คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 26

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4949/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีเดิมเรื่องค่าทดแทนเวนคืน ศาลตัดสินฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้อน เนื่องจากเป็นเรื่องเดียวกัน
คดีก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทซึ่งถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่ขอเพิ่มในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินร้อยละ 10.75 ต่อปี ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเฉพาะดอกเบี้ยที่จำเลยคำนวณให้ในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี จากเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยเพิ่มให้โดยอ้างว่าการคำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่าสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับคดีนี้กับคดีก่อนเป็นอย่างเดียวกัน มูลกรณีที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มและดอกเบี้ยก็เนื่องจากที่ดินแปลงเดียวกัน ดอกเบี้ยที่โจทก์ทั้งสองฟ้องในคดีนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของดอกเบี้ยที่ฟ้องไว้แล้วในคดีก่อน แม้ว่ารัฐมนตรีฯ จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมาภายหลังที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องก่อนแล้วก็ตาม ศาลในคดีก่อนก็ต้องพิพากษาให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองในเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคท้าย เมื่อคดีนี้กับคดีก่อนเป็นเรื่องเดียวกัน โจทก์ทั้งสองนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยในระหว่างพิจารณา จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
การที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน ขอให้รับคำฟ้องโจทก์ทั้งสองโดยย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาต่อไปนั้น เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง 1 ข้อ 2(ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: หลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนตามราคาตลาดในวันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และผลกระทบจากการดำเนินการที่ล่าช้า
จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวงในรัฐบาลและมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 4 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นผู้แทน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้นเป็นผู้แทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีทางหลวงรวมทั้งมีหน้าที่ดำเนินการสำรวจที่ดินเพื่อเวนคืนสำหรับสร้างทางหลวงอันเป็นสิ่งสาธารณูปโภค ดังนั้น การเวนคืนที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงเพื่อให้ได้ที่ดินมาใช้สร้างทางหลวงแผ่นดิน ย่อมเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง นอกจากนี้ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งบัญญัติให้เวนคืนที่ดิน จำเลยที่ 2 ยังกำหนดให้จำเลยที่ 3เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และกำหนดให้จำเลยที่ 4เป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ออกประกาศแจ้งการเวนคืนและให้ความเห็นชอบกับการกำหนดเงินค่าทดแทนของคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ส่วนจำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้ แต่จำเลยที่ 4มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4เพื่อให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ใหม่ให้เหมาะสม โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้
คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ทราบและไม่พอใจในค่าทดแทนนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก่อน กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 25 วรรคหนึ่งเป็นกำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้สิทธิอุทธรณ์ ไม่ใช่กำหนดเวลาเริ่มต้นให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ โจทก์จึงชอบที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้แม้เป็นเวลาก่อนที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนก็ตาม
หลังจากที่มีการเวนคืนที่ดินพิพาทแล้วได้มีการโอนสิทธิในที่ดินไปยังโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 16 วรรคท้าย และเมื่อไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯที่บัญญัติให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา จะถือเอาราคาภายหลังจากที่มีการสร้างทางแล้วเสร็จมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาไม่ได้เพราะเมื่อมีการสร้างทางหลวงแผ่นดินเสร็จสมบูรณ์แล้วย่อมทำให้สภาพของที่ดินในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงจากในขณะเริ่มต้นดำเนินการเวนคืนและมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ดี การที่ฝ่ายจำเลยเพิ่งนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 22เมษายน 2536 ภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อฯ มีผลใช้บังคับแล้วถึงเกือบสามสิบปีเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในเวลาอันควรเป็นการดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าการกระทำดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามในราคาตารางวาละ 10 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(3) เพียงประการเดียว ซึ่งใช้ฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 10กรกฎาคม 2508 ย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนมีเพียงเท่ากับเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมกรณีนี้ฝ่ายจำเลยเพิ่งกลับมามีหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2535ขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงหลักเกณฑ์ที่จะนำมาคำนึงในการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมต้องเปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์จากวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับมาเป็นกลางปี 2533 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ฝ่ายจำเลยจะมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวงประมาณ 2 ปีซึ่งเทียบเคียงกับระยะเวลาที่ควรต้องใช้ในกรณีปกติที่มีการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7214/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การคำนวณค่าทดแทนที่เหมาะสม (ราคาตลาด, ความเสียหาย, ดอกเบี้ย)
การที่ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหนังสือเชิญโจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนนั้นเป็นกรณีที่ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ แจ้งให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญาซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ตามความในมาตรา 10 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เมื่อโจทก์มิได้ไปตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับจำเลยผู้ว่าการการทางพิเศษฯ จึงมีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทราบ ถือได้ว่าเป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนตามความ ในมาตรา 25 วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีสิทธิจะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการวางเงินค่าทดแทนดังกล่าว ราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดตารางวาละ 70,000 บาท น่าจะเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2533 แต่เมื่อพิจารณาสภาพทำเลที่ตั้งที่ดินของโจทก์ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับถนนรามอินทรา และอยู่ติดกับซอยเป็นสุขซึ่งสามารถออกสู่ถนนลาดพร้าวและถนนสุขาภิบาล 1 ด้วยแล้วราคาที่ดินของโจทก์ควรมีราคาสูงกว่านั้น โดยน่าจะมีราคาตารางวาละ 75,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ 90,000 บาทและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยโดยให้เหตุผลอันเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 จ่ายเงินให้แก่โจทก์เมื่อปี 2536หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 จึงกำหนดให้ตารางวาละ 90,000 บาท นั้นไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21(1) ซึ่งให้กำหนดตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับ ที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ติดถนนรามอินทรา กิจการค้าวัสดุก่อสร้างของโจทก์เป็นการประกอบกิจการขนาดใหญ่พอสมควรมีอาคารใช้ในการประกอบกิจการถึง 3 คูหา และมีโกดังเก็บวัสดุก่อสร้างอีก 1 หลัง น่าเชื่อว่าโจทก์ได้รับประโยชน์เป็นกำไรจากการประกอบการพอสมควร การที่โจทก์ต้องออกจากที่ดินและหยุดการประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและต้องเสียทำเลทางการค้าที่ดีไป รวมทั้งสูญเสียผลประโยชน์ ที่ควรจะพึงได้ในเวลาต่อมานั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้รับ ความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ ที่ถูกเวนคืน ชอบที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย ให้แก่โจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณากิจการ และกำไรที่โจทก์พึงได้จากการค้าขายวัสดุก่อสร้างแล้ว ที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้เป็นเงิน 46,636 บาท นั้นยังต่ำไป ควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เพิ่มให้แก่โจทก์อีก 200,000 บาทจึงจะเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7210/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การประเมินค่าทดแทนที่ดิน, ราคาที่ดินส่วนที่เหลือ, และดอกเบี้ยค่าทดแทน
เงินค่าทดแทนของที่ดินที่จะต้องเวนคืนกับเงินค่าทดแทนของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงนั้นเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ต้องแยกพิจารณาที่ดินคนละส่วนกันซึ่งในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์นี้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ มิได้พิจารณาถึงเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลงด้วยเมื่อโจทก์อุทธรณ์แต่เรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยมิได้กล่าวถึงว่าที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลง จะถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้ย่อมไม่ได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม กำหนดถึงกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นเมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เพิ่มนับแต่วันวางเงินค่าทดแทนในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสิน ที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่จะให้ดอกเบี้ยเกินอัตราที่โจทก์ขอไม่ได้ เมื่อไม่ปรากฏทางนำสืบของโจทก์หรือจำเลยทั้งสองว่าได้มีการวางเงินค่าทดแทนเมื่อใด แต่อย่างช้าที่สุดต้องมีการวางเงินค่าทดแทนในวันที่ 13 มิถุนายน 2537ซึ่งเป็นวันที่ผู้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืน อสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทราบจึงต้องคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2537 ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเวนคืนและการกำหนดค่าทดแทนที่ดิน: ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการเพิ่มค่าทดแทนและดอกเบี้ย
แม้จำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมิใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนก็ตาม แต่จำเลยก็มีฐานะเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งมีอำนาจตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และเป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ ของโจทก์ที่ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินการที่จำเลยมิได้ วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคำอุทธรณ์ก็ดี หรือหากวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ก็ดี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ที่ดินของโจทก์มีทางเข้าออกสู่ถนนใหญ่ได้สะดวกพอสมควร และบริเวณใกล้เคียงที่ดินโจทก์ใช้เป็นที่ทำสวน ทำนา และใช้อยู่อาศัยด้วย มิใช่ที่ดินที่ร้างมิได้ทำประโยชน์แต่อย่างใดซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินของ จ. 1 กิโลเมตรเศษเมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่ จ. ได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 21,000 บาท กับเงินค่าทดแทนที่กำหนดให้โจทก์ ตารางวาละ 9,500 บาท จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมากกว่าหนึ่งเท่าตัว จึงสมควรเพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์มากกว่าที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แต่ที่ดินของโจทก์และบริเวณที่ดินข้างเคียงยังไม่มีสภาพเป็นชุมชน สภาพของถนนที่เข้าสู่ที่ดินของโจทก์เป็นถนนดินลูกรังทั้งยังอยู่ในซอยที่แยกจากซอยสุคนธสวัสดิ์ซึ่งอยู่ห่างจากซอยสุคนธสวัสดิ์ ประมาณ 1 กิโลเมตร และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าที่ดินของ จ. มีสภาพ ทำเล และที่ตั้งใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์หรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้น กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 18,000 บาทจึงสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 14,000 บาท การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยมีคำสั่งให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ มีลักษณะเป็นทำนองขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้แก่โจทก์นั่นเอง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้โจทก์ได้ไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอของโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี อันเป็นอัตราคงที่นั้นไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา 26 วรรคสาม แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเวนคืน: กำหนดวันเริ่มคิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย และอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของธนาคารออมสิน
ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ที่โจทก์จะพึงได้รับนี้มีพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้าย และมาตรา 28 วรรคสอง กำหนด ให้โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือศาล มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินซึ่งเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นโดยไม่จำต้องรอให้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดเสียก่อน ดังนี้เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 วันวางเงินตามความหมายแห่งมาตรา 26 วรรคสุดท้ายและมาตรา 28 วรรคสองคือวันที่สิ้นสุด 60 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือ ของฝ่ายจำเลยให้ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทน และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อใด ก็ต้องถือวันเดือนปีที่ออกหนังสือดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้น นับกำหนดเวลาให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยภายใน 60 วัน จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อ ทำสัญญารับเงินค่าทดแทนลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 สิ้นสุด 60 วัน ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2536 วันวางเงินค่าทดแทน จึงเป็นวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 ดังนั้นวันเริ่มคิดดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนเพิ่มจึงเป็นวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าฝ่ายจำเลย จะชำระค่าทดแทนเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือ & ขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.เวนคืน
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนตามจำนวนที่โจทก์ขอค่าทดแทนเพิ่มในอุทธรณ์ของโจทก์ ค่าทดแทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้จึงเป็นค่าทดแทนที่ต้องถือว่าโจทก์พอใจแล้วไม่มีเหตุที่โจทก์จะโต้แย้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องศาลเรียกค่าทดแทนเพิ่ม การกำหนดเงินค่าทดแทนจะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการ มิใช่เพียงข้อหนึ่งข้อใด เมื่อโจทก์และจำเลยไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นได้ ว่าที่ดินโจทก์ที่จะต้องเวนคืนมีราคาตามธรรมดาที่ซื้อขายกัน ในท้องตลาดเป็นราคาเท่าใด ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้ตาม ความเหมาะสมโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนเป็นคนละส่วนคนละกรณีกัน กับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ไม่ได้กำหนด เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์คงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพียงว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับ ที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนต่ำเกินไป ไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนว่าราคาลดลงด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหากรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มค่าทดแทนแล้ว
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และที่โจทก์กับจำเลยนำสืบฟังได้ว่ารัฐมนตรีฯ ได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์แล้วเป็นตารางวาละ 45,000 บาท ซึ่งมากกว่าที่โจทก์อุทธรณ์ขอเพิ่มเป็นตารางวาละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทจึงไม่มีข้อโต้แย้งที่โจทก์จะอ้างว่ายังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีฯ ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงที่นำมาสู่การวินิจฉัยปัญหาก็ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์คำให้การจำเลยและที่โจทก์กับจำเลยนำสืบซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในสำนวนโดยการดำเนินการกระบวนพิจารณาโดยชอบศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5621/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดอายุความฟ้องคดีค่าทดแทนเวนคืน: นับจากวันพ้น 60 วันหลังรับอุทธรณ์รัฐมนตรี
กองนิติการ กรมโยธาธิการเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การที่เจ้าหน้าที่กองนิติการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับอุทธรณ์เรื่องเงินทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2535 ถือได้ว่า รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26ไว้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคสองสิทธิของโจทก์ในการฟ้องคดีนี้เข้ากรณีที่สอง ดังนั้นสิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี จึงเริ่มนับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2535โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2537 เกินกว่า 1 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดที่รัฐมนตรีต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยค่าทดแทนเวนคืน: เริ่มนับจากวันครบกำหนดจ่ายเงินตามสัญญาซื้อขาย
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติถึงกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้นและมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตาม มาตรา 10ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์2536 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสี่จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 10 มิถุนายน 2536 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม เมื่อเป็นกรณีมีวันที่ต้องมีการจ่ายแล้ววันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยจึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าว ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง
of 2