คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 438

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 807 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานโจทก์โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงครบถ้วน และอำนาจศาลอุทธรณ์ในการย้อนสำนวน
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โดยโจทก์มีภาระการพิสูจน์ การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น ต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความซึ่งเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโจทก์แถลงขอสืบ ส. ทนายโจทก์เป็นพยานปากแรก โดยโจทก์ยืนยันว่า ส. รู้เห็นการประกอบอาชีพของโจทก์ เมื่อยังไม่ได้ฟังคำพยานย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ส. เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงหรือไม่ และพยานหลักฐานของโจทก์ที่จะนำสืบในประเด็นข้อนี้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ประกอบกับโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนสรุปว่า ส. ไม่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องการประกอบอาชีพของโจทก์โดยตรงจึงให้งดสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าว คงมีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว แล้วพิพากษาคดีไปโดยยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2)
แม้โจทก์มีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้บังคับจำเลยชำระเงินตามฟ้อง แต่การที่ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการก่อสร้าง - ผู้ว่าจ้างต้องร่วมรับผิดในความเสียหายจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ใกล้เคียง
โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 แบ่งแยกความเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 ไว้เป็นสองส่วน ส่วนแรกได้แก่ค่าเสียหายทางด้านความเสียหายของทรัพย์สินซึ่งคือสิ่งปลูกสร้างอาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ที่ 1 ที่ได้รับความเสียหายตามข้อ 1 ซึ่งยังมิได้ประเมินกันให้ถูกต้องและจะดำเนินการสำรวจโดยสถาบันซึ่งทั้งสองฝ่ายยอมรับภายในเดือนตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นและค่าใช้จ่ายในการสำรวจทั้งหมด ส่วนที่สองได้แก่ค่าสินไหมทดแทนความเดือนร้อนรำคาญทั้งความปลอดภัยเกี่ยวกับชีวิตและอนามัย ซึ่งความเสียหายส่วนหลังนี้จำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์ที่ 1 ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่เกิดข้อพิพาทจนถึงเดือนธันวาคม 2537 แล้วเป็นเงิน 500,000 บาท แต่หากการก่อสร้างในส่วนโครงสร้างของอาคารไม่เสร็จภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็จะยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 อีกเดือนละ 35,000 บาท นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไป มิได้คำนวณรวมกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังคงมีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายทางด้านทรัพย์สินซึ่งตามบันทึกข้อตกลงข้อ 1 ที่โจทก์ที่ 1 มิได้รับชดใช้
บันทึกข้อตกลงข้อ 1. มีข้อความระบุว่า ความเสียหายจากการก่อสร้างอาคารที่มีผลทำให้อาคารทาวน์เฮาว์เสียหายจะดำเนินการสำรวจโดยสถาบันซึ่งทั้งสองฝ่ายยอมรับภายในเดือนตุลาคม 2537 ไม่มีการตกลงว่าจะต้องชดใช้เงินจำนวนเท่าใด คู่กรณีตกลงจะชำระเมื่อใด และที่ไหน อย่างไร ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องรับผิดในมูลหนี้ละเมิดตามเดิม จึงไม่เป็นการตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้ละเมิดยังคงมีอยู่ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ได้ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428 ได้
ตามสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ต้องทำการก่อสร้างตามแบบแปลนและคำสั่งของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่เกิดขึ้นจากการทำการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในที่ชุมนุมชนซึ่งมีอาคารบ้านเรือนตลอดจนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกันมาก่อนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสามารถในการฟ้องคดีของผู้พิการและการรับผิดของนายจ้างในคดีละเมิด
อำนาจฟ้องในคดีนี้เป็นของโจทก์ซึ่งเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลย แต่เนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสกายพิการและสมองได้รับการกระทบกระเทือนจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จนถึงวันฟ้อง ว. ภริยาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้แทนในนามของโจทก์ซึ่งก็ปรากฏตามคำฟ้องว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ ว. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และตั้ง ว. เป็นผู้พิทักษ์ แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่ได้มีคำสั่ง และต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำสั่งว่า อาการของโจทก์ไม่ใช่เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ แต่เข้าลักษณะบุคคลวิกลจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 28 จึงมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ว. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นคนวิกลจริตมาตั้งแต่ ว. ยื่นคำร้องขอดังกล่าว ดังนั้น ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งถือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 โจทก์จะเสนอข้อหาต่อศาลได้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวโดยต้องมีผู้อนุบาลเป็นผู้ทำการแทน แต่ตอนยื่นฟ้องยังไม่มีคำสั่งศาลตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงไม่มีสิทธิทำการแทนเท่ากับโจทก์เสนอข้อหาเอง อันเป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถเท่านั้น มิใช่ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้อนุบาลโจทก์ ว. จึงมีอำนาจที่จะทำการแทนโจทก์ในการเสนอข้อหาของโจทก์ได้ การบกพร่องในเรื่องความสามารถนี้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ตามมาตรา 56 เมื่อได้แก้ไขโดยร้องขอต่อศาลและศาลมีคำสั่งตั้งให้ ว. เป็นผู้อนุบาลมีอำนาจทำการแทนโจทก์แล้ว เหตุบกพร่องในเรื่องความสามารถก็หมดไป ทำให้การฟ้องคดีแทนโจทก์ที่บกพร่องมาแต่ต้นเป็นอันสมบูรณ์ด้วยการแก้ไขนี้แล้ว
จำเลยทำละเมิดแก่โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสกายพิการ สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เสียความสามารถประกอบการงานอย่างสิ้นเชิงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต้องลาออกจากราชการ แม้โจทก์นำสืบความเสียหายไม่ได้แน่นอน ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ส่วนที่จำเลยอ้างว่าหากไม่เกิดเหตุละเมิดก็ไม่แน่ว่าโจทก์จะรับราชการจนเกษียณหรือไม่ และอาจได้รับเงินบำเหน็จบำนาญนั้น ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับโดยชอบอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลย
ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเป็นค่าเครื่องรับโทรทัศน์และตู้เย็นในห้องพักผู้ป่วยเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกอันจำเป็นแก่ผู้ป่วยและคนเฝ้าไข้ ทั้งโรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ใช้ในห้องอยู่แล้ว ถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์ต้องเสียไป จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8271-8272/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ, การฟ้องจำเลยที่ 2, ค่าปลงศพ, ค่าขาดไร้อุปการะ, ข้อกฎหมายที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการสังกัดกรมทางหลวง จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของทางราชการกลับจากตรวจงานและได้เกิดเหตุชนกับรถยนต์ที่มี ม. เป็นผู้ขับขี่เป็นเหตุให้ ม. กับผู้โดยสารในรถ 2 คน ถึงแก่ความตาย แม้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้อง ม. ด้วยก็ตาม แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนตามรายงานการสอบสวนไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวน การวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดีนี้ย่อมเป็นไปตามที่คู่ความนำสืบ
กรณีมีผู้ทำละเมิดหลายคน ผู้ทำละเมิดทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดนั้นต่อโจทก์เต็มจำนวน
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำบุญงานศพ การทำหนังสือประวัติผู้ตายและค่าของชำร่วยแจกในงานศพ เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีจึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและเหมาะสมในการจัดการศพของผู้ตายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะยังเป็นผู้เยาว์และ พ. ผู้แทนโดยชอบธรรมจะเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายก็ไม่ทำให้ความรับผิดในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองลดน้อยลง
แม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากรถแท็กซี่ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ผู้โดยสารประมาทด้วย ศาลพิจารณาค่าเสียหายเหมาะสม
โจทก์ขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูง ทั้งที่เป็นทางร่วมทางแยกซึ่งโจทก์ต้องลดความเร็วของรถลงเพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 โจทก์จึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย
รถแท็กซี่คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 มีชื่อและตราของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ที่ประตูรถทั้งสองด้าน คนทั่วไปที่ได้พบเห็นจะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถออกวิ่งรับคนโดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย โดยจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการรับบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
ผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องทุพพลภาพ ความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่เป็นตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้ด้วย และศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ยึดรถยนต์โดยไม่ชอบ ชดใช้ค่าเสียหายขาดประโยชน์และค่าเสื่อมราคา
สินค้ารถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำจำกัดความไว้แล้ว การที่กรมสรรพสามิตจำเลยออกคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 ให้รถยนต์ซึ่งทำจากชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย แม้มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับและด้านหลังเปิดโล่งเป็นรถยนต์นั่งตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 05.01 ด้วย เป็นการเปลี่ยนประเภทรถยนต์กระบะตามความหมายของรถยนต์กระบะ ให้เป็นรถยนต์นั่ง มิใช่การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในขอบอำนาจโดยเคร่งครัด ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
ระหว่างที่รถยนต์คันของโจทก์ถูกจำเลยยึดไว้ ย่อมทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ และระยะเวลาที่ผ่านไปเกือบ 2 ปี ย่อมทำให้รถยนต์ที่จอดทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งานเก่าลง อุปกรณ์บางอย่างหมดสภาพหรือหมดอายุการใช้งานซึ่งเป็นเหตุให้รถยนต์มีราคาลดลงจากเดิม อันเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์มิได้ใช้รถยนต์ และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ให้แก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าครบกำหนด-ละเมิด: สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย & การลดเบี้ยปรับ
สัญญาเช่าอาคารทั้งสองฉบับครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว สัญญาเช่าย่อมระงับลง โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่ามีหน้าที่ต้องส่งคืนอาคารที่เช่าแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่า การที่จำเลยไม่ยอมส่งคืนอาคารที่เช่า เป็นการผิดสัญญาเช่าและการที่จำเลยยังครอบครองอาคารที่เช่าต่อไปโดยโจทก์ไม่ยินยอมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ทั้งฐานผิดสัญญาและฐานละเมิด เพียงแต่เมื่อใช้สิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาแล้วโจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ เพราะเป็นค่าเสียหายมูลกรณีเดียวกัน
สัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 10 ข้อ 1 วรรคสองระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดหรือสิ้นสุดลงด้วยเหตุใดก็ตาม "ผู้เช่า" ต้องส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" ทันที ในกรณีที่ "ผู้เช่า" ไม่สามารถส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" "ผู้เช่า" ยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ "ผู้ให้เช่า" วันละ 2,000 บาท นับแต่วันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่ได้ส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่ผู้เช่าผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบอาคารที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าในทันที โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าข้อ 1 วรรคสอง ได้ แต่เบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
สัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 11 ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม "ผู้เช่า" จะต้องย้ายออกไปจากที่เช่าทันที ถ้าไม่ขนย้ายออกไปยอมให้ค่าเสียหายค่าปรับเป็นเงินวันละ 2,000 บาท แก่ "ผู้ให้เช่า" ทุกวันจนกว่าจะขนย้ายออกไป ซึ่งระบุเงื่อนไขในการยอมให้ค่าเสียหายเฉพาะกรณีมีการบอกเลิกสัญญาเช่าเท่านั้น แตกต่างจากสัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 10 แต่แม้จะเป็นกรณีที่สัญญาเช่าสิ้นสุดหรือระงับลงเพราะครบกำหนดเวลาเช่าไม่เข้าเงื่อนไขที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่า แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดได้ซึ่งโจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องและนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดแล้ว ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำของลูกจ้าง, การชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถ และความรับผิดของบริษัทประกันภัย
คำฟ้องโจทก์บรรยายแล้วว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างและขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกที่ลูกจ้างโจทก์ขับได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งเพียงพอให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ ส่วนที่ไม่ได้ระบุว่าลูกจ้างโจทก์เป็นใคร มิใช่ข้อสาระสำคัญและเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พารองประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ไปด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถือว่าทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นวันหยุดมิใช่วันทำงานปกติของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเกิดเหตุนอกเวลาทำการงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่
โจทก์นำรถยนต์บรรทุกไปซ่อมแซมไม่สามารถใช้งานได้เป็นเวลา 173 วัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถในระหว่างซ่อมแซม และค่าเสียหายจากการขาดรายได้ที่ส่งหนังสือพิมพ์ซึ่งบรรทุกอยู่ในรถขณะเกิดเหตุไปจำหน่ายไม่ทันและหนังสือพิมพ์ถูกส่งคืน
ตามกรมธรรม์ระบุว่า จำเลยร่วมจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ดังนี้ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถและค่าเสียหายที่ขาดรายได้จากหนังสือพิมพ์ของโจทก์ที่ส่งล่าช้าจำหน่ายไม่ได้ ย่อมเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อันเกิดจากการกระทำละเมิดโดยตรงที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากละเมิดในสัญญาเช่าซื้อ: เงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของราคารถ, ค่าสินไหมทดแทนไม่ซ้ำซ้อน
โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัท ต. โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อ ส. ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจาก ส. ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัย แม้ว่าบริษัท ก. ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัท ต. ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์เพียงบางส่วนมิได้ชำระราคารถยนต์ทั้งหมด ราคารถยนต์ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้
โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ ส. ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของ ส. ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ส. ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้ อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัท ต. ได้รับไปจากบริษัท ก. ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายรถเช่าซื้อจากละเมิด: เงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของราคารถ, ไม่ซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทน
โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาโดยชำระเงินดาวน์และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ เมื่อ ส. ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จาก ส. ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกับภัยรถยนต์ของ ส. แม้ว่าบริษัท ก. ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จะได้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไปแล้ว ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่ซึ่งโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้เท่านั้น เงินดาวน์ดังกล่าวเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุและไม่เป็นค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับไปจากบริษัท ก. ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน
of 81