คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อร่าม เสนามนตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 478 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13102/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ, การจำกัดความรับผิด, การรับช่วงสิทธิจากสัญญาประกันภัย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างใช้ชื่อ ยูพีเอส (UPS) และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ใช้ชื่อยูพีเอส เอสซีเอส (UPS SCS) เช่นเดียวกัน ทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทผู้สำรวจเหตุความเสียหายเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้ส่งเอกสารการเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยไปยังจำเลยที่ 1 ตามแบบพิมพ์การเรียกร้องของลูกค้ายูพีเอส เอสซีเอส ซึ่งแบบพิมพ์นี้นอกจากจะใช้เครื่องหมาย UPS เหมือนกับเครื่องหมายในใบรับขนทางอากาศของจำเลยที่ 1 แล้ว ในรายละเอียดก็ยังมีข้อความในลักษณะเกี่ยวกับเครือข่ายการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทยูพีเอส เอสซีเอส โดยมีข้อความตอนล่างสุดระบุถึงการให้บริการรวมทั้งความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามข้อความและเงื่อนไขการให้บริการของยูพีเอส เอสซีเอส ที่สามารถตรวจดูได้ทางเวปไซต์ www.ups-scs.com แสดงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกลุ่มบริษัทในเครือข่ายเดียวกันที่ให้บริการเป็นระบบเครือข่ายในประเทศต่างๆ เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบริษัทในเครือข่ายเดียวกันกับที่ร่วมกันประกอบกิจการรับขนของเป็นเครือข่ายร่วมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันรับขนส่งสินค้าตามฟ้อง
แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมา แต่เมื่อสินค้าดังกล่าวเป็นอะไหล่ที่ใช้ประกอบกับเครื่องจักรในโรงงานของผู้เอาประกันภัยซึ่งต้องมีสำรองไว้ใช้ในโรงงานประกอบกับในการซื้อสินค้า ผู้เอาประกันภัยตกลงซื้อในเทอม เอฟซีเอ ท่าอากาศยานซูริค ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องเสียค่าขนส่งจากท่าอากาศยานดังกล่าวมายังท่าอากาศยานกรุงเทพเอง การที่ผู้เอาประกันภัยยอมเสียค่าขนส่งทางอากาศซึ่งย่อมมีค่าขนส่งสูงแต่ขนส่งได้รวดเร็ว ก็เป็นเหตุผลแสดงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องได้รับสินค้าไว้ใช้โดยเร็ว ในการขนส่งครั้งนี้ควรขนส่งสินค้าถึงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 แต่สินค้านี้ไม่ได้ขนส่งถึงตามกำหนดดังกล่าว จนต้องมีการเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของสินค้า ทั้งยังมีการเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ด้วย และในที่สุดผู้เอาประกันภัยก็ต้องซื้อสินค้าดังกล่าวใหม่ ดังนี้แม้จะมีการพบสินค้าที่ขนส่งตามฟ้องนั้นในภายหลังก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยอีกต่อไป และการหาสินค้าดังกล่าวพบก็เป็นเวลาหลังจากที่สินค้าควรขนส่งถึง 6 เดือนเศษ พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมก่อความเสียหายในลักษณะอันถือได้ว่ามีผลทำนองเดียวกันหรือเสมือนกับสินค้าสูญหายนั่นเอง แม้จะค้นหาพบในภายหลังก็ถือได้ว่าเป็นกรณีผู้รับตราส่งเสียหายจากความสูญหายของสินค้าแล้ว จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับสินค้าที่หาพบ การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจึงชอบแล้ว
ใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ออกให้ ด้านหลังต่างก็มีข้อความจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เป็นเงินไม่เกิน 20 ดอลลาร์ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศมีช่องว่างสำหรับเติมข้อความเพื่อการแสดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง และมีข้อความอธิบายให้ผู้ส่งตรวจดูข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ โดยหากประสงค์จะให้เพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ ก็ให้แสดงราคาและชำระเงินเพิ่มได้ แต่ปรากฏว่าในช่องแสดงราคาเพื่อการขนส่งระบุข้อความว่า เอ็นวีดี หรือการไม่แสดงราคา อันแสดงว่าผู้ส่งยอมรับข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงจำกัดความรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13019/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดสัญญา การลดเบี้ยปรับ และความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น เป็นการกำหนดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติก่อนผิดนัด จึงมิใช่การลดเบี้ยปรับ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้ถูกต้อง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายถึงอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดตามที่โจทก์ประกาศในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าวบวกกับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ แต่ละฉบับ การคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งเป็นเบี้ยปรับในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาบวกกับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี จึงต้องนับจากวันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10485/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนอนุสิทธิบัตร: ลักษณะการประดิษฐ์ไม่ใหม่ แม้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งอุปกรณ์
การพิจารณาว่าการประดิษฐ์ที่โจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้แก่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว และงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามมาตรา 6 วรรคสอง (2) ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร
การประดิษฐ์และข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์เมื่อเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ตามเอกสารประกาศแสดงสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่น อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนโจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร เห็นว่า เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายของเหลวและลักษณะทั่วไปทางกายภาพและการใช้งานทำนองเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ คงมีส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในบางส่วน แต่โจทก์ก็ไม่ได้แสดงรายละเอียดตามข้ออ้างดังกล่าวไว้ในรายการแสดงรายละเอียดการประดิษฐ์ของโจทก์ในคำขอรับอนุสิทธิบัตร จึงฟังไม่ได้ว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ย่อมไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายเครื่องจักรเก่า ยอมรับสินค้าแล้วมีหน้าที่ชำระราคา แม้ภายหลังมีชำรุด การฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
เครื่องบรรจุเอกสารพิพาททั้งสามเป็นเครื่องเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เป็นธรรมดาที่สมรรถนะของเครื่องไม่อาจเทียบได้กับเครื่องใหม่ การซื้อขายสินค้าจึงต้องพิจารณาจากข้อตกลงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาเป็นกรณีไป ดังนั้น การปรับบทกฎหมายในเรื่องความรับผิดกรณีมีความชำรุดบกพร่องจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายในแต่ละมาตราประกอบกัน ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะมาตราหนึ่งมาตราใด จากข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารแต่ละเครื่องเสร็จ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาให้บริการกัน ต่อมามีการทำใบสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารทั้งสามเครื่อง แสดงว่าจำเลยยอมรับสินค้าของโจทก์ตามสภาพของสินค้าที่มีการติดตั้งแล้ว และขณะติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารไม่ได้ชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าเครื่องบรรจุเอกสารจะอ้างความชำรุดบกพร่องอันไม่สามารถเห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบมาปฏิเสธไม่ชำระค่าสินค้าไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญา ส่วนภายหลังนั้นการใช้งานเครื่องบรรจุเอกสารมีความชำรุดบกพร่อง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต้องว่ากล่าวกันตามข้อตกลงสัญญาให้บริการ มิใช่กรณีที่จำเลยจะอ้างเป็นเหตุไม่ชำระราคาค่าสินค้าได้
การพิจารณาว่าฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนใดเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ เพียงใด จะต้องพิจารณาจากคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งฉบับเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใดเท่านั้น คำฟ้องโจทก์บรรยายสรุปว่า จำเลยสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารจากโจทก์ จำเลยได้รับสินค้าแล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระราคาสินค้า จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้า จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งสรุปว่า การรับสินค้าของจำเลยเป็นการรับเพื่อทดลองใช้ เมื่อทดลองใช้แล้วสินค้ามีการชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าและเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปกว่าราคาที่ยึดหน่วงไว้ ดังนั้น คำขอในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคำขอที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าตามคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9213/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์หากมีการประดิษฐ์ที่ใช้แพร่หลายก่อนวันขอรับสิทธิบัตร การนำเข้าสินค้าที่เหมือนกับอนุสิทธิบัตรไม่ถือเป็นการละเมิด
ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 ที่บริษัท ก. และบริษัท ซ. นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ และ ว.จ.3 กับถุงห่อผลไม้ของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 มีลักษณะเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นถุง 2 ชั้น มีถุงห่อหุ้มชั้นนอกและถุงห่อหุ้มชั้นในถุงห่อหุ้มชั้นนอกมีการเคลือบสีดำอยู่ด้านในเพื่อกรองแสงไม่ให้แสงสว่างเข้าไปในถุงและถุงห่อหุ้มชั้นในเคลือบด้วยคาร์บอนอยู่อีกชั้นหนึ่ง ถุงห่อหุ้มชั้นนอกและชั้นในมีปลายเปิดด้านบนสำหรับรองรับการสอดเข้าของผลไม้ที่ต้องการห่อ ด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นนอกมีรูเจาะทะลุถึงด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นใน และด้านล่างของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะเป็นช่องเว้าออกด้านข้างมีรูเจาะทะลุถึงด้านในของถุงห่อหุ้มชั้นในบริเวณก้นถุงมีรูระบายน้ำและระบายอากาศมีปีกที่มีลวดเหล็กอยู่ข้างในยื่นออกมาเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ปีกที่ลวดเหล็กอยู่คนละด้านกันซึ่งปีกที่ยื่นออกมาจะใช้ในการรัดกิ่งไม้หรือใช้มัดปากถุงไม่ให้ถุงห่อผลไม้หลุดออกจากผลไม้ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 มีลักษณะเหมือนกับถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ของจำเลย และการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 เหมือนกับข้อถือสิทธิสำหรับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยซึ่งระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ถุงห่อผลไม้ประกอบด้วยถุงห่อหุ้มชั้นนอกที่เป็นถุงชั้นนอกที่มีปลายเปิดด้านบนชั้นนอกและพื้นผิวด้านนอกของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะมีชั้นสารเคลือบกันน้ำเคลือบอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นนอกและพื้นผิวด้านในของถุงห่อหุ้มชั้นนอกจะเป็นสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งชั้นสำหรับป้องกันแสงจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นในซึ่งถุงห่อหุ้มชั้นในจะเป็นถุงชั้นในที่อยู่ด้านในถุงห้อหุ้มชั้นนอกและมีปลายเปิดด้านบนชั้นในสำหรับเป็นช่องทางสวมเข้าทางด้านบนของผลไม้ที่ต้องการห่อหุ้มชั้นใน และพื้นผิวด้านนอกของถุงห่อหุ้มชั้นในอย่างน้อยหนึ่งด้านจะเป็นสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันแสงจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นใน และพื้นผิวด้านนอกของสีทึบแสงอย่างน้อยหนึ่งด้านของถุงห้อหุ้มชั้นในจะมีชั้นสารเคลือบกันน้ำเคลือบอยู่อย่างน้อยหนึ่งชั้น สำหรับป้องกันน้ำจากภายนอกเข้าสู่ด้านในถุงห่อหุ้มชั้นในอีกชั้นหนึ่ง แม้การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 จะมิใช่การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ก็ตาม แต่ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยาน ว.จ.2 และ ว.จ.3 เป็นการประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่แล้วนอกและในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เมื่อการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 เหมือนกับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.จ.2 และ ว.จ.3 การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วอันมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ ต้องถือว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ไม่สมบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 65 นว วรรคสอง แม้การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ที่โจทก์นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเหมือนกับการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยก็ตาม แต่เมื่ออนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้เลขที่ 4343 ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 เป็นอนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์ การประดิษฐ์ถุงห่อผลไม้ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 สัตต การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรเลขที่ 4343 ของจำเลยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 35 ทวิ และมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7772/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ ตำรวจพบของกลางน้อย ไม่พบรายได้จากละเมิด สั่งชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนหนังสือ
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วม 40,000 บาท สูงเกินไป ค่าเสียหายหากมีจริงก็ไม่เกิน 1,000 บาท นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งไม่เกินสองแสนบาท และไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนี้ได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 41
การที่โจทก์ร่วมนำตัวเลข รูปภาพและเครื่องหมายต่าง ๆ มาปรับใช้เป็นโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิธีทำและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็วในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" นั้นมิได้มีเพียงทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวในรูปของหนังสือด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้วยการแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์ร่วมเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หาใช่เป็นเพียงความคิด หรือขั้นตอนกรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์อันไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 วรรคสอง และโจทก์ร่วมมีสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้เพื่อแสดงว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานหนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าว จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มนั้น
ตามคำฟ้องในคดีก่อนโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งว่า ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เปิดโรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ท เซ็นเตอร์ สาขาพัทลุง กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์และผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเรียกค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของโจทก์ร่วมที่ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และเรียกค่าสินไหมทดแทน การฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอ้างการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์คนละครั้งกับในคดีก่อน การฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องในคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของผู้เสียหายด้วยการคัดลอกนำเอาข้อความบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" ไปทำซ้ำ ดัดแปลง และผสมรวมกับข้อความอื่นในหนังสือของฝ่ายจำเลยแล้วจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มใหม่เป็นหนังสือใช้ชื่อว่า "MAGIC ABACUS" เท่านั้น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อการค้า และจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือชื่อ "MAGIC ABACUS" นั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่หนังสือนั้นเพื่อการค้าและหากำไรอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะระบุบทบัญญัติมาตราดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าชุด การใช้เครื่องหมายแต่ละเครื่องหมายเป็นอิสระ การเพิกถอนเครื่องหมายจากการไม่ใช้
การแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM แต่อักษรโรมัน SM ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้
การพิจารณาว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ หรือไม่ยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมาย ไม่ใช่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด ดังนั้น แม้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว หรือ VITANA - EZ ที่อยู่ระหว่างการขอจดทะเบียน แต่เมื่อไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ก็ถือไม่ได้ว่า การใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. หรือ VITANA - EZ เป็นการใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ไปด้วยเพราะต่างเครื่องหมายกัน การใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้าใดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 63 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้ ไม่อาจอ้างการใช้เครื่องหมายการค้าอื่นกับสินค้าที่จดทะเบียนไว้มาเป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้
การที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50 บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดนั้นจะโอนหรือรับมรดกกันได้ ต่อเมื่อเป็นการโอนหรือรับมรดกกันทั้งชุด" นั้น เป็นเรื่องการโอนหรือสืบสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่โอนหรือตกทอดกันทางมรดกได้ ไม่ได้มีผลทำให้เครื่องหมายการค้าทั้งหมดของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน และไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่อาจถูกเพิกถอนตามกฎหมายเนื่องจากการไม่ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อให้สิทธิและความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่มีการใช้เครื่องหมายนั้นกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ไม่ใช่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เพียงเพื่อกีดกันผู้อื่น การจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดจึงไม่มีผลทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่จำต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายสำหรับเครื่องหมายการค้าแต่ละเครื่องหมาย
แม้ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดจะใช้ข้อความสรุปว่าขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1) เช่นกันก็ตาม แต่ตามเนื้อหาของคำร้องสอดอ้างเหตุผลว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่สั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ของโจทก์ตามคำร้องขอของผู้ร้องสอดชอบแล้ว อันเป็นกรณีร้องขอเข้ามาในคดีเพราะตนมีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) มิใช่กรณีตามมาตรา 57 (1) แต่อย่างใด และเป็นเรื่องต้องถือตามเนื้อหาแห่งคำร้องสอดดังกล่าวมาเป็นสำคัญ ซึ่งย่อมมิใช่กรณีที่ร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2045/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ และขอบเขตการเรียกร้องแย้งเพิ่มเติมหลังมีคำชี้ขาด
การที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและเรียกร้องแย้งให้ผู้ร้องชำระเงินให้ผู้คัดค้านอีกจำนวน 430,010.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำคัดค้านเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวเป็นประเด็นที่ผู้คัดค้านได้เคยเรียกร้องแย้งในชั้นอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงผูกพันคู่พิพาททั้งสองฝ่ายตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หากผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการร้องขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า "การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้..." หรือคัดค้านการร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า "ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์ได้ว่า..." การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องแย้งขอให้บังคับผู้ร้องชำระเงินให้ผู้คัดค้านตามที่ได้เคยต่อสู้และเรียกร้องแย้งไว้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอีกถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 หรือคัดค้านการร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจเรียกร้องแย้งขอให้ศาลบังคับให้ผู้ร้องชดใช้เงินดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับเฉพาะคำคัดค้านคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องแย้ง มีคำสั่งไม่รับในส่วนนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและบริษัทประกันภัย กรณีสินค้าสูญหาย/ส่งช้า การตีความความคุ้มครองตามกรมธรรม์
จำเลยที่ 1 รับสินค้าจากโจทก์เพื่อดำเนินการขนส่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ครั้นเมื่อมีการขนส่งสินค้าไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อแล้ว ปรากฏในขณะนั้นว่าสินค้าสูญหายไป 1 กล่อง แต่ได้ความต่อมาว่าจำเลยที่ 2 พบสินค้าที่คิดว่าสูญหายดังกล่าวที่ท่าอากาศยานเบรเมน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ดังนี้ย่อมไม่มีเหตุอันจะถือได้ว่าสินค้า 1 กล่องนี้สูญหายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงกำหนดเวลาในการขนส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 ต้องขนส่งไปมอบแก่ผู้ซื้อไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ตามปกติในการขนส่งทางอากาศย่อมเป็นที่เข้าใจและคาดหมายกันได้ระหว่างโจทก์ผู้ส่งกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งว่าควรขนส่งไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อโดยคู่สัญญามีเจตนาให้ขนส่งไปส่งมอบได้ภายในกำหนดเวลาเท่าที่พึงคาดหมายว่าการขนส่งทางอากาศในระยะทางเช่นนี้ควรส่งมอบแก่ผู้ซื้อได้ ประกอบกับผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความทำนองว่า พยานได้รับแจ้งจากผู้ซื้อว่าได้รับสินค้าไม่ครบถ้วน ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเชื่อได้ว่าการขนส่งครั้งนี้มีกำหนดเวลาอันคาดหมายได้ว่าควรส่งสินค้าถึงผู้ซื้อได้ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 และมีการส่งสินค้าไปมอบแก่ผู้ซื้อแล้วเพียงแต่ส่งมอบได้ไม่ครบถ้วนเท่านั้น เมื่อสินค้าขาดหายไป 1 กล่อง และค้นพบวันที่ 27 มีนาคม 2550 ย่อมเป็นกรณีที่หากส่งมอบสินค้า 1 กล่องนี้ได้ก็เป็นการส่งมอบชักช้ากว่าเวลาอันควรส่งมอบได้ จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งคนอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งต้องร่วมกันรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการส่งมอบชักช้าดังกล่าว อันเกิดจากโจทก์ต้องผลิตสินค้าใหม่และส่งให้ผู้ซื้อทดแทน
ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความแสดงถึงกรณีที่สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครองไว้ในข้อ 2.6 ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองในกรณีการสูญหาย เสียหาย หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าโดยเฉพาะ เมื่อสินค้า 1 กล่อง หายไปโดยหาไม่พบแต่แรก แต่ต่อมาก็ค้นพบภายหลังในเวลาประมาณ 40 วัน ซึ่งถือว่าเป็นกรณีส่งได้ชักช้าเท่านั้น ไม่ถึงกับถือว่าเป็นการสูญหาย จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20053/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา: ผลของการโอนคดีระหว่างศาล และการนับอายุความจากคำสั่งจำหน่ายคดี
ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 แม้จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลแพ่งด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้มีคำสั่งรับโอนคดี ถือว่าคดีอยู่ระหว่างการโอนจึงยังไม่เสร็จเด็ดขาดไปจากศาลแพ่ง และคำสั่งให้โอนคดีของศาลแพ่งถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้อง แต่เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความศาลแพ่งและให้โจทก์ไปดำเนินคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปจากศาลแพ่ง มีผลเท่ากับเป็นคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ยังไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
of 48