คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อนันต์ ชุมวิสูตร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 265 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7724/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการแข่งขันหลังพ้นสภาพการจ้างงาน: สัญญาไม่เป็นโมฆะ หากจำกัดเฉพาะเจาะจงและมีระยะเวลา
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะไม่ไปประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ หรือมีส่วนร่วมส่งเสริมหรือสนับสนุนบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของโจทก์ เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทธุรกิจไว้อย่างชัดเจน ไม่ได้ห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาด โดยยังสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในด้านอื่นที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงได้ ทั้งข้อห้ามดังกล่าวก็มีผลเพียง 3 ปีเท่านั้น จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ และเป็นธรรมแก่คู่กรณีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากความผิดทางอาญา (เสพยาเสพติด) แม้เข้ารับการฟื้นฟูแล้ว ก็เป็นเหตุให้เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย พนักงานต้องไม่กระทำความผิดทางอาญา และจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่พนักงานกระทำความผิดอย่างร้ายแรง และประกาศของจำเลยที่ว่า เมื่อจำเลยหรือหน่วยงานราชการตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของพนักงานจะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยคือ เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย การที่โจทก์มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษแม้จะเป็นเพียงผู้เสพและได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นผลเสียหายกับองค์กรอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756-5761/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเมื่อเกษียณอายุ และความแตกต่างจากบำเหน็จ
โจทก์ทั้งหกฟ้องเรียกเงินอันเกิดจากการเลิกจ้างจากจำเลย ส่วนการที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับเงินอันเกิดจากการเลิกจ้างตามกฎหมายใดเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับข้อเท็จจริงจากการเลิกจ้างเข้ากับตัวบทกฎหมาย เมื่อจำเลยไม่จ่ายเงินอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุ โจทก์ทั้งหกจึงถูกโต้แย้งสิทธิ มีอำนาจฟ้องเรียกเงินนั้นจากจำเลยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
จำเลยเป็นองค์การของรัฐและเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มาตรา 6, 7 เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 ตามความหมายของคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ใน (1) ประเภทกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งจำเลย บุคคลทั้งหกเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจตามความหมายของคำว่า "พนักงาน" เมื่อ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ถูกยกเลิก จำเลยก็ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 ตามความหมายของคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ใน (1) ประเภทกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งจำเลย โจทก์ที่ 4 และที่ 6 ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยต่อมาจึงเป็นลูกจ้างตามความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" เมื่อไม่มีพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 แก่จำเลยตามมาตรา 5 จำเลยจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และอยู่ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) 11 วรรคสอง เมื่อ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ใช้บังคับแล้วระเบียบนี้ก็ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 95 วรรคหนึ่ง
ข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยบำเหน็จของพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2520 ข้อ 4 กำหนดให้พนักงานได้รับบำเหน็จเมื่อต้องออกจากงานเพราะข้อ 4.1 ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ หมายความว่าเป็นการออกจากงานไม่ว่ากรณีใดซึ่งรวมถึงการลาออกและออกด้วยเหตุเกษียณอายุด้วย ไม่ใช่การออกจากงานเฉพาะเหตุเกษียณอายุจึงจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จ ส่วนข้อ 4.2 ถึง 4.4 จะได้รับบำเหน็จเมื่อทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์ ในกรณีหย่อนสมรรถภาพ ป่วยเจ็บถึงแก่ความตาย ข้อ 5 วรรคหนึ่ง กำหนดให้จ่ายบำเหน็จแก่บุคคลตามข้อ 4 ในจำนวนเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาทำงาน ดังนั้นผู้ที่ออกจากงานตามข้อ 4.1 จึงได้รับบำเหน็จตามข้อ 5 เริ่มต้นจากเมื่อทำงานมาแล้วครบ 5 ปีบริบูรณ์ (ซึ่งเป็นเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์) เท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย 5 เดือน หรือ 150 วัน และเพิ่มขึ้นในอัตราจำนวนปีเวลาทำงาน 1 ปี ต่อเงินเดือน 1 เดือน แตกต่างจากบำเหน็จตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 47 ที่กำหนดให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 5 ปี ขึ้นไป ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นความแตกต่างทั้งคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จ อัตราเริ่มต้นบำเหน็จและอัตราบำเหน็จที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งบำเหน็จตามข้อ 4.1 และข้อ 5 ไม่ใช่เงินที่จำเลยต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างพนักงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาทำงานที่ติดต่อกันครบ 120 วัน ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป ดังนั้นบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้บุคคลทั้งหกไปแล้วจึงไม่ใช่เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 47 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่เงินค่าชดเชยกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุที่จะนำมาหักออกจากเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามข้อ 47 วรรคสอง จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้โจทก์แต่ละคนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4697/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกตั้งสหภาพแรงงานต้องลงคะแนนลับ หากมีช่องทางตรวจสอบได้ว่าใครเลือกใคร ถือไม่ชอบด้วยข้อบังคับ
การเลือกตั้งกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยต้องลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับมีความหมายว่าในการเลือกตั้งต้องใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าสมาชิกสหภาพแรงงานผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ใช้สิทธิอย่างอิสรเสรี ไม่ต้องตกอยู่ในความเกรงกลัว ความเกรงใจหรืออิทธิพลของใคร ด้วยเหตุนี้หากมีการกระทำใดที่เป็นช่องทางให้ทราบได้ว่าสมาชิกสหภาพแรงงานผู้มาใช้สิทธิเลือกผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงานถือได้ว่าไม่ใช่เป็นการลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ
การที่คู่มือเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยประจำปี 2547 กำหนดให้ทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยมีเลขประจำตัวพนักงานและเลขสมาชิกสหภาพแรงงานของพนักงานผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นปรากฏอยู่ กับทำบัตรเลือกตั้งซึ่งมีเลขที่บัตรปรากฏอยู่ ในวันเลือกตั้งเมื่อสมาชิกสหภาพแรงงานไปแสดงตัวที่หน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งระบุเลขที่บัตรเลือกตั้งลงในช่องว่างตรงกับชื่อสมาชิกสหภาพแรงงานผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วให้สหภาพแรงงานนั้นลงลายมือชื่อ จากนั้นจึงมอบบัตรเลือกตั้งให้ไปลงคะแนนต่อไป การปฏิบัติดังกล่าวเป็นช่องทางให้ตรวจสอบทราบได้ว่าสมาชิกสหภาพแรงงานผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงคะแนนเลือกผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน จึงไม่ใช่การลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ ไม่ชอบด้วยข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย พ.ศ.2545 ข้อ 26 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งกรรมการต้องลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ ที่จำเลยที่ 1 ไม่รับจดทะเบียนกรรมการสหภาพแรงงานที่ได้มาจากการเลือกตั้งดังกล่าว และจำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยเห็นด้วยกับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3943/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต้องใช้เหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น จะยกเหตุอื่นนอกเหนือไม่ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) จึงวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างที่ได้จากข้อเท็จจริงที่ได้จากโจทก์และจำเลยที่ 11 (นายจ้าง) ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงยกข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 11 ขึ้นวินิจฉัยได้ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์ใช้วาจาไม่เหมาะสม แสดงกิริยาวาจาไม่เคารพและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีความเห็นขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาโดยตลอด ไม่อาจทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ แม้จะไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่จำเลยที่ 11 อ้างในหนังสือเลิกจ้างก็ตาม
โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 11 ต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นประธานอนุกรรมการสหภาพแรงงาน เป็นการยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 11 กระทำการอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 (2) ที่บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่การห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ซึ่งยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ในกรณีลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรงตามมาตรา 123 (3) ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 11 ไม่ได้เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และไม่ใช่การเลิกจ้างที่อยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ แม้โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 11 ก็เลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 121 (2), 123 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจรัฐสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หลังปิดงานกระทบเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อย
ก่อนที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 สั่งให้โจทก์รับลูกจ้างในส่วนที่โจทก์ปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราที่เคยจ่าย จำเลยทั้งสองให้โอกาสโจทก์และสหภาพแรงงานอัลมอนด์ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาโดยตลอดจนถึงขั้นตอนที่โจทก์ใช้สิทธิปิดงานสำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 150 คน และหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังคงควบคุมดูแลข้อพิพาทแรงงานอย่างใกล้ชิดตลอดมาโดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยอีกหลายครั้ง แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานพากันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล สถานทูตสหรัฐอเมริกา และไปพบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กองทัพบก ปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทแรงงานนี้ได้ ทั้งพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีกเหตุการณ์อันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานอาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้กิจการของโจทก์เป็นการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับ และโจทก์ปิดงานโดยถูกขั้นตอนตามกฎหมายก็ตาม ก็ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมโดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายเพื่อรอการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ คำสั่งที่ 94/2550 ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุเพิกถอน
มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติให้นำมาใช้แก่ข้อพิพาทแรงงานที่อยู่ในขั้นตอนที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 ข้อพิพาทแรงงานรายนี้ได้ล่วงเลยขั้นตอนข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้จนถึงขั้นตอนการปิดงานแล้ว จึงนำมาตรา 24 มาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานประพฤติชั่วและกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท แม้กระทำนอกเวลางานก็เป็นเหตุเลิกจ้างได้
การที่โจทก์นำภาพถ่ายเปลือยของหญิงและการร่วมประเวณีระหว่างหญิงดังกล่าวกับโจทก์ที่โจทก์บันทึกไว้ออกเผยแพร่เพื่อประจานหญิงนั้นจนปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งระบุว่าโจทก์เป็นพนักงานฝ่ายช่างของจำเลยย่อมกระทบต่อเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย ถือว่าโจทก์ไม่รักษาเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย เป็นการประพฤติชั่ว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดี แม้โจทก์กระทำนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงานก็เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19491/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าจ้างชำระหนี้: ความยินยอมของลูกจ้างสำคัญกว่าข้อต่อสู้ทางหนี้
โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ ส. ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ พ. โดยตกลงว่าหาก ส. ผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนสหกรณ์ออมทรัพย์ พ. โจทก์ยินยอมให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างหักเงินได้ส่งให้สหกรณ์ออมทรัพย์ พ. เพื่อชำระหนี้แทน ส. เมื่อ ส. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงหักค่าจ้างของโจทก์ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ พ. ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18324/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาตัวการตัวแทน, เบี้ยปรับสัญญาจัดการกองทุน, ศาลลดเบี้ยปรับได้
สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13581/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้าง แม้ไม่มีข้อบังคับเป็นลายลักษณ์อักษร ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ประกอบกิจการขนส่งทางบก ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้การดื่มสุราในขณะลูกจ้างรอเวลาขับรถบรรทุกไปส่งสินค้าให้ลูกค้าเป็นความผิด แต่มีระเบียบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเมื่อพนักงานขับรถบรรทุกไปรับสินค้าจากลูกค้าแล้วนำรถมาจอดไว้ในบริเวณที่ทำการของโจทก์จังหวัดชลบุรี ห้ามพนักงานขับรถดังกล่าวดื่มสุรา เป็นการออกระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานขับรถบรรทุกที่รอเวลาขับรถบรรทุกสินค้าไปส่งสินค้าให้ลูกค้ามีอาการเมาสุราจากการดื่มสุราและอาจยังมีอาการเมาต่อเนื่องไปจนถึงเวลาต้องปฏิบัติหน้าที่ขับรถไปส่งสินค้าให้ลูกค้า การขับรถในขณะเมาสุราเป็นความผิดต่อกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญา อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอันจะทำให้โจทก์เสียหาย และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกด้วยระเบียบของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
ว. เป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ว. เมาสุราในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ขณะที่รอให้ถึงเวลา 2 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นเพื่อขับรถบรรทุกสินค้าจากที่ทำการโจทก์จังหวัดชลบุรีไปส่งให้ลูกค้าที่จังหวัดปทุมธานี แม้ ว. สามารถไปส่งสินค้าให้ลูกค้าและขับรถมาจอดที่สำนักงานโจทก์จังหวัดชลบุรีโดยปลอดภัย ก็ต้องถือว่า ว. ฝ่าฝืนระเบียบอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์เลิกจ้าง ว. ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
of 27