย (เดิม) จะนำมาใช้บังคับก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันเป็นผลให้ลูกหนี้ไม่อาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันซึ่งตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ไม่ได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ทราบคำบังคับหลังจากล่วงพ้นกำหนดไปแล้ว 15 วัน นับแต่วันที่การส่งคำบังคับมีผล ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 คดีจึงถึงที่สุดนับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว
หนี้ของเจ้าหนี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด มีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 และยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 พ้นกำหนดอายุความสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 1958/2539 เจ้าหนี้เดิมได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ ห้องชุดเลขที่ 722/74 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 และต่อมาเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องและหลักประกันดังกล่าวมาจากเจ้าหนี้เดิม เช่นนี้ สิทธิของเจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนในจำนวนเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการดำเนินการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ในกรณีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีกสำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายซ้ำ: ศาลยกฟ้องเมื่อเหตุผลและหลักฐานเหมือนคดีก่อน
คดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลางกับคดีนี้โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มาฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ แม้เหตุในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แต่โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นเหตุให้ศาลล้มละลายกลางรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีนี้ โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แต่การที่โจทก์เพิ่งไปดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพื่อแสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5) นั้น เป็นเหตุเดียวกับที่โจทก์เคยกล่าวอ้างและนำสืบให้รับฟังไม่ได้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 กรณีเป็นเพียงการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ในคดีก่อนด้วยการนำเสนอพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้เท่านั้น มิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในสาระสำคัญ ส่วนที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ด้วยวิธีส่งไปรษณีย์และประกาศ หนังสือพิมพ์แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เป็นการดำเนินการภายหลังจากในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก็เพื่อให้โจทก์สามารถกล่าวอ้างและนำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ในคดีนี้ ทั้งที่โจทก์สามารถดำเนินการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันได้ตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 แต่โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติ ดังนั้น เหตุที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบดังกล่าวในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ควรกระทำได้อยู่แล้วในคดีก่อนมิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับเหตุในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6120/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวน การครอบครองต้องแสดงเจตนาหวงแหน มิใช่อาศัยเอกสาร
แม้โจทก์จะซื้อที่ดินซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยจาก ฉ. และโจทก์เข้าทำประโยชน์ด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสและต้นไผ่ในที่ดินที่ซื้อมา แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าช่องเม็ก การเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งหากโจทก์จะมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นก็ต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งการครอบครอง มิใช่อาศัยสิทธิตามเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 11) เพราะโจทก์จะมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นตลอดเวลาที่ครอบครองอยู่เท่านั้น ถ้าการครอบครองสิ้นไปไม่ว่าด้วยเหตุใด สิทธิดีกว่าผู้อื่นก็ยุติไปด้วย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าหลังจากโจทก์เข้าทำประโยชน์ด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสและต้นไผ่ในที่ดินแล้ว โจทก์ได้ดูแลหวงกันหรือแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์อย่างไร ทั้งได้ความด้วยว่า ที่ดินพิพาทอยู่หลังสถานีตำรวจภูธรช่องเม็ก ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนได้ หากโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ย่อมหวงกันมิให้ผู้อื่นเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ได้โดยง่าย การที่จำเลยนำสืบว่า เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสและทำแปลงผักสวนครัวโดยมีหลักฐานตามภาพถ่ายเป็นพยาน แสดงว่า จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจริง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
of 245