พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5187/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเวนคืนที่ดิน: การประเมินค่าทดแทน, ราคาที่ดินที่เหลือ, และดอกเบี้ย
การพิจารณาค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน นอกจากจะคำนึงถึงราคาประเมินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1)(4)และ (5) มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ข้อ 1 และข้อ 5 เมื่อราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสูงกว่าราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ แต่เนื่องจากเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดิน อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรและการขนส่งซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคเป็นประโยชน์ต่อสังคมมิได้เป็นการกระทำที่มีการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพิ่มเติมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1) ถึง (5) จึงเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม และชอบด้วยกฎหมายแล้ว อำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลง เมื่อตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันมีราคาลดลงนั้นด้วย การที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้และได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามมาตรา 25วรรคหนึ่ง ขอให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นแม้โจทก์มิได้กล่าวในอุทธรณ์ขอเพิ่มค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงไว้ด้วย ก็ย่อมหมายถึงได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรจะได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ในครั้นนี้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้ แม้ที่ดินตามโฉนดส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 27 ไร่1 งาน 7 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา จะมีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้านแต่ที่ดินดังกล่าวก็อยู่ใกล้กันกับที่ดินส่วนที่เหลือตามโฉนดของโจทก์อีกแปลงหนึ่งที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีเนื้อที่เหลือจากการถูกเวนคืนถึง 178 ไร่ 1 งาน 48 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวาและต่อมาโจทก์ได้ให้ พ. เช่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนตามโฉนดอีกแปลงหนึ่งดังกล่าวสร้างศูนย์การค้า ดังนี้สภาพโดยส่วนรวมแล้วที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนจึงมีราคาสูงขึ้น มิใช่ราคาลดลง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 7 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวาถูกทางหลวงแผ่นดินล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ไม่สะดวกในการเข้าออกเพราะมีการเดินรถทางเดียว เมื่อปรากฏว่าโจทก์สามารถขออนุญาตต่อทางราชการขอเชื่อมทางเข้าออกที่ดินโจทก์กับทางหลวงแผ่นดินได้ ดังนี้แม้จะมีการเดินรถทางเดียวทำให้ไม่สะดวกไปบ้างก็ไม่ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ลดลงเนื้อที่ดินของโจทก์ยังมีเหลือจากการถูกเวนคืนถึง 27 ไร่ 1 งาน 7 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางก่อนถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกติดถนนด้านทิศใต้ติดทางหลวงแผ่นดิน หากมีการก่อสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์โดยที่มิได้มีการเวนคืน โจทก์ก็ต้องถอยร่นปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการก่อสร้างอาคารภายหลังการเวนคืนและโจทก์ต้องถอยร่นจากถนน จึงก็ไม่ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ลดลง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตลอดไปจึงขัดกับบทกฎหมายข้างต้น และศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้องตามมาตรา 26 วรรคสาม ได้โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินที่โจทก์ขอมา และแม้จำเลยจะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วย และเมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันในกรณีสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2534 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันคือภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2534อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 367-368/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเวนคืนที่ดิน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและผลกระทบต่อที่ดินที่เหลือ
พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 ที่กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนที่ดินของโจทก์ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อ 22 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่27 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2530 ประกอบกับมาตรา 5วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531ดังนั้นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนจำเลยทั้งสองจึงต้องกำหนดราคาเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 9วรรคสี่ ประกอบมาตรา 21(2) หรือ (3) แต่ต่อมาหลังจากมีการฟ้องคดีแล้ว ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ข้อ 1 ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และบัญญัติความใหม่แทนว่า "ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21มาตรา 22 และมาตรา 24" ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่29 กุมภาพันธ์ 2534 โดยข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศดังกล่าวบัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่ และวรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทนการอุทธรณ์ หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย" ดังนั้น เมื่อคดีของโจทก์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือว่ากรณีของโจทก์นี้เป็นการเวนคืนซึ่งการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดตามความหมายของข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศดังกล่าว การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน จำเลยทั้งสองจึงต้องกำหนดราคาเบื้องต้นตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 1 โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์โดยถือเกณฑ์ตามมาตรา 9 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยถือตามราคาตามมาตรา 21(2)หรือ (3) แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์จึงไม่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมด้วย การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แม้จะกระทำเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป รัฐก็มีหน้าที่ชดใช้ค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมด้วย เมื่อการเวนคืนเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ที่ 3 ที่เหลือมีอาณาเขตไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนสำหรับราคาที่ดินที่ลดลงเพราะการเวนคืนของจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21วรรคสาม แต่ขณะที่มีการเวนคืนที่ดินของโจทก์ที่ 3 ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคำนวณราคาที่ดินที่ลดลงออกมาใช้บังคับตามมาตรา 21 วรรคสี่ แม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนพ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537 ก็ตามแต่ตามมาตรา 5 ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติว่า หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาตามพระราชกฤษฎีกานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ดังนั้นพระราชกฤษฎีกานี้จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับกับคดีนี้ได้จึงต้องกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 3 ส่วนที่เหลือที่ราคาลดลงโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่งโดยอนุโลม ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง เมื่อการเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 29 ตารางวา ของโจทก์ที่ 3 ถูกตัดขาดจากที่ดินเดิมจนไม่มีถนนเข้าที่ดินซึ่งเห็นได้ว่าที่ดินส่วนที่เหลือดังกล่าวย่อมมีราคาลดลงโดยสภาพ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 3 รวมเป็นเงิน 144,440 บาทนั้นจึงเหมาะสมแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องจ่ายเงินจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26วรรคสาม แล้ว