คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 33 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำนิติกรรมแทนบุตรผู้เยาว์ และผลของการไม่ขออนุญาตศาล
ว. เป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7150/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตสัญญาอนุญาโตตุลาการ: การเลิกสัญญาและการเรียกร้องค่าเสียหายหลังเลิกสัญญา, งานส่วนเพิ่มสนามกอล์ฟ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้ ... (2) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า (ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย และมาตรา 11 บัญญัติให้สัญญาอนุญาโตตุลาการต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญา ทั้งนี้ สัญญาอนุญาโตตุลาการอาจเป็นสัญญาหนึ่งในสัญญาหลัก หรือเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการแยกต่างหากก็ได้ จึงเห็นได้ว่า การระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเกิดจากข้อตกลงตามสัญญาระหว่างคู่พิพาท ซึ่งในส่วนนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่างานเพิ่มฝั่งสนามกอล์ฟ ผู้เรียกร้องได้เสนอค่างานส่วนนี้ ผู้คัดค้านได้ตรวจสอบค่างานดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีมูลค่าสูงเกินไปมาก คู่สัญญาจึงไม่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรจะให้ทำงานเพิ่มในส่วนใด เนื้องานแต่ละส่วนมีราคาค่าว่าจ้างเท่าใด อันเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามสัญญารับจ้างเหมาฯ ข้อ 14.5 ที่กำหนดว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาให้ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ทำสัญญาหรือบันทึกคำสั่งเพิ่มเติมขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อเป็นเช่นนี้ กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงให้มีการระงับข้อพิพาทในส่วนนี้ด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการและต้องถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการส่วนนี้เป็นคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ก) การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านยังไม่มีการตกลงว่าจ้างผู้ร้องในงานส่วนเพิ่มสนามกอล์ฟ และมีผลว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างหรือผลงานของงานที่ได้ทำไปแล้วในส่วนนี้เลย จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยดังกล่าว มีความหมายว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่รับวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนนี้ ซึ่งไม่ตรงกับที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยดังกล่าว แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้ด้วย แม้อาจจะแปลตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ว่าผู้ร้องต้องไปเรียกร้องจากผู้คัดค้านเป็นอีกกรณีหนึ่งนอกเหนือจากการเรียกร้องตามสัญญาอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องมีผลเป็นการยอมรับว่าที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยมาชอบแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่อาจเรียกร้องค่าทำการงานในงานส่วนเพิ่มสนามกอล์ฟนี้ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าไม่มีการตกลงว่าจ้างผู้ร้องให้ทำงานเพิ่มในส่วนนี้ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อนี้ จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 และเห็นสมควรที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้เสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6947-6948/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: ดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและข้อจำกัดในการอุทธรณ์
ปัญหาว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) เนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานกรณีรับฟังพยานเอกสารที่ไม่มีการปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 ข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ร้องยื่นข้อเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้าง คอนโดมิเนียม และสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติม ผู้คัดค้านไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญาดังกล่าวกับผู้ร้อง เพียงแต่ปฏิเสธว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้างและสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมหรือไม่ การที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยถึงความมีอยู่ของสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้าง ซึ่งได้ชำระค่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว จึงชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง แล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8539/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ: ศาลไทยมีอำนาจเฉพาะคำชี้ขาดที่ทำขึ้นในไทย
การขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น คู่ความอาจมีคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วได้ ประกอบกับคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้นมีผู้พิพากษาสมทบซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะได้ทำความเห็นแย้งว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักรตามคำร้องขอของผู้ร้อง ซึ่งความเห็นแย้งที่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558 โดยไม่ว่าจะพิจารณาจากความหมายในข้อความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตราต่าง ๆ หรือความสอดคล้องของบทกฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าวกับอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศหรืออนุสัญญานิวยอร์กตามพันธกรณีที่ประเทศยอมรับ ล้วนแต่เป็นกรณีที่จะต้องถือว่าศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ
ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศแต่อย่างใด การที่ศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว รวมตลอดถึงการมีคำสั่งและออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องล้วนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปราศจากอำนาจ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องพิพากษายกคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวและเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลดังกล่าวทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำพิพากษาอนุญาโตตุลาการ: การดำเนินการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และข้อจำกัดในการอุทธรณ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยไทยและให้อนุญาโตตุลาการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความหรือยกคำเสนอข้อพิพาท จึงเป็นคำร้องขอให้บังคับตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วเป็นกรณีอยู่ในบังคับต้องอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาตามที่ มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติไว้ การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ฉบับแรกต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ฉบับแรกและส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้วินิจฉัยแล้วจำหน่ายอุทธรณ์ฉบับแรกของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ฉบับแรกให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นยังไม่ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วการที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่เป็นฉบับที่สองและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ฉบับที่สองของผู้ร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์นับแต่อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ไม่ชอบเช่นกัน กรณีจึงต้องยกอุทธรณ์ฉบับที่สองของผู้ร้อง เมื่อสำนวนคดีนี้มาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับแรกของผู้ร้องไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้ร้องมายังศาลฎีกาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยซ้อน และหลักการชดใช้ค่าเสียหายจริง
คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 ที่ผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์โดยสารคันเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องรับประกันภัยค้ำจุนตามกรมธรรม์เดียวกัน เกิดเหตุเฉี่ยวชนกรณีเดียวกัน ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับบาดเจ็บอันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านทั้งสองเสนอข้อพิพาทไว้ตามคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น คำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 3 เฉพาะส่วนที่เรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2
บริษัท บ. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์โดยสารไว้กับผู้ร้องเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนแรก และบริษัท ส. เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนคนที่สอง ดังนั้น ผู้ร้องต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคสาม เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 870 วรรคหนึ่ง แม้บริษัท ส. จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 28 แต่ก็ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ส. โดยไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ดี การที่ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 871 เมื่ออนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงแก่ผู้คัดค้านทั้งสองคนละ 25,000 บาท แต่ชี้ขาดให้ผู้ร้องเพียงรายเดียวต้องชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ส. แล้วจำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนวินาศจริง จึงเป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525-526/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้ยืนยันหลักการเรื่องการยื่นคำร้องซ้ำ และอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญา
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านใช้สิทธินี้โดยเป็นผู้ร้องขอไปแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขออย่างเดียวกันอีกในเดือนเดียวกันโดยอ้างเหตุใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้คัดค้านสามารถยกขึ้นอ้างได้ในขณะยื่นคำร้องขอครั้งก่อน และประเด็นตามคำร้องทั้งสองครั้งเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีตามคำร้องขอไปแล้ว ถือว่าเป็นการที่ผู้คัดค้านรื้อร้องฟ้องให้ศาลวินิจฉัยกันใหม่อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว คำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านฉบับหลังจึงซ้ำกับคำร้องขอฉบับแรก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ปัญหานี้แม้ผู้ร้องมิทันยกขึ้นต่อสู้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เพิ่งยกขึ้นในคำแก้อุทธรณ์ แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14524/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: กำหนดเวลา 90 วัน และผลของการยื่นคำร้องล่าช้า
ตามคำร้องขอของผู้ร้องที่อ้างว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยผู้คัดค้าน ข้อ 7.1 ระบุว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นการร้องขอตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) ข้อ 7.2 ระบุว่า องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 อันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (จ) และในข้อ 7.3 ระบุว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) กรณีตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง จึงต้องดำเนินการภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 วรรคสอง ได้ความว่าเมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้วได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว ผู้ร้องย่อมขาดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้
สำหรับข้อคัดค้านของผู้ร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการไต่สวนไม่ชอบนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14524/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: ต้องยื่นคำร้องภายใน 90 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาด
ตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยผู้คัดค้าน ระบุว่า ผู้ร้องมีความประสงค์จะร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่ระบุอยู่ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 กล่าวคือ ข้อ 7.1 ระบุว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการอันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) ข้อ 7.2 ระบุว่าองค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 อันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (จ) และในข้อ 7.3 ระบุว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการร้องขอตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) กรณีตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด" ดังนั้น เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ให้เพิกถอนบรรดาข้อเรียกร้องทั้งหมดของผู้ร้อง โดยแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำร้อง และมีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ก็ตาม กรณีดังกล่าวจึงเป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องย่อมขาดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง
ข้อคัดค้านของผู้ร้องว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการไต่สวนโดยไม่ชอบนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ และการแก้ไขค่าเสียหายสกุลเงินต่างประเทศ
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งวาเรน - แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ถึงมาตรา 44 เห็นได้แจ้งชัดว่า คู่พิพาทอาจร้องขอต่อศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้ และศาลที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้นให้ต่อเมื่อเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หรือคู่พิพาทซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำขึ้นในต่างประเทศอาจขอให้ศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวหากสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (1) ถึง (6) บัญญัติได้เท่านั้น แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศ การร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องร้องขอต่อศาลในประเทศที่คำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำขึ้นเท่านั้น สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 5 (1) (อี) ในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติหรือ "UNCITRAL Model Laws" ที่กำหนดไว้ใน Ariticle 34 และ 36 การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 นั้น เฉพาะศาลที่มีการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลเท่านั้นที่อาจพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอแย้งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวซึ่งเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินสกุลต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ถึงกำหนดชำระเงินตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้น ยังไม่ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ที่บัญญัติให้ลูกหนี้ใช้เป็นเงินไทยได้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
of 4