คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีระวัฒน์ ปวราจารย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 338 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6174/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเมื่อไม่ได้คัดค้านข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และการลงโทษตามบทกฎหมายที่ถูกต้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ฎีกาต้องมีข้อความคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าการที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงหรือไม่รับฟังข้อเท็จจริงข้อใดนั้นชอบหรือไม่ชอบเพราะเหตุใด ควรรับฟังข้อเท็จจริงอย่างไร เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายทั้งสอง ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายทั้งสองมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6042/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตกทอดสิทธิเช่าซื้อที่ดินหลังผู้เช่าซื้อเสียชีวิต ตามระเบียบปฏิรูปที่ดินฯ สิทธิตกแก่คู่สมรสก่อน
ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรมในระหว่างที่เช่าซื้อ... ที่ดินที่เช่าซื้อจะต้องตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งมาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม... ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" แต่ไม่ปรากฏว่ามีการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายมาตราดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ก็มีระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 วรรคหก ของพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ได้บัญญัติว่าเมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เมื่อระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวใช้บังคับอยู่ก่อนที่ ฉ. ถึงแก่กรรม จึงต้องนำระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวมาใช้กับที่ดินที่ ฉ. เช่าซื้อตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 การสืบสิทธิการเช่าซื้อที่ดินของ ฉ. จึงต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าว ดังนั้นสิทธิการเช่าซื้อของ ฉ. จึงตกทอดทางมรดกแก่คู่สมรสเป็นอันดับแรกก็คือโจทก์นั่นเองตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 หมวด 2 การตกทอดทางมรดกของสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อข้อ 11 ที่กำหนดว่า "เมื่อเกษตรกรถึงแก่กรรมให้สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อตกทอดแก่คู่สมรสเป็นอันดับแรก" ดังนั้นมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่วินิจฉัยให้แบ่งสิทธิการเช่าซื้อของ ฉ. จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการแบ่งสิทธิการเช่าซื้อของ ฉ. แก่โจทก์ทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5772/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำโดยบันดาลโทสะต้องมีเหตุข่มเหงร้ายแรง การเสียดสีไม่ถือเป็นเหตุ
ผู้เสียหายพูดกับจำเลยทำนองว่าจำเลยไม่สามารถซื้อรถจักรยานยนต์ได้เช่นเดียวกับผู้เสียหาย เป็นการพูดทำนองเสียดสีจำเลย ตามประสาของผู้ที่เคยมีสาเหตุกันมาก่อน แม้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอยู่บ้าง แต่ไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยมีความโกรธแค้นและทำร้ายผู้เสียหายจึงอ้างว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมายไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5336/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีออกจากสารบบความหลังโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ และสิทธิในการขอให้ศาลมีคำพิพากษาโดยขาดนัด
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 เจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้โจทก์แก้คดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับหมาย ณ บ้านของโจทก์โดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาลโดยชอบแล้ว โจทก์ต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2544 แต่โจทก์มิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าวถือว่าโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 และผู้ร้องต้องมีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้โจทก์ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด โดยนับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2544 ครบกำหนดสิบห้าวันคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 เมื่อผู้ร้องไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องเสียจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดฐานพยายามฆ่าในคดีชุลมุนต่อสู้ ศาลฎีกาไม่รับฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริงที่โต้แย้งดุลพินิจศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันเป็นอันตรายสาหัส
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5019/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและเลือกตั้งใหม่จากกรณีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมมิได้มีผลเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดผู้หนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากความปรากฏต่อผู้ร้องว่ามีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยผู้ร้องเห็นเองหรือมีการยื่นคำร้องคัดค้านต่อผู้ร้องก็ตาม ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมย่อมมีอำนาจดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 236 (5) และตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน สอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2550 ได้ การถอนคำร้องเรื่องคัดค้านของผู้คัดค้านการเลือกตั้งจึงมิใช่เงื่อนไขเด็ดขาดให้ผู้ร้องต้องใช้ดุลพินิจอนุญาตเสมอไป การที่ผู้ร้องไม่อนุญาตให้ ว. ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งและยังคงดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ ว. แต่อย่างใด และไม่ใช่กรณีขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2550 ข้อ 59 เป็นเพียงการกำหนดขั้นตอนเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณากลั่นกรองตามลำดับชั้นว่าสำนวนการสืบสวนสอบสวนมีความสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ หากยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนก็อาจสั่งให้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม หากสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วก็เสนอสำนวนการสืบสวนสอบสวนพร้อมทำความเห็นให้ผู้ร้องได้พิจารณาต่อไป แม้ไม่มีการเสนอสำนวนการสืบสวนสอบสวนพร้อมความเห็นของผู้เกี่ยวข้องตามลำดับชั้น ก็ไม่มีผลทำให้สำนวนการสืบสวนสอบสวนที่คณะกรรมการสืบสวนดำเนินมาทั้งหมดต้องเสียไป หรือทำให้ข้อเท็จจริงในสำนวนการสืบสวนสอบสวนเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งซึ่งเป็นอำนาจของผู้ร้องแต่อย่างใด ในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องดังกล่าวผู้ร้องจะรับฟังพยานหลักฐานในส่วนไหนอย่างไรเป็นดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งเป็นอำนาจของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ร้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือฝ่าฝืนต่อพยานหลักฐานในสำนวน จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ไม่ถูกต้องหรือไม่เที่ยงธรรมแต่อย่างใด
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 8 วรรคสอง บังคับให้กรรมการการเลือกตั้งที่เข้าร่วมประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติทุกคน จะงดออกเสียงหรือไม่ยอมลงมติหาได้ไม่ และในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งกฎหมายมิได้บังคับว่าหากมีการเสนอสำนวนการสืบสวนสอบสวนให้ผู้ร้องพิจารณาแล้ว กรรมการการเลือกตั้งจะต้องลงความเห็นหรือมีมติแต่เพียงว่าต้องยกคำร้องหรือให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น จะลงมติหรือมีความเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้น หากกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสำนวนการสืบสวนสอบสวนที่เสนอมาให้พิจารณายังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน จำเป็นต้องสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมในบางเรื่องบางประเด็นกรรมการการเลือกตั้งก็ย่อมลงความเห็นให้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมได้ มติของผู้ร้องครั้งที่ 2/2551 จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53 บัญญัติห้ามมิให้กระทำการต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และบุคคลที่กฎหมายห้ามมีทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ที่มิใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความแต่เพียงว่าผู้นั้นได้กระทำการอันฝ่าฝืนที่กฎหมายกำหนดในขณะที่ตนเองมีฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้วเท่านั้น แม้ในขณะที่กระทำการดังกล่าวผู้ร้องยังมิได้มีการประกาศสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการประกาศสมัครรับเลือกตั้งแล้ว แต่ผู้นั้นยังมิได้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม หากการที่กระทำไปได้กระทำภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและต่อมาผู้นั้นได้สมัครรับเลือกตั้งก็ถือได้ว่าการที่กระทำไปก่อนหน้านี้ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมในที่สุดแล้วก็เป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั่นเอง นอกจากนี้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามเฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนก็ถูกห้ามด้วย เพราะการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามหากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใดผู้หนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้วก็ย่อมมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาก่อนที่จะมีการประกาศสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 1 พรรค พ. การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงถือว่าเป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งอันต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาแล้ว แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุนให้ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการดังกล่าวก็ตาม แต่การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวย่อมเป็นการเอื้อเพื่อประโยชน์ให้แก่พรรค พ. และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรค พ. โดยตรงอันมีผลทำให้การเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และแม้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 มากกว่าผู้สมัครพรรคการเมืองคู่แข่งถึง 13,469 คะแนนก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเสียแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่อาจถือเอาคะแนนเสียงที่ได้รับมาเป็นข้ออ้างเพื่อมิให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4911/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทและคุณสมบัติการเป็นผู้เสียหาย: การพิสูจน์การเช่าและการประกอบกิจการ
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ร่วมเช่าที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมและไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4723/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์จากการกสิกรรมของผู้มีอาชีพกสิกรรม การพิสูจน์เจตนาและความหมายของ 'อาชีพ'
คำว่า "อาชีพ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า งานที่ทำเป็นประจำเพื่อเลี้ยงชีพ ดังนั้น ผู้มีอาชีพกสิกรรม จึงมีความหมายถึง ผู้ที่ประกอบอาชีพกสิกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ แม้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีอาชีพค้าขายด้วย แต่ผู้เสียหายทำนาถึง 10 ไร่ ดังนี้ ไม่ว่าผู้เสียหายจะทำนาด้วยตนเองหรือว่าจ้างผู้อื่นทำนา ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายทำนาเพื่อเลี้ยงชีพด้วย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิ่งราวทรัพย์: การแย่งทรัพย์ขณะทำร้ายร่างกายและการขว้างทิ้งภายหลังไม่ทำให้ความผิดเปลี่ยนฐาน
การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของโจทก์ร่วมไปในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 วิ่งอ้อมไปทางด้านหลังและขว้างสร้อยคอและพระดังกล่าวทิ้งที่พงหญ้ามีน้ำขังห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากโจทก์ร่วมแล้ว และมีลักษณะเป็นการฉกฉวยซึ่งหน้าโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ การที่จำเลยที่ 1 ขว้างทรัพย์ทิ้งหลังจากวิ่งไปแล้ว 20 เมตร เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไปได้
ป.อ. มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและ ป.วิ.อ. มาตรา 158 ก็มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่างเวลากัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4137/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยอุทธรณ์ฐานโกงเจ้าหนี้: ปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง
อุทธรณ์โจทก์ที่ว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตายโอนที่ดินของผู้ตายเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 แต่เพิ่งโอนที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลยในฐานะส่วนตัวเมื่อ วันที่ 14 พฤษภาคม 2544 เนื่องจากจำเลยทราบว่า ศาลจังหวัดนครปฐมมีคำพิพากษาแล้ว และจำเลยสามารถนำที่ดินของผู้ตายไปวางเป็นหลักประกันต่อศาลในการขอทุเลาการบังคับคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดได้ แต่จำเลยกลับขอขยายระยะเวลาในการวางหลักประกันออกไป เมื่อศาลไม่อนุญาต จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งและนำที่ดินของบุคคลอื่นไปวางเป็นหลักประกันต่อศาลแทน แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนโดยรู้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้วนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยปรับข้อเท็จจริงที่รับฟังได้แล้วนั้นว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
of 34