คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/9

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10025/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องบอกล้างนิติกรรมโมฆียะกรรมหลังถอนฟ้องคดีเดิม
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ย่อมเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่คำฟ้องที่โจทก์ได้ถอนฟ้องก็อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาต เท่ากับว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน เพราะกฎหมายกำหนดให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการฟ้องร้อง คดีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยละเมิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์และจำเลยกระทำกันนอกศาลหลังจากมีการถอนฟ้องแล้ว จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำกันในชั้นศาลและมิใช่เป็นกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีอายุความ 10 ปี
ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม และห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม และมาตรา 193/9 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องล่วงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5467/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิด/สัญญาจ้างแรงงาน และผลกระทบต่อการบังคับชำระหนี้และหักเงินโบนัส
ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากการที่ลูกค้าของโจทก์แต่ละรายไม่ชำระหนี้ หนี้ของลูกค้าแต่ละรายเป็นหนี้ที่จำเลยแต่ละคนมีหน้าที่สรุปวิเคราะห์ มีหน้าที่ตรวจผ่านงานและกลั่นกรองงานและมีหน้าที่อนุมัติ ซึ่งต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกันมิอาจแบ่งแยกจากกันได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยทุกคนที่มีหน้าที่อำนวยสินเชื่อแก่ลูกค้าในรายเดียวกันนั้นย่อมเป็นสิทธิอันเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 15 และที่ 17 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 16 ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
แม้โจทก์มีระเบียบให้กันเงินโบนัสของพนักงานไว้เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด แต่เมื่อค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 7 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ขาดอายุความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิกันเงินโบนัสของจำเลยที่ 7 ไว้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14858/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดจำนองหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นโมฆะ ผู้พิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเพิกถอนได้
เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด จำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ตามมาตรา 22 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับร้อยเอก ท. จดทะเบียนจำนองที่ดินให้แก่ผู้คัดค้าน ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การจดทะเบียนจำนองในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิจากนิติกรรมที่เสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมดังกล่าว แม้ผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยสุจริตก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะกลับมีผลสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่เคยรับทราบและให้ความยินยอมในการจดทะเบียนจำนองของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งการยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างเช่นนี้ มิใช่เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้อง ตามมาตรา 193/9 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องกำหนดอายุความที่จะบังคับให้ผู้ร้องต้องใช้สิทธิภายในกำหนดอายุความแต่อย่างใด และการที่ผู้ร้องขอเพิกถอนนิติกรรมการจำนองโดยยังไม่เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมอื่นก็ไม่เป็นการทำให้ผู้คัดค้านเสียสิทธิ เนื่องจากสิทธิของผู้คัดค้านมีอยู่โดยชอบอย่างไร ผู้คัดค้านก็ยังบังคับตามสิทธิของผู้คัดค้านได้ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดก: การสะดุดหยุด และเริ่มนับใหม่เมื่อการครอบครองทรัพย์สินสิ้นสุด
คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าส่วนกลาง - ผู้ซื้อทรัพย์จากขายทอดตลาดมีหน้าที่ชำระหนี้ค้างชำระของผู้ขายได้ - ศาลฎีกาแก้ไขค่าปรับและเงินเพิ่ม
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ
โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3528/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและดอกเบี้ยค่าชดเชย/วันหยุดพักผ่อนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
ระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 อายุความ
ดอกเบี้ยของค่าชดเชยและดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยไม่กล่าวถึงดอกเบี้ย จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นหนี้ประธาน
เงินบำเหน็จและเงินรางวัลประจำปีไม่ใช่เงินอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ที่พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจวินิจฉัยออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 124 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างฟ้องศาลได้ภายในกำหนดอายุความ ไม่อยู่ภายใต้กำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 30 วัน ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสอง (นายจ้าง) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินรางวัลประจำปีให้แก่ตน เป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ให้ ก.พนักงานของโจทก์ที่ 1 ไปรับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองย่อมทราบดีว่ามีคำสั่งของจำเลยที่ 1 มาถึงตน การที่ ก. รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนรับคำสั่งในวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเหตุที่เจ้าหน้าที่นำคำสั่งมามอบให้ล่าช้าโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นมาเป็นเหตุปฏิเสธว่าไม่ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 กรณีถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แล้ว โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีวันที่ 16 มิถุนายน 2549 จึงเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่าเป็นโมฆะ สินสมรส การจัดการสินสมรสโดยไม่ชอบ และสิทธิในการแบ่งทรัพย์
โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างกัน ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการลดจำนวนภาษีย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์ที่ขอแบ่งทรัพย์ซึ่งทำมาหาได้ จึงเป็นการขอเข้าจัดการสินสมรสร่วมกับจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอได้ตราบเท่าที่โจทก์และจำเลยยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันอยู่และกรณีนี้มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ยินยอมให้จำเลยจัดการสินสมรสเพียงผู้เดียวตลอดมา จนกระทั่งปี 2543 โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยมีภริยาอีกคน โจทก์จึงขอให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าการที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมแบ่งถือว่าจำเลยจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสได้ตามมาตรา 1484 วรรคสอง และมาตรา 1492
เงินค่าซื้อที่ดินและเงินสดที่ยกให้บุตรทั้งสี่คนรวมแล้วประมาณ 40,000,000 บาท เป็นการยกสินสมรสให้บุตรโดยความยินยอมของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสนี้ ส่วนเงินที่ได้มาจากการทำมาหาได้ของจำเลยหลังจากจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ จึงต้องฟังว่า เงินดังกล่าวและดอกเบี้ยอีก 660,000 บาท เป็นสินสมรส ต้องนำมาแบ่งกันสำหรับหุ้นด้อยสิทธิของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 จำเลยไปไถ่ถอนในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 อันเป็นการไถ่ถอนก่อนครบกำหนด และไม่แบ่งแก่โจทก์ ย่อมเป็นการจัดการสินสมรสโดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเข้าจัดการสินสมรสในส่วนนี้ได้ จำเลยต้องแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่ตามรายการโอนเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยเข้าบัญชีที่โจทก์เสนอแสดง ไม่ปรากฏรายการโอนดอกเบี้ย 5,000,000 บาท เข้าบัญชีตามที่โจทก์เบิกความ จึงไม่อาจบังคับในส่วนของดอกเบี้ยได้ ส่วนที่ดินพร้อมบ้านพิพาท จำเลยซื้อที่ดินมาในปี 2541 และปลูกบ้านในปี 2544 ถึง 2545 ดังนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิใส่ชื่อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่าลวงเพื่อเลี่ยงภาษี: สิทธิการแบ่งสินสมรสยังคงมีอยู่
การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีแต่ยังคงอยู่กินและอุปการะเลี้ยงดูกันเสมือนมิได้หย่ากันเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างกัน การหย่าดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 คำฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าการหย่าเป็นโมฆะและขอแบ่งทรัพย์ที่ทำมาหาได้ จึงเป็นการขอเข้าจัดการสินสมรสร่วมกับจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอได้ตราบเท่าที่โจทก์และจำเลยยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันอยู่ และกรณีนี้มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องจากสัญญาเบิกถอนเงินเกินวงเงิน สัญญาเลิกแล้ว ถือเป็นการทำงานต่าง ๆ
โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เกินกว่าเงินฝากในบัญชีโดยอาศัยข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไปก่อนคืน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 และไม่ปรากฏว่าในเดือนถัดไปโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินอีก คงมีเพียงรายการคิดดอกเบี้ยเท่านั้น ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่มีการคำนวณดอกเบี้ยของรอบเดือนดังกล่าว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2541 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความเดิม ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 23 มิถุนายน 2548 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนสินสมรสโดยไม่ยินยอม และประเด็นเรื่องอายุความฟ้องร้อง
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีนำที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสไปโอนให้บุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1480 วรรคสอง ได้กำหนดระยะเวลาให้ฟ้องคดีซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ จึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 193/29
of 5