คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จักร อุตตโม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 110 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8875/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับคดีแพ่ง: ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนได้
ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในคดีส่วนอาญาได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไป ส่วนการสืบพยานส่วนแพ่งให้รอไว้หลังจากสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีอาญาเสร็จแล้วนั้น หมายถึงว่า เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีส่วนอาญาเสร็จแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะสืบพยานเพิ่มเติมตามประเด็นแห่งคดีในส่วนแพ่งซึ่งยังไม่ได้นำสืบตามประเด็นในคดีส่วนอาญา ศาลจะพิจารณาสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คู่ความนำสืบตามขอหรือไม่ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบไปแล้วในคดีส่วนอาญาว่าเพียงพอจะวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในคดีส่วนแพ่งหรือไม่ ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 47 บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง... ป.พ.พ. มาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแต่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด... ศาลจึงมีอำนาจกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้ได้โดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาโดยไม่จำต้องสืบพยานเพิ่มเติมอีก ส่วนที่สั่งว่าให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การในส่วนแพ่งภายใน 14 วัน มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจนั้น หมายถึงจำเลยไม่ติดใจให้การแก้คดี ไม่ใช่ผู้ร้องไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และเมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วศาลสอบผู้ร้องในส่วนของการสืบพยานเพิ่มเติม ผู้ร้องแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณา หมายความว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนที่ได้สืบมาแล้วเพียงพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้แล้วจึงไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องนำพยานมาสืบเพิ่มเติม จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้อง และคำพิพากษาในส่วนค่าสินไหมทดแทนไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุด: แม้มีสิทธิฟ้อง แต่เมื่อมติหมดอายุแล้ว ศาลยกคำร้องได้
คำร้องของผู้ร้องทั้งสามที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ที่ลงมติแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ให้แก้ไขมติดังกล่าวเป็นลงมติแต่งตั้งให้ผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนั้นเป็นเรื่องเดียวเกี่ยวกับการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด แม้จะขอให้ศาลมีคำสั่งหลายอย่างดังกล่าวมา แต่ก็ถือเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าวาระการดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามมติที่ประชุมที่ผู้ร้องทั้งสามขอให้เพิกถอนได้สิ้นสุดลงไปแล้วและมีการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีครั้งใหม่ลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามวาระการดำรงตำแหน่งครั้งใหม่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับมติเดิมว่าชอบหรือไม่ชอบและควรเพิกถอนหรือไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นสมควรยกคำร้อง ถือว่าเป็นการวินิจฉัยคำขอตามคำร้องครบถ้วนแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อีก
แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้กำหนดให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ก็ตาม แต่ตามข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด ข้อที่ 32 ระบุว่า "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่อันเป็นบทบัญญัติในหมวดและส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้กับการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้" และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 อันเป็นบทบัญญัติในหมวดและส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัดได้บัญญัติว่า "ถ้าการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัท กรรมการหรือผู้ถือหุ้นมีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้น" ดังนั้นผู้ร้องทั้งสามจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า มติที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคลอาคารชุดที่ผู้ร้องทั้งสามขอให้เพิกถอนนั้นไม่มีประโยชน์อีกต่อไปเพราะหมดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้จัดการตามมตินั้นแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลชอบที่จะยกคำร้องขอเพิกถอนมตินั้นได้ทันที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การยึดคืนรถที่ไม่ชอบ และสิทธิในการครอบครองใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน และผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วทั้งหมดเป็นของเจ้าของโดยผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องคืน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลันในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วโดยเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเอง..." แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญามาตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยึดถือเอาสัญญาข้อ 10 ที่ว่าหากโจทก์ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ก่อนโดยให้ระยะเวลาโจทก์พอสมควรในการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 การที่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ยึดรถคืนจากโจทก์เนื่องจากโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบ และตามพฤติการณ์ที่โจทก์ยังคงใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนรถที่เช่าซื้อย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกสัญญากันโดยปริยาย สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อแต่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทน เมื่อโจทก์ใช้ประโยชน์โดยไม่ให้ผลตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเช่นกัน เป็นความเสียหายทั้งสองฝ่ายหาใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายแต่ฝ่ายเดียวไม่ แม้จำเลยที่ 1 ยึดรถคืนโดยที่สัญญายังไม่เลิกกันเป็นการไม่ชอบก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นฝ่ายผิดอยู่มากที่ค้างชำระค่าเช่าซื้อนับแต่วันที่ครบกำหนดตามสัญญาถึงวันที่ถูกยึดรถเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือนเศษ อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองอาจเข้าใจผิดว่ามีสิทธิยึดรถที่เช่าซื้อคืน จึงเห็นควรให้ค่าเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์เป็นพับ
เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันและจำเลยทั้งสองยึดรถที่เช่าซื้อคืนโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น โจทก์ชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถต่อไป จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบรถคืนแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไป หากคืนรถไม่ได้ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้เพราะไม่มีวัตถุแห่งสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนด จึงต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4912/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของทรัพย์: ความยินยอมของเจ้าของทรัพย์ทำให้สัญญามีผลผูกพัน
การที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันโดยมิได้ฝ่าฝืนอำนาจของเจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้อ แม้โจทก์ที่เป็นฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้ออันเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติ มาตรา 572 ของป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 5 เช่าซื้อ ที่กำหนดให้เจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ให้เช่าซื้อได้ แต่กรณีนี้มีลักษณะพิเศษโดยเจ้าของทรัพย์สินให้ความยินยอมทำให้ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและมาตรา 572 ก็มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้สัญญาเช่าซื้อจะแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 572 แต่ก็เป็นสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ให้เช่าซื้อที่มิใช่เจ้าของทรัพย์สินได้รับความยินยอมของเจ้าของทรัพย์สินให้นำทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อได้จึงไม่เป็นโมฆะมีผลผูกพันคู่กรณี กรณีนี้เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาไปก็ได้ ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 มาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการกระทำผิดอาญา: จำเลยไม่มีเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิดและไม่สามารถเล็งเห็นผลการกระทำ
ก. ถูกผู้ตายพูดดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ ก. มิได้แสดงอาการโกรธแค้นหรือพูดตอบโต้ เพียงแต่ลุกขึ้นจากเตียงเดินไปมาเท่านั้น การที่ผู้ตายพูดเสียงดังจนอาจทำให้จำเลยซึ่งดูโทรทัศน์อยู่บนบ้านได้ยินนั้น ก็เป็นเพียงความคาดเดาของบุคคลอื่นที่อยู่ด้วย จำเลยดูโทรทัศน์ก็ย่อมมีเสียงจากโทรทัศน์ดังอยู่แล้ว เสียงพูดของผู้ตายถึงแม้จะดังขึ้นไปถึงข้างบนบ้าน แต่ก็ไม่น่าจะทำให้จำเลยได้ยินจนจับใจความได้ เพียงแต่รู้ว่ามีเสียงพูดดังผิดปกติ จำเลยจึงลงมาสอบถามว่ามีเรื่องอะไรกัน เมื่อ ก. ถามถึงขวานตัดไม้ จำเลยก็หยิบส่งให้ ขณะนั้น ก. มิได้มีอาการโกรธแค้นจะทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อ ก. ได้ขวานแล้ว ก. ก็ใช้ขวานฟันผู้ตายโดยบุคคลอื่นไม่คาดคิด การที่ ก. ฟันผู้ตายในทันทีเป็นสิ่งที่จำเลยย่อมไม่อาจเล็งเห็นผลหรือประสงค์ต่อผลเช่นนั้น เพราะจำเลยเพิ่งลงมาจากบนบ้านเพื่อสอบถามถึงเสียงเอะอะโวยวายผิดปกติ บุคคลอื่นๆ ซึ่งรับรู้เหตุการณ์มาโดยตลอดก็ยังไม่คาดคิดว่า ก. จะใช้ขวานฟันผู้ตาย เพราะ ก. ไม่แสดงอาการโกรธแค้นให้เห็น เมื่อเกิดเหตุแล้วก็เป็นธรรมดาที่จำเลยต้องพา ก. ออกไปจากที่เกิดเหตุ เนื่องจาก ก. กระทำความผิดร้ายแรง อาจมีญาติพี่น้องของผู้ตายทำร้าย ก. ได้พยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ ก. ใช้ขวานฟันผู้ตาย จำเลยจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของ ก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องได้โดยไม่ต้องบอกเลิกก่อน
การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีอ้างว่า มีเหตุอื่นใดๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3) อันก่อสิทธิฟ้องคดีได้โดยสมบูรณ์หาใช่กรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่มีเหตุอันจะต้องดำเนินการตามมาตรา 1056 ประกอบมาตรา 1055 (4) ไม่ โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องโดยหาต้องดำเนินการตามมาตรา 1056 ก่อน
การที่จำเลยและโจทก์ที่ 3 หย่าขาดกันตามคำพิพากษาตามยอมนั้น หาอาจหมายความว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน อันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 ได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมและชำระหนี้ตามคำพิพากษา ส่งผลให้ศาลไม่รับอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากยื่นเกินกำหนดที่ศาลอนุญาต คือวันที่ 19 ธันวาคม 2548 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง วันที่ 23 ธันวาคม 2548 จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและให้รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย โดยไม่ต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและไม่ต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าจำเลยมิได้นำเงินมาชำระตามตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กำหนด อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ยกคำร้อง และเมื่อศาลยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยแล้ว กรณีจึงไม่ต้องสั่งอุทธรณ์คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2548 อีก ดังนี้จึงมีผลเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิดเกี่ยวกับเอกสารทางราชการและการแจ้งความเท็จ การปรับบทกฎหมายและขอบเขตการแก้ไขโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ออกเป็นสามกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ความผิดดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะกระทำเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบงานทะเบียนราษฎรและมีจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวคือเพื่อให้ได้อาศัยอยู่กับสามีและบุตรในประเทศไทยอย่างถาวรก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชัดแจ้งและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 137, 265, 267, 268 วรรคแรก เป็นความผิดสามกรรม จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสองด้วย และลงโทษจำเลยที่ 1 สองกระทง กระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้และคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้พร้อมฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติว่าถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยต้องระวางโทษหนักขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้หนักขึ้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประนีประนอมยอมความต้องมีเจตนาชำระหนี้ชัดเจน ไม่ถือเป็นสัญญาหากเพียงตกลงซ่อมแซมเอง คดีมีปัญหาข้อเท็จจริงเกินสองแสนต้องห้ามฎีกา
การประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 นั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความเพียงว่า "ค่าเสียหายในการนี้ คู่กรณีทั้งสองตกลงกันเองได้และจะนำไปซ่อมกันเอง" ไม่มีสาระสำคัญแสดงว่าจำเลยเจรจาตกลงกับ ส. คนขับรถบรรทุกหกล้อที่โจทก์รับประกันภัยไว้ในเรื่องการชำระค่าเสียหายให้ชัดแจ้งแต่อย่างใด จึงไม่มีผลเป็นการประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย มูลหนี้ละเมิดจึงไม่ระงับสิ้นไปเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยนำรถยนต์บรรทุกหกล้อคันดังกล่าวไปซ่อมจนมีสภาพดีดังเดิม โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรมธรรม์ประกันภัย คุ้มครองความรับผิดทางละเมิดจากผู้ขับขี่เมาสุรา ข้อจำกัดการยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัย หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 2.12 ระบุว่า การประกันภัยความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะ หรือความรับผิดต่อผู้โดยสาร และความรับผิดต่อทรัพย์สิน ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลขณะที่อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ตามข้อ 2.12.7 และมีข้อสัญญาพิเศษตามข้อ 2.13 ระบุว่า ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทผู้รับประกันภัยจะไม่ยกข้อยกเว้นความรับผิดตามข้อ 2.12 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก หรือความรับผิดต่อผู้โดยสาร จากข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวย่อมหมายความว่า โดยหลักแล้วกรมธรรม์ประกันภัยจะคุ้มครองความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในเรื่องความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย ความรับผิดต่อผู้โดยสารที่อยู่ในรถยนต์ที่เอาประกันภัยที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย และความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย เว้นแต่เป็นกรณีผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่มีข้อสัญญาพิเศษยกเว้นให้รับผิดจากข้อยกเว้นข้างต้นอีก กล่าวคือ ถ้าเป็นกรณีความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกและความรับผิดต่อผู้โดยสาร แม้ผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผู้รับประกันภัยจะไม่ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก คงมีแต่เฉพาะกรณีความรับผิดต่อทรัพย์สินเท่านั้นที่ไม่มีข้อห้ามยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก ฉะนั้น เมื่อกรณีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย โดยอาศัยสัญญาประกันภัยดังกล่าวให้ชำระเงินค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหาย แบ่งเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่ารถยนต์ที่เสื่อมราคา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยนั้นแล้ว จำเลยที่ 4 ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดเฉพาะต่อความเสียหายในทรัพย์สินของโจทก์
ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง ฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องผู้เประกันภัยด้วย ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัย เสียไป จำเลยที่ 4 จึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์
of 11