คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 36

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินเวนคืน: พิจารณาจากราคาตลาด ณ เวลาที่แจ้งเวนคืน และความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน
แม้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มดำเนินการโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ - แขวงลาดยาวฯ และต่อมาที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2526 แต่ในเมื่อจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืน จนกระทั่งต่อมามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ออกมาใช้บังคับ ดังนั้น การดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทซึ่งยังค้างคาไม่เสร็จสิ้นอยู่นั้น หากมีการดำเนินการอย่างใดที่จะต้องกระทำต่อไปในเรื่องนี้ก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง การพิจารณาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเท่าใดจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ - แขวงลาดยาวฯ ออกมาแล้วกว่า 16 ปี นับว่าล่าช้าเกินสมควรไปมากจนผิดปกติ ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่เร่งดำเนินการเวนคืนให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่สมควรจะนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งผ่านพ้นไปกว่า 16 ปี มาคำนึงศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี 2517 มาเป็นปี 2531 ก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินประมาณ 2 ปีนั้น ชอบตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7066/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนที่ดินเวนคืน: การคำนวณราคา, ดอกเบี้ย, และการแก้ไขคำพิพากษา
การเวนคืนที่ดินตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ฯ พ.ศ.2511และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ฯพ.ศ.2516 การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการต่อไปในเรื่องค่าทดแทนต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21(1)ให้นำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกามาพิจารณาในการกำหนดค่าทดแทนด้วย แต่พระราชกฤษฎีกา มีผลใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2511 จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งราคาทดแทนให้โจทก์ทราบหลังจากนั้นมากกว่า 20 ปี จึงไม่เป็นไปตามครรลอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2521มาตรา 33 วรรคสาม จึงให้นำราคาซื้อขายใน พ.ศ.2531ซึ่งเป็นปีที่เริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่มาพิจารณาแทน สำเนาโฉนดที่ดินระบุไว้ชัดแจ้งว่า ที่ดินที่ถูกเวนคืนเนื้อที่43 ตารางวา เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 จำเลยทั้งสามไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ถูกต้องจึงฟังได้ว่าที่ดินถูกเวนคืนเนื้อที่ 43 ตารางวา จริง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า โจทก์ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 10,972,500 บาท แต่พิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 10,927,500 บาท นั้นเป็นการผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26วรรคสุดท้าย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในเวลาที่ต่างกันศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีคงที่ตลอดไปจึงไม่ชอบซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแก้ให้ถูกต้องได้