คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 ม. 26 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2367/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: การคำนวณดอกเบี้ยค่าทดแทนเริ่มนับจากวันที่จ่ายเงินให้ผู้ถูกเวนคืน
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินทดแทนนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่ม การรับผิดชำระดอกเบี้ยจึงต้องนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนหาใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยหรือไม่ และหนังสือของจำเลยที่แจ้งโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทนไม่ระบุว่าให้ไปรับเงินวันใดแต่ได้ความว่าจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539 จึงถือได้ว่าเป็นวันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ดิน ส่วนที่เพิ่มนับแต่วันนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5064/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดค่าทดแทนเวนคืนที่ดิน: ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนใหม่ได้ หากราคาเดิมไม่เป็นธรรม และมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดว่าการกำหนดค่าทดแทนถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่นั้น ถ้าในทางพิจารณาได้ความว่าการกำหนดค่าทดแทนไม่ถูกต้องและเป็นธรรม ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้ใหม่ให้ถูกต้องและเป็นธรรมแก่คู่ความมิใช่ต้องพิพากษาเพิกถอนการกำหนดค่าทดแทนของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น
จำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยโจทก์ไม่จำต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว เพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษได้บัญญัติไว้แล้วซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9885/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: หลักเกณฑ์การคำนวณค่าทดแทน, อัตราดอกเบี้ย, และการอุทธรณ์
ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 3 กำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมทางหลวงและอธิบดีเพื่อเรียกค่าทดแทนเพิ่มได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 26วรรคแรกได้บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติให้เจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้มีสิทธิได้รับภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 10ซึ่งโจทก์กับกรมทางหลวงได้ทำบันทึกข้อตกลงกันตามมาตรา 10เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535อันเป็นวันสุดท้ายที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนฯ กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 8เมษายน 2535 และโจทก์ได้รับหนังสือของกรมทางหลวงให้ไปรับเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ฉบับที่ 2 ต่อรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535อันเป็นการอุทธรณ์ภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 25 วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7161/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่าทดแทนที่ดินเวนคืน: ราคาตลาด, ดอกเบี้ย, และการปรับแก้คำพิพากษา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534มาตรา 36 วรรคหนึ่ง เป็นบทกฎหมายที่กำหนดแนวทางว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะและในกรณีใดบ้าง และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายส่วนวรรคสองเพียงแต่วางหลักการกว้าง ๆ ว่าการกำหนดค่าทดแทนนั้นต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติ การได้มาสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน ดังนั้นรายละเอียดของการดำเนินการเวนคืนและการกำหนดค่าทดแทนที่เป็นธรรมจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะซึ่งในขณะเกิดกรณีพิพาทคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 อันเป็นกฎหมายแม่บทเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณากำหนดค่าทดแทนได้กำหนดไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงต้องคำนึงถึง (1) ถึง (5)ของมาตราดังกล่าวในวันที่ 22 เมษายน 2531 ซึ่งเป็นวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่14 มิถุนายน 2534 จึงไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ได้มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ กันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่าย ทั้งทางนำสืบ ของโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยวางเงิน ค่าทดแทนในวันใด แต่พออนุมานได้ว่าก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองไปทำคำเสนอขอรับเงินค่าทดแทนจึงให้ จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว