คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 25 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 38 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาไม่สมบูรณ์-ศาลแพ่งเกินอำนาจ: การพิจารณาคดีอาญา-แพ่งที่เกี่ยวข้องกัน
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว ลำพังเพียงการที่จำเลยแจ้งโจทก์ว่าไม่มีรางวัลของจำเลยตามใบรับรองการถูกรางวัลและไม่มีหลักฐานการดำเนินการทางกฎหมายของจำเลยแก่บริษัทต่างประเทศชื่อ E ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินรางวัล ก็ยังไม่อาจสรุปข้อเท็จจริงจากคำบรรยายฟ้องได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ใด ๆ อันแสดงถึงการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการออกใบรับรองการถูกรางวัลที่บริษัท E ส่งมาให้แก่โจทก์อย่างไร และการกระทำของจำเลยประการใดที่ทำให้จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากโจทก์ หรือทำให้โจทก์ต้องทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธินั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณีศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่รับฟ้องคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาหรือพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา การพิจารณาว่าศาลนั้นมีอำนาจรับฟ้องคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 2 (1) ว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา และโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินรางวัล 18,117,213.87 บาท พร้อมดอกเบี้ย 90,586.06 บาท ซึ่งเกินกว่าอำนาจที่ผู้พิพากษาคนเดียวจะพิจารณาพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท เท่ากับเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีในทางเนื้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคท้าย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) และทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ไม่ชอบไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: ทุนทรัพย์เกิน 3 แสนบาท ทำให้ศาลต้องไม่รับฟ้อง
เขตอำนาจของศาลแขวงในส่วนคดีแพ่งมีบัญญัติไว้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ว่ามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท รวมทั้งเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดถึงวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ จำนวนเงินที่ฟ้องอันถือเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องในศาลชั้นต้นย่อมต้องรวมถึงดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแล้วคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องมาเกินกว่าสามแสนบาท จึงเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวซึ่งศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีจึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องคดีนี้ เป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสองถูกลบล้างไป อันเป็นการสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลและค่าธรรมเนียมใช้แทนแก่โจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187-4189/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงคดีแพ่ง: มูลค่าทรัพย์สินเกิน 3 แสนบาท ศาลไม่มีอำนาจพิจารณา
ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) โดยต้องถือตามจำนวนทุนทรัพย์ในวันที่ยื่นฟ้อง
โจทก์ที่ 2 และที่ 5 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และโจทก์ที่ 4 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดเป็นเงิน 295,707.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงต้องนำดอกเบี้ยซึ่งคิดคำนวณนับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 4 สิงหาคม 2558 มารวมเป็นจำนวนเงินที่ฟ้องด้วย คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินกว่าสามแสนบาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงย่อมไม่มีอำนาจรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้องคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลพิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการคิดดอกเบี้ยค่าเสียหาย
แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่งหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้
จำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินโดยไม่ให้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลสั่งไม่รับฟ้องคดีเกินอำนาจศาลแขวง หลังประเมินราคาทรัพย์สินใหม่พบทุนทรัพย์สูงกว่าเกณฑ์
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลชั้นต้นดำเนินการประเมินราคาสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทและอาคารซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวตามคำสั่งศาลฎีกาว่า สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมีมูลค่า 1,218,982.33 บาท ส่วนอาคารซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว หักค่าเสื่อมราคาแล้วมีมูลค่า 204,624 บาท โดยคู่ความมิได้คัดค้านราคาประเมินดังกล่าว คดีนี้จึงมีทุนทรัพย์ที่ฟ้องเกินกว่า 300,000 บาท อันทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้อง ดังนั้นการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องจนถึงคดีเสร็จการพิจารณาและพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ อีกทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ตามมาก็ไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) เห็นสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นรับฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาทเกินอำนาจศาลแขวง: คำขอบังคับโอนกรรมสิทธิ์บ้านรวมราคาสูงกว่า 300,000 บาท
แม้คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่ามีทุนทรัพย์พิพาทกันเพียง 300,000 บาท ก็ตาม แต่คำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้กับค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ต่อศาล คำขอบังคับส่วนนี้มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายรวมราคาซื้อขายไว้เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองชนะคดีโจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3988/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาไม่ครบถ้วนส่งผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนพิจารณาคดี
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย ส่วนที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีมิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาให้ครบองค์คณะ ซึ่งเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) นั้น ก็มีผลเพียงให้คำพิพากษาและกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นภายหลังไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หามีผลให้ต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาก่อนมีคำพิพากษาด้วยไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลย แต่กลับให้เพิกถอนกระบวนพิจารณา โดยให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การสืบพยานโจทก์เป็นต้นมาจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13349/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: คดีเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท แม้มีคำขอต่อเนื่องอื่น
การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองในที่ดินพิพาทที่อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกโดยมีคำขอบังคับท้ายฟ้องเน้นให้เพิกถอนและให้โอนคืนตามลำดับก็เพื่อเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทของ ป. ผู้ตาย รวมทั้งประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามด้วย คดีของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาทจำนวน 233,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสุพรรณบุรี แม้โจทก์จะมีคำขอให้กำจัดจำเลยที่ 1 ไม่ให้รับมรดกของ ป. ซึ่งเป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์มาด้วย ก็เป็นคำขอต่อเนื่องลำดับที่รองลงไป เมื่อศาลแขวงสุพรรณบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอหลักดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขออื่นที่รองลงไปนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9164/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงในคดีแพ่งที่เกินทุนทรัพย์ และค่าสินไหมทดแทนจากเหตุละเมิดทางรถยนต์
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและประสงค์จะดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนมีสิทธิดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นทุนทรัพย์เพียงใด ดังนี้แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงและโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งทุนทรัพย์ที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลแขวงก็ตาม ศาลแขวงก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งของผู้เสียหายที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา แม้เกินอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายทดแทนแก่ตนก็ได้" การที่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยและต้องไปดำเนินคดีในส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน ดำเนินคดีในส่วนแพ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องกันไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีในส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว ดังเช่นกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย กรณีจึงไม่ต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย และผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้
of 4