คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 438

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 807 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11315/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าที่สอดคล้องกับชื่อที่จดทะเบียนไว้แล้วของผู้อื่น และการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้า
จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 และยังคงใช้ชื่อดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อเนื่องกันฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ทั้งสองใช้คำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อปู่โจทก์ที่ 2 เป็นชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้ากับการค้าทองมานานกว่า 50 ปี จนมีชื่อเสียงก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลย โจทก์ที่ 1 แม้เป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้นามว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 18 การที่จำเลยประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด" ซึ่งมีคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย ย่อมทำให้เกิดความสับสนหลงผิดว่ากิจการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง อันทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสื่อมเสียประโยชน์แม้ว่าชื่อนิติบุคคลจำเลยจะประกอบด้วยคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า "โต๊ะกัง" และโจทก์ที่ 1 กับจำเลยจะเป็นนิติบุคคลคนละประเภทก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิใช้คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย และการที่นายทะเบียนของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยินยอมจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความเห็นของนายทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการของนายทะเบียนดังกล่าวจะก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะใช้ชื่อบริษัทจำเลยเสมอไป หากการใช้ชื่อบริษัทจำเลยก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและนิติบุคคลอื่นที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 67 และมีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยระงับความเสียหายและร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ โดยมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า "โต๊ะกัง" รวมอยู่ด้วย และการที่จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลห้างโจทก์ที่ 1 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้จนเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 18 จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากหน้าที่-ปล่อยปละละเลย-การควบคุมดูแล-ความรับผิดทางละเมิด-อายุความ
จำเลยที่ 1 หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ งานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองและเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุ อันเป็นการบริหารงานภายในของวิทยาลัยการปกครองมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ที่หากจำเลยที่ 1 จะมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 วินิจฉัยสั่งการ จะต้องทำเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยชอบแล้ว แม้การมอบหมายจะกระทำด้วยวาจาก็ตาม
จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรม แม้จะมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมการปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 กลับปล่อยปละละเลยหน้าที่ควบคุมของตน ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์รถยนต์คันพิพาท โดยไม่จัดให้มีสมุดบันทึกการใช้และรายการซ่อมบำรุงรถยนต์คันพิพาทตามระเบียบของราชทัณฑ์ขับรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีสภาพไม่สมบูรณ์ออกจากวิทยาลัยการปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชนรถยนต์ของบุคคลอื่นได้รับความเสียหายที่หน้าวิทยาลัยการปกครองกรมการปกครองโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้ว
จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างประจำของวิทยาลัยการปกครอง ตำแหน่งคนงานมีหน้าที่ตัดหญ้าและทำความสะอาดบริเวณวิทยาลัย จำเลยที่ 4 ไม่ได้อนุญาตให้ อ. ขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากวิทยาลัยแต่ อ. ขอให้จำเลยที่ 4 นั่งไปในรถยนต์เพื่อขับรถยนต์กลับ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ มิได้ร่วมกันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 432 วรรคหนึ่ง ทั้งเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนทำอันก่อให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวและความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดคนละส่วนเท่า ๆ กัน
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ 10 ปี ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยไว้ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการก่อสร้างอาคารชำรุด วิศวกรควบคุมงานต้องรับผิดร่วมกับผู้ก่อสร้างและเจ้าของโครงการ
การที่จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าอาคารทาวน์เฮาส์ที่ขายให้โจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ขออนุญาตจากทางราชการ ยังยืนยันต่อโจทก์ว่าอาคารดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาอย่างดีถูกต้องตามหลักวิศวกรรมไม่จำต้องมีเสากลางอาคาร จึงเป็นการจงใจปกปิดข้อความจริงเพื่อจูงใจให้โจทก์ซื้ออาคาร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อเข้าอยู่อาศัยในอาคารได้ 1 ปีเศษ อาคารเริ่มแตกร้าว พื้นอาคารชั้นล่างแตกและโก่งงอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ตรวจสอบแล้วพบว่าฐานรากของอาคารเอียงและบิดตัว ตำแหน่งศูนย์กลางของเข็มและเสาเยื้องกันมากทำให้เกิดการแตกร้าวของโครงสร้าง อาคารดังกล่าวไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยควรจะทุบและรื้อถอน ซึ่งโจทก์ได้ทุบและรื้อถอนอาคารนั้นแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 4 เป็นฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างไม่ได้ใช้ความรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบเพื่อให้อาคารมีความมั่นคงและปลอดภัยในการอยู่อาศัย ทั้งเข้าควบคุมงานก่อสร้างอาคารและขออนุญาตก่อสร้างจากทางราชการให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือแม้จะฟังว่าลายมือชื่อวิศวกรและผู้ควบคุมงานก่อสร้างเป็นลายมือชื่อปลอมก็มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 4 ในช่องวิศวกรและผู้ควบคุมงาน และยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของจำเลยที่ 4 ไปใช้ในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อสำนักงานเขต โดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนอาคารและค่าสูญเสียตัวอาคารอันทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้สอยอาคารหรือนำอาคารออกขายให้แก่ผู้อื่นแม้โจทก์มิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้เนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8414/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของข้าราชการในการอนุมัติเงินกู้โดยมิชอบ และการสนับสนุนการทำสัญญาปลอมแปลงเอกสารเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น
ในการพิพากษาคดี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยทั้งเจ็ดขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นพิพากษาข้ออื่นๆ อีก โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานละเมิดแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง ดังนี้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ แม้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คัดค้านประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ ไว้ เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งเจ็ดได้สืบพยานมาจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ที่ยังมิได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นๆ ที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้คดีเสร็จไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก็ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยโจทก์ที่ 1 มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 แต่คำสั่งดังกล่าวสรุปการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการทุจริต หากแต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องเท่านั้น โจทก์ที่ 2 จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง แต่ผลการสอบสวนก็ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2538 อธิบดีกรมการปกครองมีบันทึกเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปความได้ว่า กองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครองมีความเห็นว่า ผลการสอบสวนมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาและฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องได้และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามรับทราบวันที่ 14 ตุลาคม 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 จึงต้องถือว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพิ่งรู้ตังผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
การสอบสวนทางวินัยเพราะเหตุบกพร่องต่อหน้าที่ราชการเป็นคนละเรื่องกับการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง เพราะหลักเกณฑ์ความรับผิดทางวินัยกับความรับผิดทางแพ่งเป็นคนละกรณีกัน การบกพร่องต่อหน้าที่ราชการซึ่งต้องรับผิดทางวินัยอาจไม่เข้าเกณฑ์ความรับผิดทางแพ่งฐานละเมิดก็ได้ เมื่อผลของคำสั่งลงโทษทางวินัยยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งหรือไม่ โจทก์ที่ 2 ชอบที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งอีกได้ มิใช่เป็นการกระทำโดยไม่ชอบหรือมีเจตนากระทำเพื่อขยายอายุความฟ้องคดีละเมิด
บทบัญญัติของกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางอาญาและในทางแพ่ง เป็นคนละส่วนแยกออกต่างหากจากกันดังนั้น แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ทั้งสองก็ฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ทั้งสองได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสองโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความและได้วินิจฉัยด้วยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 5 ต่างมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ตั้งประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำไว้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 5แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 5 หวนกลับมาหยิบยกประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำขึ้นกล่าวอ้างอีก จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 บรรยายไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการด้วยกัน และจำเลยที่ 6 กับที่ 7 ซึ่งเป็นเอกชน จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย และขอให้บังคับจำเลยทุกคนชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง โดยระบุรายละเอียดด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ละคนมีตำแหน่งหน้าที่ราชการอะไร และจำเลยแต่ละคนมีส่วนปฏิบัติหน้าที่ในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปี ในฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ด้วย ความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำมาเป็นหลักประกันให้ดี ไม่เรียกหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ให้เพียงพอและไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจข้อหา และสามารถให้การต่อสู้คดีของโจทก์ทั้งสองได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
สัญญากู้เป็นเพียงเครื่องมือที่จำเลยทั้งเจ็ดใช้ในการฉ้อฉลกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองก็มิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน หากแต่เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่ชอบที่จะนำข้อตกลงในสัญญากู้มาอ้างว่าโจทก์ทั้งสองอาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนท้ายได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าเสียหายจากละเมิด และการฟ้องขับไล่กรณีครบกำหนดสัญญาเช่า
จำเลยทำสัญญาเช่าแผงจำหน่ายอาหารจากโจทก์โดยสัญญาเช่าระบุว่า กรณีที่มีปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญา ผู้เช่ายอมให้โจทก์เป็นคณะอนุญาโตตุลาการทำการชี้ขาดและผู้เช่าต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็็นกรณีที่ระบุถึงปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาเช่า แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพราะเหตุครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่ยอมออกจากแผงที่เช่า มิใช่เป็นกรณีที่มีปัญหาข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาเช่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่จำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน
เมื่อสัญญาเช่าแผงจำหน่ายอาหารครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้สัญญาเช่าเป็นอันระงับลงโดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนแผงที่เช่าแก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ยอมส่งคืนแผงที่เช่าแก่โจทก์เป็นการผิดสัญญาเช่าและการที่จำเลยยังครอบครองแผงที่เช่าต่อไปโดยโจทก์ไม่ยินยอมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ทั้งฐานผิดสัญญาและฐานกระทำละเมิด แต่ตามสัญญาเช่าไม่มีข้อความใดกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่าในกรณีสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือระงับลงเพราะครบกำหนดเวลาเช่า จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยไม่ยอมออกจากแผงที่เช่า แต่ค่าเสียหายในมูลละเมิดดังกล่าวที่เกิดก่อนวันฟ้องคดีย้อนขึ้นไปเกิน 1 ปี เป็นอันขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 658/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเพื่อลงทุน ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิด
โจทก์ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมาลงทุนสร้างทาวน์เฮาส์ในที่ดินของโจทก์ออกขายว่า โจทก์จะชำระดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้โดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ภาระในการชำระดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ปิดกั้นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะ เป็นเหตุให้ลูกค้าของโจทก์บอกเลิกสัญญาซื้อขายทาวน์เฮาส์และเรียกเงินคืน ทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินจากลูกค้าไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยดังกล่าวให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8888/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด, ความรับผิดของผู้บริหาร, การประมาทเลินเล่อ, และการตรวจสอบการเงินของหน่วยงาน
จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาการดำเนินกิจการต่างๆ ของโรงเรียนตั้งแต่วันดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไป แต่กรมสามัญศึกษาโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปจนถึงวันที่จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมีจำนวนเท่าใด ย่อมไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินทั้งหมดได้
กรมสามัญศึกษาโจทก์เป็นกรมในรัฐบาลมีอธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นผู้บริหารราชการ อธิบดีกรมสามัญศึกษาจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รวมทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีด้วย ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้แก่นิติบุคคลทั่วไปที่ต้องประทับตราของโจทก์ในการลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมาใช้แก่โจทก์
ในวันที่กรมสามัญศึกษาโจทก์ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแม้จะถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดแล้ว ก็ยังไม่อาจถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวด้วย เมื่อคณะกรรมการสอบสวนสอบสวนเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมสามัญศึกษาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยจึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ปรากฏว่ารองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 โดยจำเลยที่ 3 ไม่แต่งตั้งผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันเพื่อตรวจสอบการรับจ่ายเงินในแต่ละวัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจสอบพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้ภายหลังเหตุคดีนี้ จะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้
จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการับจ่ายเงินและเป็นประธานกรรมการเก็บรักษาตรวจนับเงินประจำวัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการประมาทเลินเล่อดังกล่าวของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5391/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยความประมาทในคดีแพ่งหลังมีคำพิพากษาคดีอาญา ศาลแพ่งมีอำนาจพิจารณาความรับผิดชอบเพิ่มเติมได้
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่งทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ป.พ.พ. มาตรา 442 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง มีข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยเรื่องค่าสินไหมทดแทนตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังนั้น การที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้จำเป็นที่โจทก์ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่าและโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน ไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยประมาทมากกว่า และเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม 29,500 บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของโรงเรียนต่อความเสียหายของนักเรียนจากการใช้ธนูในกิจกรรมเรียน ครูต้องดูแลความปลอดภัยนักเรียน
คำฟ้องคดีแพ่งคู่ความไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นมากล่าวอ้างในคำฟ้องเพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและอ้างเหตุผลที่จำเลยต้องรับผิดก็พอแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจยกบทกฎหมายขึ้นมาปรับแก่คดีตามข้อเท็จจริงที่พิพากษาได้ความเองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 คดีนี้โจทก์ฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังนี้ ศาลมีอำนาจนำ พ.ร.บ. ดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ได้
ธนูที่เกิดเหตุเป็นธนูที่ใช้ประกอบการแสดงละครวิชาภาษาไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่สอนวิชาดังกล่าวให้แก่นักเรียน ดังนั้น นอกจากจำเลยที่ 4 จะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้อบรมสั่งสอนนักเรียนในวิชาภาษาไทยแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ให้ได้รับความปลอดภัย ให้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน ไม่ไปก่อเรื่องเดือดร้อนเสียหายใดๆ แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ 4 สั่งให้นักเรียนทำธนูเป็นอุปกรณ์การเรียน จำเลยที่ 4 น่าจะใช้ความระมัดระวัง คาดหมายหรือเล็งเห็นได้ว่าธนูดังกล่าวอาจเกิดอันตรายแก่กายได้ หากนักเรียนนำไปใช้ยิงเล่นใส่กัน และจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้นักเรียนนำธนูไปทำลายทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยหรือห้ามมิให้นำธนูไปใช้เล่นกัน เพราะปรากฏว่ายังมีธนูในห้องเรียนอีกหลายคันเช่นวิสัยผู้มีอาชีพครูทั่วไปจะพึงปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 4 ปฏิบัติไม่ชอบและขาดความรอบคอบจึงเป็นความประมาทเลินเล่อ มิได้เป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกาย การที่จำเลยที่ 4 ทำการสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียน ภ. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนวิชาภาษาไทยเสียหายแก่ร่างกาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 4 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายได้ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาตาจำนวน 50,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 100,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลอื่นนำเงินมามอบให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ต้องลดน้อยลงไปด้วย จึงไม่อาจนำเงินที่ทางโรงเรียน ภ. และจำเลยที่ 5 ช่วยเหลือโจทก์จำนวน 35,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวน 30,000 บาท และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานจำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด รวมทั้งที่โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเล่นยิงธนูใส่กันกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ก็มีส่วนรับผิดเช่นเดียวกันตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายทั้งสองจำนวนรวมเป็นเงิน 80,000 บาท จึงไม่เป็นจำนวนที่สูงเกินความเป็นจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3621/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดปล่อยน้ำเสียโรงงานทำปลาตาย ศาลฎีกายืนโรงงานต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย
เมื่อน้ำที่โจทก์สูบเข้าไปในบ่อตกปลาของโจทก์เป็นน้ำที่มีสารพิษอันเนื่องจากโรงงานของจำเลยปล่อยน้ำทิ้งลงสู่คูน้ำสาธารณะและเป็นเหตุให้ปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ดังกล่าวตาย การที่จำเลยไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่า น้ำจากโรงงานของจำเลยที่ระบายลงสู่ท่อน้ำทิ้งและไหลลงสู่คูน้ำสาธารณะดังกล่าวเป็นน้ำใสและปลอดจากสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ ลำพังคำเบิกความลอยๆ ปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนโดยเฉพาะพยานผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่ปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย
แม้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงความเสียหายได้แน่ชัด แต่รูปการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบแสดงความเสียหายของปลาในบ่อตกปลาของโจทก์ ศาลย่อมกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดได้
of 81