คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 33 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18217/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต้องยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่ฟ้องคดี
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้" วรรคสอง บัญญัติว่า "คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด..." วรรคสาม บัญญัติว่า "ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า... (ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ... (จ)... กระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้..." ดังนั้น หากโจทก์ซึ่งเป็นคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสามารถกระทำได้โดยการขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) (จ) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งมีคำขอบังคับให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง หาใช่ฟ้องจำเลยเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งการกระทำที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาดังกล่าว จำเลยไม่ว่าจะในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะคณะอนุญาโตตุลาการหาได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ไม่และกรณีหาใช่เป็นการเสนอคดีมีข้อพิพาทหรือคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 หรือกรณีควรคืนคำฟ้องนั้นไปให้โจทก์ทำมาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2045/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ และขอบเขตการเรียกร้องแย้งเพิ่มเติมหลังมีคำชี้ขาด
การที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและเรียกร้องแย้งให้ผู้ร้องชำระเงินให้ผู้คัดค้านอีกจำนวน 430,010.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำคัดค้านเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวเป็นประเด็นที่ผู้คัดค้านได้เคยเรียกร้องแย้งในชั้นอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงผูกพันคู่พิพาททั้งสองฝ่ายตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หากผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการร้องขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า "การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้..." หรือคัดค้านการร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า "ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า..." การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องแย้งขอให้บังคับผู้ร้องชำระเงินให้ผู้คัดค้านตามที่ได้เคยต่อสู้และเรียกร้องแย้งไว้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอีกถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 หรือคัดค้านการร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจเรียกร้องแย้งขอให้ศาลบังคับให้ผู้ร้องชดใช้เงินดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับเฉพาะคำคัดค้านคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องแย้ง มีคำสั่งไม่รับในส่วนนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14670/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ผิดช่องทางในคดีอนุญาโตตุลาการ ศาลฎีกายกคำอุทธรณ์และฎีกา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรณีจึงเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาแล้ว การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามมาตรา 45 วรรคท้าย การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบเช่นกัน การที่ผู้ร้องยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณา กรณีจึงต้องยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาของผู้ร้อง แต่การที่สำนวนคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องมายังศาลฎีกาอีก
การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ นั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 45 (1) ถึง (5) การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์อ้างข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาอยู่กินโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับ ป. และ ป. ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุให้ผู้ร้องขอสินเชื่อเช่าซื้อและทำประกันภัย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยนั้น ล้วนเป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของอนุญาโตตุลาการ และศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13534/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศภายใต้อนุสัญญา NYC และกฎหมายอนุญาโตตุลาการ
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศเยอรมนี ทำสัญญาซื้อสินค้าจากผู้คัดค้านซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย โดยมีข้อตกลงให้ชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนี ต่อมาผู้คัดค้านผิดสัญญาส่งสินค้าให้แก่ผู้ร้องไม่ครบจำนวน ผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการสมาคมการค้าส่งและการค้าระหว่างประเทศแห่งตลาดหลักทรัพย์ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนีมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงิน และนำคำชี้ขาดมาขอบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ต่อศาลในประเทศไทย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและคำร้องแย้งขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว กรณีนี้แม้มาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จะบัญญัติถึงเหตุในการเพิกถอนคำชี้ขาดไว้เฉพาะตามวรรคสาม (1) (ก) ถึง (จ) โดยไม่ได้บัญญัติชัดเจนถึงอำนาจของศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศหรือที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติในมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ลักษณะของการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า ในกรณีที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่หากปรากฏว่ามีเหตุหนึ่งเหตุใดเข้าลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 หรือมาตรา 43 แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดหรือมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น แต่เหตุที่มาตรา 40 มิได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศเหมือนดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเพื่อให้มีการใช้อำนาจศาลให้เหมาะสมสอดคล้องกับข้อตกลงหรืออนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศนั้น ๆ ตามหลักการปฏิบัติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลให้เกิดปัญหาการขัดกันของการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศภาคีสมาชิก โดยเฉพาะคำชี้ขาดในคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อสินค้าอันเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศเยอรมนีและประเทศไทยต่างเป็นประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับ นครนิวยอร์ค ค.ศ.1958 ซึ่งมีขอบเขตการใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นแม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการตามมาตรา 9 แต่เมื่อปรากฏว่าข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก การรับคำร้องแย้งของผู้คัดค้านไว้จึงไม่เป็นการสะดวกเพราะจะไม่สอดคล้องกับการอนุวัตรการตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพันต่อประเทศภาคีสมาชิก คำร้องแย้งของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: การใช้ดุลพินิจของศาลเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรกต่อศาลแพ่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง และเป็นการยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดี ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดอีกครั้งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งยังไม่ล่วงเลยระยะเวลา 3 ปี ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แต่ล่วงเลยระยะเวลา 90 วัน ตามมาตรา 40 วรรคสอง ดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขออีกครั้งเพราะเหตุที่การยื่นครั้งแรกมีข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจศาลถือว่าข้อบกพร่องในการยื่นคำร้องขอแต่แรกต่อศาลหนึ่งแต่ในที่สุดศาลนั้นไม่รับคำร้องขอ เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลนั้นจนต้องยื่นคำร้องขออีกครั้งหนึ่งต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอต้องเสื่อมเสียสิทธิ นอกจากนี้กำหนดระยะเวลาเช่นนี้ก็เป็นกำหนดระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ด้วย เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฉบับแรกเพียง 60 วัน แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องยังประสงค์จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามคำร้องขอของผู้ร้องอยู่ และจำเป็นต้องทำคำร้องขอยื่นใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาภายในเวลาพอสมควร อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามความจำเป็นโดยสุจริต จึงมีเหตุสมควรอย่างยิ่งที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จะใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 23 สั่งให้ขยายกำหนดระยะเวลาการยื่นคำร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10668/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของศาลกับการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: เหตุสุดวิสัยในสัญญา
คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเรื่องการส่งมอบเครื่องฝึกบินจำลองว่า มีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับการยื่นขอและรับใบอนุญาตส่งออกจนไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ นั้น เป็นคำชี้ขาดว่ามีเหตุสุดวิสัยตามที่ตกลงกันในสัญญาที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านไม่อาจชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญา หาใช่เป็นการวินิจฉัยแปลความถึงเหตุสุดวิสัยขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 8 ไม่ การยอมรับหรือการบังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) ข แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10668/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกาพิพากษากลับคำตัดสินเดิม ชี้การวินิจฉัยเหตุสุดวิสัยเป็นอำนาจอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคำชี้ขาดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการอ้างเหตุสุดวิสัยมาเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการยกขึ้นกล่าวอ้างในคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งเอกสารที่คณะอนุญาโตตุลาการนำมาพิจารณาเป็นเอกสารที่ไม่อาจรับฟังได้ การบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง อันเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย มิใช่การโต้แย้งตามกรณีในมาตรา 40 (1) (ก) ถึง (จ) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามบทมาตราดังกล่าวได้
คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากมีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านว่า มีเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านส่งมอบงานล่าช้า จึงวินิจฉัยให้ผู้ร้องคืนค่าปรับให้แก่ผู้คัดค้านพร้อมด้วยดอกเบี้ย เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดว่ามีเหตุสุดวิสัยตามที่ตกลงกันในสัญญาที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านยังไม่อาจชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญา มิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม มาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่ามิได้มีเหตุสุดวิสัยดังที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย การบังคับตามคำชี้ขาดจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้น จึงเป็นการเข้าไปวินิจฉัยเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุญาโตตุลาการโดยเฉพาะ จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10454/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเรื่องค่าธรรมเนียมการจัดการ ไม่ขัดต่อประมวลรัษฎากร และหน้าที่ชำระภาษีของคู่สัญญา
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้อที่ 1 ที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมการจัดการเต็มจำนวนโดยไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น คำชี้ขาดดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าขัดต่อประมวลรัษฎากร เพราะการที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจะต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมการจัดการให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจ้างและได้รับเงินได้พึงประเมินตามที่จ่ายในประเทศไทย อันเป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายไว้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่หน้าที่ของผู้ร้องในการที่ต้องชำระภาษีจากเงินได้พึงประเมิน และหน้าที่ของผู้คัดค้านในการที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ร้องก็ไม่ได้ถูกลบล้างไปโดยข้อตกลงตามสัญญาการจัดการดังกล่าว สัญญาการจัดการระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ตกลงกันให้ผู้รับจ้างได้รับผลตอบแทนเต็มจำนวน ย่อมสามารถคิดคำนวณกันได้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการชี้ขาดเฉพาะในเรื่องของสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญาการจัดการ ที่เป็นผลให้ผู้คัดค้านต้องชำระเงินค่าตอบแทนตามสัญญาในรูปค่าธรรมเนียมการจัดการให้แก่ผู้ร้องเต็มจำนวนเท่านั้น ไม่กระทบถึงหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่เกี่ยวกับการชำระภาษีจากจำนวนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด เพราะทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านยังมีหน้าที่ชำระภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และการบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนดังกล่าวก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและการตรวจสอบอำนาจอนุญาโตตุลาการ
หนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องระบุมอบอำนาจให้ ว. ยื่นฟ้อง ต่อสู้คดีดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวงแทนผู้รับมอบอำนาจ ว. จึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลได้ทุกคดีโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าผู้มอบอำนาจจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้น
สัญญาการเป็นหุ้นส่วน เป็นสัญญาระหว่างผู้ร้องกับกลุ่มบุคคล กำหนดให้คู่สัญญาก่อตั้งบริษัทขึ้นภายใต้กฎหมายไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตสินค้าภายใต้สลากเครื่องหมายการค้าที่ตกลงกัน และในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นสัญญาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทผู้คัดค้าน โดยมีกลุ่มบุคคลลงลายมือชื่อในฐานะส่วนตัว และ อ. ลงลายมือชื่อในฐานะประธานบริษัทผู้คัดค้านซึ่งจะจัดตั้งขึ้นในอนาคต โดยผู้ร้องมีวัตถุประสงค์ในการแต่งตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ใบอนุญาตที่อนุมัติโดยผู้ร้องและภายใต้เครื่องหมายการค้าที่กำหนด สัญญาทั้งสองฉบับจึงเป็นสัญญาที่ผู้ริเริ่มก่อการบริษัทผู้คัดค้านได้กระทำไว้เพื่อก่อตั้งบริษัทผู้คัดค้านเพื่อถือสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เมื่อผู้คัดค้านได้จดทะเบียนเป็นบริษัทตามกฎหมายไทยแล้วก็ได้เข้าถือสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว โดยผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของผู้ร้อง และได้อ้างข้อตกลงที่ให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิขึ้นต่อสู้คดีในศาล กับนำเสนอข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่ออนุญาโตตุลการ ดังนี้ถือว่าผู้คัดค้านได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงต้องผูกพันตามสัญญานั้น กรณีถือว่าผู้คัดค้านเข้าเป็นคู่สัญญาโดยชอบและมิได้บกพร่องในเรื่องความสามารถแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ: อำนาจฟ้อง, สิทธิในเครื่องหมายการค้า, ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ
หนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องระบุมอบอำนาจให้ ว.ยื่นฟ้องต่อสู้คดีดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวงแทนผู้รับมอบอำนาจ หาได้ระบุมอบอำนาจให้ ว.ฟ้องผู้คัดค้านเป็นการเฉพาะคดีแต่ประการใดไม่ ว.จึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลได้ทุกคดีโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าผู้รับมอบอำนาจจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้น
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้าระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านว่าใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าผู้คัดค้านก็ได้มีคำชี้ขาดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อ 5 (1) โดยให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามความจำเป็นในการยกเลิกทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทหรือโอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่ผู้ร้องแล้วแต่ผู้คัดค้านจะเลือก อันเป็นคำชี้ขาดให้คู่สัญญากระทำการตามสัญญาหรืองดเว้นจากการกระทำตามสัญญาต่อไป จึงไม่ใช่ข้อพิพาทที่ไม่อาจระงับได้โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ
ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกัน ข้อ 31, 32 ได้กำหนดเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไว้ เมื่อผู้คัดค้านเป็นฝ่ายนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านจึงต้องตระหนักและผูกพันตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอันเป็นข้อบังคับที่ใช้แก่คู่สัญญาทั่วไปที่เข้าสู่กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกันโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศหรือสัญชาติของคู่สัญญา
of 4