คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 21

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 18 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินเวนคืน: พิจารณาจากราคาตลาด ณ เวลาที่แจ้งเวนคืน และความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน
แม้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มดำเนินการโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ - แขวงลาดยาวฯ และต่อมาที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2526 แต่ในเมื่อจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืน จนกระทั่งต่อมามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ออกมาใช้บังคับ ดังนั้น การดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทซึ่งยังค้างคาไม่เสร็จสิ้นอยู่นั้น หากมีการดำเนินการอย่างใดที่จะต้องกระทำต่อไปในเรื่องนี้ก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ - แขวงลาดยาวฯ ออกมาแล้วกว่า 16 ปี นับว่าล่าช้าเกินสมควรไปมากจนผิดปกติ ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่เร่งดำเนินการเวนคืนให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่สมควรจะนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งผ่านพ้นไปกว่า 16 ปี มาคำนึงศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี 2517 มาเป็นปี 2531 ก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินประมาณ 2 ปีนั้น ชอบตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8156/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การประเมินราคาที่ดินที่เหลืออยู่หลังเวนคืน และสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์
ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนทำให้ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนเป็นที่ดินผืนใหญ่กว่า 20 ไร่ และ 50 ไร่สามารถใช้ประโยชน์แยกเป็นเอกเทศต่างหากจากกันได้ แต่ละส่วนมีด้านหนึ่งกว้างประมาณ 160 เมตร อยู่ติดทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้เจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดทางคู่ขนานและประชาชนโดยทั่วไปได้ใช้ทางคู่ขนานนี้สัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนจะอยู่ใกล้กับทางต่างระดับ แต่ก็อยู่ติดทางคู่ขนานที่เกือบเป็นทางตรง จึงสามารถเข้าสู่และออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่เหลือจากการเวนคืนโดยใช้ทางคู่ขนานนี้ได้การคมนาคมเข้าสู่และออกจากที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนจะสะดวกกว่าเดิมมาก สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากเดิมมากเช่นนี้ย่อมทำให้ที่ดินดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นจากเดิมมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากราคาประเมินฯ ที่ปรับสูงขึ้นจากเดิมมาก กล่าวคือ บางส่วนจากตารางวาละ 800 บาท เป็น 10,000 บาท บางส่วนจากตารางวาละ2,500 บาท เป็น 4,500 บาท บางส่วนจากตารางวาละ 800 บาทเป็น 1,500 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน73.2 ตารางวา ส่วนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 81 ไร่ 2 งาน94.8 ตารางวา เทียบอัตราส่วนกันแล้วประมาณ 1 ต่อ 4.5 ดังนั้นแม้หากที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นจากเดิมเล็กน้อยเพียง 1 ใน 4.5 ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนก็จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเสียอีกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นตารางวาละ 1,875 บาท โดยไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นของที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์อยู่แล้ว หากเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์อีกก็จะไม่เป็นธรรมแก่สังคม
โจทก์มิได้อุทธรณ์เรียกเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินทำสวนส้มต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่งการอุทธรณ์เป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดจะต้องทำก่อนคดีมาสู่ศาล ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์เพิ่งเรียกร้องเงินค่าทดแทนในส่วนนี้มาพร้อมกับคำฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากการขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินทำสวนส้ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: หลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนตามราคาตลาดในวันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และผลกระทบจากการดำเนินการที่ล่าช้า
จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวงในรัฐบาลและมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 4 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นผู้แทน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้นเป็นผู้แทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีทางหลวงรวมทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสำรวจที่ดินเพื่อเวนคืนสำหรับสร้างทางหลวงอันเป็นสิ่งสาธารณูปโภค ดังนั้น การเวนคืนที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงเพื่อให้ได้ที่ดินมาใช้สร้างทางหลวงแผ่นดิน ย่อมเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง นอกจากนี้ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งบัญญัติให้เวนคืนที่ดิน จำเลยที่ 2 ยังกำหนดให้จำเลยที่ 3เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และกำหนดให้จำเลยที่ 4เป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ออกประกาศแจ้งการเวนคืนและให้ความเห็นชอบกับการกำหนดเงินค่าทดแทนของคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ส่วนจำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้ แต่จำเลยที่ 4มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4เพื่อให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ใหม่ให้เหมาะสม โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้
คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในค่าทดแทนนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่งเป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ โจทก์จึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้แม้เป็นเวลาก่อนที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก็ตาม
หลังจากที่มีการเวนคืนที่ดินพิพาทแล้วได้มีการโอนสิทธิในที่ดินไปยังโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 16 วรรคท้าย และเมื่อไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา จะถือเอาราคาภายหลังจากที่มีการสร้างทางแล้วเสร็จมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาไม่ได้เพราะเมื่อมีการสร้างทางหลวงแผ่นดินเสร็จสมบูรณ์แล้วย่อมทำให้สภาพของที่ดินในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงจากในขณะเริ่มต้นดำเนินการเวนคืนและมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ดี การที่ฝ่ายจำเลยเพิ่งนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 22เมษายน 2536 ภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อฯ มีผลใช้บังคับแล้วถึงเกือบสามสิบปีเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในเวลาอันควรเป็นการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าการกระทำดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามในราคาตารางวาละ 10 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(3) เพียงประการเดียว ซึ่งใช้ฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 10กรกฎาคม 2508 ย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนมีเพียงเท่ากับเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมกรณีนี้ฝ่ายจำเลยเพิ่งกลับมามีหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2535ขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงหลักเกณฑ์ที่จะนำมาคำนึงในการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมต้องเปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์จากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับมาเป็นกลางปี 2533 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ฝ่ายจำเลยจะมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงประมาณ 2 ปีซึ่งเทียบเคียงกับระยะเวลาที่ควรต้องใช้ในกรณีปกติที่มีการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7170/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนการเวนคืนต้องเป็นค่าเสียหายโดยตรง และศาลมีอำนาจกำหนดราคาที่ดินส่วนที่เหลือลดลงได้แม้ไม่มีพระราชกฤษฎีกา
ค่าเสียหายที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจะมีสิทธิได้รับเพราะเหตุที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย ต้องเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น การที่โจทก์ที่ 1 และ ส. จะต้องไปเช่าบ้านอยู่ในระหว่างที่รอการก่อสร้างบ้านใหม่ มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสามกำหนดหลักการไว้ว่าถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาสูง ให้เอาราคาสูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทน หรือทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่ราคาลดลงด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ไม่สามารถนำหลักการสำคัญดังกล่าวมาใช้บังคับได้ หากที่ดินของโจทก์ที่ 1 และ ส. ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับราคาที่ลดลงให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7094/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: สิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนของเจ้าของที่ดิน ผู้เช่า และผู้ได้รับความเสียหาย
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนสังหาริมทรัพย์ฯได้กำหนดบุคคลผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการดำเนินการเพื่อการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้ในมาตรา 18(1) ถึง (6) แยกไว้ต่างหากจากกัน การดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์รายการเดียวก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลหลายฝ่าย อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิแก่บุคคลหลายคนที่จะได้รับเงินค่าทดแทนแยกต่างหากจากกันได้
โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินก่อสร้างตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างมีกำหนด 30 ปี เพื่อนำไปให้บุคคลภายนอกเช่าช่วงภายในกำหนดระยะเวลาที่เช่า และโจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อส่งมอบให้แก่เจ้าของที่ดินเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้วขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่เวนคืนฯมีผลใช้บังคับโจทก์คงเป็นเจ้าของตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง จึงจัดเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม มาตรา 18(2)
แม้ในขณะที่มีการดำเนินการเพื่อเวนคืนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องยังไม่ได้ตกเป็นของเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม มาตรา 18(1) ถึง (6) ก็ตาม แต่เมื่อครบกำนด 30 ปี ตามสัญญาเช่าที่ดินตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องจะตกเป็นของเจ้าของที่ดินทันที จึงถือได้ว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าหนี้โจทก์ในหนี้ที่โจทก์จะต้องส่งมอบตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้แก่เจ้าของที่ดิน เมื่อตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องถูกเวนคืนไปเสียก่อนที่จะตกเป็นกรรมสิทธิของเจ้าของที่ดินอันเป็นผลให้ได้เงินค่าทดแทนมาจากการเวนคืนเงินค่าทดแทนนี้จึงเป็นทรัพย์สินซึ่งเข้าแทนที่ตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคสอง และ 228 วรรคหนึ่งจำเลยซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนจึงต้องแจ้งการกำหนดเงินค่าทดแทนและการที่จะใช้เงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 231 เมื่อเจ้าของที่ดินไม่สามารถจะตกลงกับโจทก์ได้ โจทก์และเจ้าของที่ดินต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้นำเงินจำนวนนั้นไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน เว้นแต่โจทก์จะหาประกันให้ไว้ตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 232 ดังนั้น ที่ฝ่ายจำเลยให้โจทก์กับเจ้าของที่ดินตกลงเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนกันให้ได้แล้วจึงมีสิทธิที่จะตกลงทำสัญญารับเงินทดแทนจากฝ่ายจำเลยได้นั้นเป็นการดำเนินที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อโจทก์กับเจ้าของที่ดินตกลงกันไม่ได้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่อาจจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนรายใดได้เพราะมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอื่น ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนจึงวางเงินค่าทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 28 วรรคสอง กรณีเช่นนี้ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนทั้งหมดไปเพียงผู้เดียว
ผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ จัดเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(3) และเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนอันมีสิทธิได้เงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นตามมาตรา 21 วรรคท้าย สิทธิของผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแยกต่างหากจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวและสิ่งปลูกสร้าง และแยกต่างหากจากเจ้าของที่ดิน ดังนั้นที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนเบื้องต้นให้แก่ผู้เช่าช่วงรวมกันกับโจทก์และเจ้าของที่ดินเป็นเงินจำนวนหนึ่งในลักษณะกรรมสิทธิ์รวม และนำเงินค่าทดแทนเบื้องต้นดังกล่าวไปฝากไว้ต่อธนาคารออมสินในนามของโจทก์กับเจ้าของที่ดินและผู้เช่าช่วงรวมกันจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3428/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วันใช้บังคับพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ คือวันเริ่มใช้บังคับ มิใช่ระยะเวลา 4 ปี และการคำนวณดอกเบี้ยค่าทดแทน
วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามความใน พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) หมายถึงวันที่เริ่มใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา มิใช่ทุก ๆ วันในระยะเวลาสี่ปีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว ฯลฯ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 มีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7214/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การคำนวณค่าทดแทนที่เหมาะสม (ราคาตลาด, ความเสียหาย, ดอกเบี้ย)
การที่ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหนังสือเชิญโจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนนั้นเป็นกรณีที่ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ แจ้งให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญาซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ตามความในมาตรา 10 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เมื่อโจทก์มิได้ไปตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับจำเลยผู้ว่าการการทางพิเศษฯ จึงมีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทราบ ถือได้ว่าเป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนตามความ ในมาตรา 25 วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีสิทธิจะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการวางเงินค่าทดแทนดังกล่าว ราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดตารางวาละ 70,000 บาท น่าจะเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2533 แต่เมื่อพิจารณาสภาพทำเลที่ตั้งที่ดินของโจทก์ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับถนนรามอินทรา และอยู่ติดกับซอยเป็นสุขซึ่งสามารถออกสู่ถนนลาดพร้าวและถนนสุขาภิบาล 1 ด้วยแล้วราคาที่ดินของโจทก์ควรมีราคาสูงกว่านั้น โดยน่าจะมีราคาตารางวาละ 75,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ 90,000 บาทและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยโดยให้เหตุผลอันเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 จ่ายเงินให้แก่โจทก์เมื่อปี 2536หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 จึงกำหนดให้ตารางวาละ 90,000 บาท นั้นไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21(1) ซึ่งให้กำหนดตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับ ที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ติดถนนรามอินทรา กิจการค้าวัสดุก่อสร้างของโจทก์เป็นการประกอบกิจการขนาดใหญ่พอสมควรมีอาคารใช้ในการประกอบกิจการถึง 3 คูหา และมีโกดังเก็บวัสดุก่อสร้างอีก 1 หลัง น่าเชื่อว่าโจทก์ได้รับประโยชน์เป็นกำไรจากการประกอบการพอสมควร การที่โจทก์ต้องออกจากที่ดินและหยุดการประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและต้องเสียทำเลทางการค้าที่ดีไป รวมทั้งสูญเสียผลประโยชน์ ที่ควรจะพึงได้ในเวลาต่อมานั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้รับ ความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ ที่ถูกเวนคืน ชอบที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย ให้แก่โจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณากิจการ และกำไรที่โจทก์พึงได้จากการค้าขายวัสดุก่อสร้างแล้ว ที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้เป็นเงิน 46,636 บาท นั้นยังต่ำไป ควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เพิ่มให้แก่โจทก์อีก 200,000 บาทจึงจะเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2710/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่าทดแทนที่ดินเวนคืน, การฟ้องเรียกค่าเสียหาย, และค่าขึ้นศาล: ศาลฎีกาตัดสินเรื่องการประเมินราคา, ขอบเขตการเรียกร้องค่าเสียหาย, และการคืนค่าขึ้นศาล
การกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนนั้นจะต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21(1) ถึง (5) บัญญัติไว้ประกอบกัน การที่ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทน ให้แก่โจทก์โดยอาศัยราคาประเมินจากสำนักงานกลางประเมินการจัดหาที่ดินเพื่อกิจการของรัฐ กรมที่ดิน และอาศัยราคาซื้อขายที่ดินข้างเคียงที่อยู่ตรงกันข้ามกับที่ดินของโจทก์ที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดขณะนั้นมาเป็นเกณฑ์พิจารณา นับว่าได้นำหลักฐานทั้ง 5 ประการตามมาตรา 21(1) ถึง (5) มาพิจารณาประกอบแล้วจึงเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงและค่าทดแทนความเสียหายที่ต้อง ขาดประโยชน์ในที่ดินที่ต้องเวนคืนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 บัญญัติบังคับไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าทดแทนทั้งสองจำนวนดังกล่าวเอาแก่จำเลย โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 เป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่จะต้องเวนคืนโดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนมาจำนวนเดียวกัน โดยมิได้แบ่งแยกว่าแต่ละคนมีสิทธิได้เงินจำนวนเท่าใด อันเป็นการใช้สิทธิร่วมกันมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลรวมกันในอัตราสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อมีการเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าฝ่ายโจทก์จะต้องเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เรียกเก็บเกินให้แก่ฝ่ายโจทก์ตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนเสียเกินมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือ & ขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เวนคืน
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่โจทก์ขอค่าทดแทนเพิ่มในอุทธรณ์ของโจทก์ ค่าทดแทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้จึงเป็นค่าทดแทนที่ต้องถือว่าโจทก์พอใจแล้วไม่มีเหตุที่โจทก์จะโต้แย้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องศาลเรียกค่าทดแทนเพิ่ม การกำหนดเงินค่าทดแทนจะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการ มิใช่เพียงข้อหนึ่งข้อใด เมื่อโจทก์และจำเลยไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นได้ ว่าที่ดินโจทก์ที่จะต้องเวนคืนมีราคาตามธรรมดาที่ซื้อขายกัน ในท้องตลาดเป็นราคาเท่าใด ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้ตาม ความเหมาะสมโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนเป็นคนละส่วนคนละกรณีกัน กับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ไม่ได้กำหนด เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์คงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียงว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับ ที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนต่ำเกินไป ไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนว่าราคาลดลงด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: หลักเกณฑ์การประเมินค่าทดแทนต้องคำนึงถึงราคาตลาด สภาพที่ดิน และวัตถุประสงค์การเวนคืน
การพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน นอกจากจะคำนึงถึงราคาประเมินของกรมที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แล้วยังจะต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1)(4) และ (5) ประกอบ การพิจารณาด้วย สำหรับราคาที่ดินซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด คดีนี้ โจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ขณะถูกเวนคืนมีการซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 5,000 บาท ก็มีแต่คำเบิกความของโจทก์ลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน จึงไม่น่าเชื่อว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์จะมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 5,000 บาทและเมื่อพิจารณาถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินโฉนดแล้ว ก็ได้ความว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่มา มีที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ และอยู่ห่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 ประมาณ3 ถึง 4 กิโลเมตร จะออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องผ่านที่ดินของผ.บิดาโจทก์ไปออกถนนกรมชลประทานเลียบประตูน้ำพระอุดมไปทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 แต่ภายหลังการเวนคืนและสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 แล้ว แม้ที่ดินส่วนที่เหลือจะยังถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบอยู่ แต่ก็อยู่ห่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 เพียง 100 เมตร เห็นได้ว่าโดยสภาพแล้วที่ดิน ของโจทก์ส่วนที่เหลือย่อมมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอนซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือหลังจากเวนคืนแล้ว มีผู้มาขอซื้อในราคา 15,000,000 บาท แสดงว่าโจทก์ได้ประโยชน์จากการเวนคืนมากกว่าเสียประโยชน์ ส่วนที่โจทก์ขอให้กำหนดค่าทดแทนตารางวาละ 1,000 บาท เท่ากับของ ส. นั้นก็ได้ความว่าที่ดินโจทก์ห่างที่ดิน ส. ประมาณ 1 กิโลเมตรต่างก็เป็นที่นา แต่ที่ดิน ส.อยู่ติดถนนเกษตรอุดม มีไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าถึง ที่ดินส่วนที่ติดถนนเกษตรอุดม จำเลยที่ 2จ่ายค่าทดแทนให้ตารางวาละ 3,000 บาท ที่ดินส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปจ่ายค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,000 บาท แต่ที่ดินโจทก์ถูกปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะไฟฟ้าและน้ำประปาก็เข้าไม่ถึง ดังนั้นสภาพความเจริญและที่ตั้งของที่ดิน ส. จึงดีกว่าที่ดินโจทก์ ไม่อาจกำหนดให้เท่ากันได้ และเนื่องจากเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนครั้งนี้เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก อันเป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมิได้มีการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 400 บาทก็ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21(1) ถึง (5) เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว
of 2