คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 33 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425-3426/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่อาจเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด
คำให้การของผู้คัดค้านในคดีแพ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องก่อนเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นเพียงการอ้างว่าสัญญาต่าง ๆ ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำฟ้องล้วนมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้น โดยไม่มีข้อความแสดงถึงการยอมรับว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านผูกพันกันในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแต่อย่างใด คำให้การดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านยอมรับว่าข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องต้องระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ยังไม่ถือว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 วรรคสอง
แม้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ก็ตาม แต่ในเรื่องขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ ความมีอยู่ ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงปัญหาว่าสัญญาดังกล่าวผูกพันผู้ร้องหรือไม่นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้ถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 44
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแล้ว คู่สัญญาไม่ได้ตกลงว่าจะชำระหนี้ใดแก่ผู้ร้อง ข้อสัญญาที่ผู้ร้องอ้างถึง มีลักษณะเป็นการประมาณรายรับจากการลงทุนที่ตกลงกันระหว่างคู่สัญญาหรือผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายของผู้ร้อง ทั้งยังไม่อาจถือเป็นหนี้ที่แน่นอน โดยผู้ร้องมีลักษณะเป็นเพียงตัวแทนของคู่สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ แทนคู่สัญญา ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก และผู้ร้องก็ไม่มีฐานะเป็นคู่สัญญาหรือบุคคลอันจะมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องมิใช่คู่สัญญาดังกล่าว ผู้ร้องย่อมไม่อาจอาศัยข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าวเพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดในคดีนี้ย่อมจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายืนตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเรื่องกรรมสิทธิ์วิลล่า ย้ำศาลต้องไม่ก้าวก่ายดุลพินิจอนุญาโตตุลาการ
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยสรุปได้ความว่า ข้อเสนอที่จะขายที่ดินพิพาทในราคาพิเศษให้ผู้คัดค้านนั้นไม่ถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 และไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 152 ทั้งประเด็นเรื่องสิทธิเหนือบ้านพักหรือวิลล่า 16 และความสมบูรณ์ของข้อตกลงพิพาทนั้นเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งไม่จำต้องจดทะเบียน กรณีจึงเป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านดังกล่าวมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่สามารถเรียกร้องและบังคับกันได้ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ส่วนการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนดอันจะมีผลใช้ยันบุคคลภายนอกนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ใช่ประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าสัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นโมฆะจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยเจตนาของผู้ร้องและผู้คัดค้านในขณะทำสัญญา อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและเป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลจะแทรกแซงโดยเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำชี้ขาดเฉพาะส่วนที่ผู้คัดค้านมีกรรมสิทธิ์เหนือวิลล่า 16 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4904/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย/ศีลธรรม และการคืนค่าขึ้นศาล
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้คัดค้านเต็มตามวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ แต่ยังสงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนอีก ย่อมมีผลให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย อันเป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 877 วรรคท้าย ที่ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนซึ่งเอาประกันไว้ และ ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ที่ไม่ให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญา ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายอันทำให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยถือเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
คดีนี้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นหลังจากรับคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และขอให้บังคับตามคำชี้ขาดโดยในตอนท้ายคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้ร้องจ่ายค่าขาเทียมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้านอย่างเดียว โดยยังไม่มีคำสั่งคำร้องของผู้คัดค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อย่างไรก็ตามเมื่อคำชี้ขาดที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนกับคำชี้ขาดที่ผู้คัดค้านขอให้บังคับตามนั้นเป็นคำชี้ขาดฉบับเดียวกันซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างได้นำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายตนจนเสร็จสิ้นแล้วไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว และตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านก็มิได้กล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าว คงอุทธรณ์เพียงขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องและบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดในส่วนค่าสินไหมทดแทนในการจัดทำขาเทียมเท่านั้น ทั้งประเด็นที่สำคัญที่ได้โต้แย้งกันในคดีนี้ก็มีเพียงว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนที่สงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีขาเทียมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่เท่านั้น กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวย่อมไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบในทางคดี การที่จะแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโดยส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่จึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากจะทำให้ คู่ความต้องเสียเวลามากขึ้น กรณีจึงไม่สมควรแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตสัญญาเช่า การเพิกถอนคำชี้ขาดต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย
สัญญาเช่าระหว่างผู้คัดค้านทั้งสามกับผู้ร้องระบุว่า หากมีความผิดพลาดเกี่ยวกับการเช่าและค่าเสียหายเกิดขึ้นตามสัญญา ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนมีการฟ้องร้องคดีทุกครั้งโดยมิได้มีข้อกำหนดจำกัดขอบเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการไว้ เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าและเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทจากพยานหลักฐานที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ไม่ต้องด้วยเหตุให้ศาลเพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) เมื่ออนุญาโตตุลาการเห็นว่ากรณีฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญา ส่วนการยื่นคำขอรังวัดที่ดิน ตรวจสอบที่ดิน ชี้แนวเขต ตลอดจนทำรูปแผนที่บอกขนาดของที่ดินเป็นกิจการที่ผู้เช่าและผู้ให้เช่าจะต้องร่วมมือกันดำเนินการในปัญหาการฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมและการรังวัดที่ดินให้บรรลุล่วงไปด้วยดีนั้น เป็นคำชี้ขาดให้คู่สัญญากระทำการตามสัญญาต่อไป จึงไม่ใช่คำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย ทั้งการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ใช่คำชี้ขาดที่ศาลมีอำนาจเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ก) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1791/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วันวินาศภัยในคดีลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย: การพิจารณาช่วงเวลาการครอบครองรถยนต์ที่ถูกลักไป
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บ. กับพวกร่วมกันลักรถยนต์พิพาทซึ่งผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโดยใช้กลอุบายและผู้ร้องหลงเชื่อนำรถยนต์พิพาทไปมอบให้และได้ค่าเช่าตอบแทน การที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่ บ. กับพวก แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่วางไว้เพื่อประสงค์จะลักรถยนต์พิพาท แต่ในขณะนั้น บ. กับพวกยังไม่ได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์พิพาทไปจากผู้ร้อง จึงไม่อาจถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ ต่อมาเมื่อ บ. กับพวกไม่ชำระค่าเช่าแล้วหลบหนีไปพร้อมรถยนต์พิพาท จึงให้ตัวแทนไปทำการร้องทุกข์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 จึงถือได้ว่า บ. กับพวก เอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากการครอบครองของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่อาจตามหา บ. กับพวก ถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูก บ. กับพวกลักรถยนต์พิพาทไปอันเป็นวันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนดสองปี คดีของผู้ร้องยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าคดีของผู้ร้องขาดอายุความ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความประกันภัย: วันเกิดเหตุวินาศภัยคือวันลักทรัพย์สำเร็จ ไม่ใช่แค่วันส่งมอบรถ
เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า การกระทำความผิดของ บ. เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ดังนั้น ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่ บ. กับพวก ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอุบายที่ บ. กับพวก วางแผนไว้เพื่อประสงค์จะลักทรัพย์ตามที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด แต่ในการนี้ บ. กับพวก ยังมิได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์ไปจากผู้ร้อง ไม่อาจถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ แต่ถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 จึงไม่เป็นการยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย คดีของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยโดยปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องและปรากฏต่อศาลว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงมีเหตุเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีประกันภัย: วันวินาศภัยที่ถูกต้องและการเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า
การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดว่าข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความโดยถือวันที่ผู้ร้องนำรถยนต์ไปให้เช่าเป็นวันวินาศภัยนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
แต่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี
แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นไปตาม
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40
โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ว่าวันวินาศภัยหรือวันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่
บ. ผู้หลอกลวง อันนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่แต่อย่างใด
จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า
การกระทำความผิดของ บ. เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ดังนี้ ในวันที่ 13
มกราคม 2558 ที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ บ. กับพวก แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอุบายที่ บ. กับพวกวางแผนไว้เพื่อประสงค์จะลักทรัพย์ตามที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด
แต่ในขณะนั้น บ. กับพวกยังมิได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์ไปจากผู้ร้อง ไม่อาจถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ
ต่อมาเมื่อ บ. กับพวกไม่ชำระค่าเช่าแล้วพากันหลบหนีไปพร้อมรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่า บ. กับพวกเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากการครอบครองของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่อาจตามหาตัว
บ. กับพวกได้และเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่
13 พฤษภาคม 2558 จึงถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัยตาม
ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง
เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด
2 ปี คดีของผู้ร้องยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า
วันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์เป็นวันวินาศภัย ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 882 จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น
การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทประกันภัยรถยนต์: อายุความ, อนุญาโตตุลาการ, และการดำเนินการพิจารณาที่ชอบ
เมื่อข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับนี้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนทำกับผู้เอาประกันภัยให้สิทธิผู้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งก็คือ ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลผู้ต้องเสียหายจากวินาศภัยมีสิทธิใช้วิธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทได้ถ้าประสงค์หรือเห็นควร กรณีย่อมแตกต่างจากการที่คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างกันให้ระงับข้อพิพาทนั้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีข้อตกลงนี้คู่สัญญาย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ฉะนั้น ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ผู้ร้องจึงอาจเลือกใช้วิธีอนุญาโตตุลาการยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยระหว่างตนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวได้ แม้ตนจะยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองเรียกร้องให้รับผิดทางละเมิดแล้วก็ตาม การใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
ผู้ร้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นการเรียกจากผู้รับประกันภัยตรงตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ย่อมไม่ทำให้อายุความเรียกร้องทางแพ่งหรือฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลง ซึ่งวันวินาศภัยก็คือวันเกิดเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย หาใช่วันที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพราะเป็นวันที่มีการคำนวณค่าเสียหายเพื่อเรียกร้องแล้วไม่ ทั้งก็ไม่ได้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เพราะเหตุผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งรับค้ำจุนในบรรดาหนี้ทั้งปวงที่มีต่อผู้เสียหายซึ่งก็คือผู้ร้อง เนื่องจากแม้มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น
กรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาท ก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ รวมถึง ป.วิ.พ. ด้วย ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการก็ให้โอกาสผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นนั้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งงดการชี้สองสถานและปิดการพิจารณา ไม่นำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของผู้ร้องต่อไป ซึ่งก็สั่งเช่นนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอื่นจากพยานหลักฐานใดของทั้งสองฝ่ายมานำสืบอีก การพิจารณาดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของตน เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้ร้องซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้คัดค้าน และให้โอกาสผู้ร้องเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8516/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการมีอำนาจพิจารณาคดีได้ แม้คดีอาญาและแพ่งยังไม่สิ้นสุด ศาลไม่เพิกถอนคำชี้ขาด
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 45 บัญญัติว่า "คดีเรื่องใดถึงแม้ว่าได้ฟ้องในทางอาญาแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก" แม้มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" อย่างไรก็ดี หากผลคดีอาญายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นประการใด ศาลในคดีส่วนแพ่งย่อมมีดุลพินิจดำเนินการะบวนพิจารณาและพิพากษาไปได้ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาคดีส่วนอาญา การใช้ดุลพินิจดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนคดีแพ่งที่ น. ฟ้องผู้กระทำละเมิดและนายจ้างเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไรย่อมไม่ผูกพันผู้คัดค้านคดีนี้เพราะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้ออุทธรณ์ประการอื่นที่ว่า อนุญาโตตุลาการไต่สวนพยานผู้คัดค้านเพียงปากเดียว ไม่ไต่สวนพยานอื่น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ กรณีค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และสิทธิรับช่วงชดใช้ค่าเสียหาย
การที่จำเลยลงทุนตกแต่งปรับปรุงอาคารพิพาท แม้เป็นเงินจำนวนมากก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้การประกอบกิจการร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ของจำเลย เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าของกิจการกำหนดอันเป็นประโยชน์ของจำเลยเอง ประกอบกับสัญญาเช่ามีข้อตกลงด้วยว่า "การให้เช่าพื้นที่ต่อไปเมื่อหมดอายุสัญญานี้จะมีหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของผู้ให้เช่า" แสดงว่า เมื่อครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่า จำเลยจะมีโอกาสเช่าอาคารพิพาทต่อเป็นปีที่ 4 และปีที่ 5 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพอใจของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว หากโจทก์ไม่ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลย สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลงทันทีอันมิใช่ลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทเป็นเวลา 5 ปี จึงรับฟังไม่ได้
of 4