คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อนันต์ ชุมวิสูตร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 265 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8986-8997/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ชุมนุมประท้วงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 คำว่า "การนัดหยุดงาน" หมายความว่า การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน แสดงว่าการนัดหยุดงานเป็นวิธีการของฝ่ายลูกจ้างที่ได้กระทำเพื่อบังคับฝ่ายนายจ้างให้ยอมรับตามข้อเรียกร้องของตนในการเจรจาต่อรองโดยวิธีการร่วมกันไม่ทำงานให้แก่นายจ้างพร้อมกันเท่านั้น แต่การกระทำอย่างอื่น เช่น การปิดกั้นหรือการชุมนุมโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้นย่อมมิใช่การนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานแต่อย่างใด และเมื่อมิใช่การนัดหยุดงานและไม่มีกฎหมายระบุให้กระทำได้โดยไม่ต้องรับผิด ดังเช่นที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 แล้ว ผู้กระทำย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีการใช้กำลังฝ่าฝืนดึงดันเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ฟังการห้ามปรามของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยและบริษัท จ. มีการนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและสุขาเคลื่อนที่เข้าไปติดตั้ง นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าไปจอด ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยส่งเสียงรบกวนการทำงานของพนักงานจำเลยและบริษัท จ. ที่ไม่ได้หยุดงานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันชุมนุมโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 (4) โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อการชุมนุมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4025-4026/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าจ้างลูกจ้างต้องจ่ายตามสัญญาจ้าง แม้มีเงื่อนไขตามผลงาน เงื่อนไขที่เป็นการลดทอนสิทธิลูกจ้างย่อมเป็นโมฆะ
การที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท เป็นค่าจ้างตอบแทนในการทำงานเป็นรายเดือนทุกเดือน ดังนั้นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่โจทก์ทั้งสองทำงานให้แก่จำเลย และแม้โจทก์ทั้งสองจะทราบเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ทั้งสองจะได้รับค่าจ้าง 10,000 บาท ต่อเมื่อปล่อยสินเชื่อจำนวนรถยนต์ได้ 20 คัน หรือวงเงิน 1,500,000 บาท ในเดือนนั้นก็ตาม แต่เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวมีผลให้โจทก์ทั้งสองที่ทำงานให้แก่จำเลยเพียงแต่การทำงานในเดือนนั้นอาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้กลับทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนการทำงานที่ตนได้ลงแรงไปแล้ว อันเป็นการขัดแย้งกับหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติและขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างค้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุผลสมควรเลิกจ้าง: การกระทำบิดเบือนข้อเท็จจริงสร้างความเสียหายต่อธุรกิจ
ในการพิจารณาอนุญาตตามคำขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องคำนึงว่ากรณีมีเหตุผลสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ผู้คัดค้านลงข้อความและรูปภาพในเฟสบุ๊คว่า "นี้หรือรถที่ใช้ขนเงินเป็นล้าน...กูละเชื่อ" ข้อความและรูปภาพดังกล่าวมีลักษณะทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าผู้ร้องใช้รถที่มีสภาพไม่เหมาะสม ไม่มีความปลอดภัยในการขนส่งทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าเป็นปกติประจำทั่วไป ซึ่งผู้คัดค้านเคยแถลงรับข้อเท็จจริงว่ารถคันที่ผู้คัดค้านใช้ในวันเกิดเหตุผู้คัดค้านไม่ได้ใช้ประจำ เพียงแต่หากวันไหนไม่มีรถคันอื่นให้ใช้จึงจะนำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติงาน แสดงให้เห็นว่าขณะที่ผู้คัดค้านลงข้อความและรูปภาพ ผู้คัดค้านทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ร้องไม่ได้ให้ผู้คัดค้านใช้รถคันดังกล่าวขนส่งทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าเป็นปกติประจำทั่วไป เพียงแต่ให้ผู้คัดค้านใช้เป็นรถสำรองเท่านั้น การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการลงข้อความและรูปภาพในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง ชี้ให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริตของผู้คัดค้าน ย่อมทำให้ผู้ร้องซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทรัพย์สินที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือและไว้วางใจเป็นสำคัญขาดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องได้และถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้ร้อง กรณีมีเหตุผลสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีแรงงาน: การรับรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง และการมอบหมายให้ทำงานแทน
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกินไปกว่าพยานหลักฐาน เนื่องจากตามหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ เอกสารหมาย ล.46 ประกอบกับที่ อ. พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์โดยศาลอนุญาตว่าบริษัท ว. เป็นผู้ดำเนินการจ่ายค่าจ้าง จึงฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่า บริษัท ว. เป็นผู้ดำเนินการจ่ายค่าจ้างเท่านั้น เงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าจ้างอาจเป็นของจำเลยก็ได้ กับที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ทำงานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและทำงานอย่างอิสระ ไม่ถูกต้องเพราะตามลักษณะงานของโจทก์ที่ต้องอยู่ที่ฐานขุดเจาะน้ำมันมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากงานอื่น ๆ กับที่ อ. เบิกความว่าพนักงานที่ทำงานอยู่ที่ฐานขุดเจาะน้ำมันจะมีการกำหนดวันทำงานหรือวันหยุดแตกต่างจากพนักงานประจำสำนักงานได้ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทในประเด็นแรกว่า "โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ฉันลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างกันหรือไม่" และตามคำให้การของจำเลยนอกจากจะให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่นายจ้างของโจทก์แล้ว ยังให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างอีกด้วย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ฉันลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างกันหรือไม่ตามที่กำหนดไว้ดังกล่าว นอกจากจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นนายจ้างผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่แล้ว ยังต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนบริษัท อ. หรือไม่ด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นหลัง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ครบทุกประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทย ส่วนบริษัท อ. มีภูมิลำเนาและจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศสิงคโปร์ จำเลยกับบริษัท อ. จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แม้จำเลยกับบริษัท อ. มี ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยกับบริษัท อ. กับมีบริษัท ฮ. เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย และบริษัท อ. ก็ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นสำนักงานสาขาของบริษัท อ. ไปได้เพราะในทางนิตินัยกฎหมายบัญญัติให้ผู้ถือหุ้นกับนิติบุคคลนั้นแยกออกต่างหากจากกัน โจทก์ยอมรับว่าทำสัญญาจ้างกันในนามของบริษัท อ. ส่วนจำเลยไม่ได้ร่วมลงชื่อเป็นคู่สัญญาด้วย ทั้งการที่โจทก์มาทำงานกับจำเลยในประเทศไทย เป็นการมาทำงานตามคำสั่งของบริษัท อ. ส่วนการที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อขอใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ การหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินประกันสังคมก็ดี ล้วนแต่เป็นการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ให้โจทก์สามารถทำงานในประเทศไทยได้เท่านั้น พฤติการณ์เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานใด ๆ แทนบริษัท อ. ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เมื่อจำเลยไม่ใช่นายจ้างโจทก์แล้ว ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้อำนาจหน้าที่ประธานสหภาพแรงงานช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยมิชอบ ถือเป็นเหตุเลิกจ้างได้ แม้ไม่มีกฎหมายระบุ
การที่ผู้คัดค้านทราบดีมาตั้งแต่แรกว่า ร. มีคดีพิพาทกับบริษัท อ. นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้องที่ศาลแรงงานภาค 2 แต่ผู้คัดค้านกลับใช้อำนาจในฐานะประธานกรรมการสหภาพแรงงานเรียกประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานเฉพาะกลุ่มพวกพ้องของตนในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 แล้วใช้เสียงข้างมากรวบรัดลงมติแต่งตั้ง ร. เป็นกรรมการลูกจ้างบริษัท อ. เพื่อให้ ร. ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อให้ ร. ได้รับประโยชน์จากกฎหมายไปในทางที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แม้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องจะไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการกระทำของผู้คัดค้านไว้โดยตรงและไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านเป็นประธานกรรมการสหภาพแรงงานได้ก็เพราะเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้คัดค้านเป็นทั้งประธานกรรมการสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการลูกจ้างย่อมต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และดำเนินการภายใต้บังคับของวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงาน มิใช่นำฐานะความเป็นประธานกรรมการสหภาพแรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยมิชอบ การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3697-3698/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความและการบังคับคดีค่าจ้างค้างจ่าย
ที่ประชุมใหญ่วิสามัญของเจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลย ต่อมาจำเลยกับพวกยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ โจทก์เป็นผู้คัดค้าน แล้วจำเลยในฐานะผู้ร้องและโจทก์ในฐานะผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผู้ร้องจะถอนฟ้องคดีอาญา ผู้คัดค้านจะถอนฟ้องคดีที่ศาลแรงงานและถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญา เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านปฏิบัติเรียบร้อยแล้วผู้ร้องจะจ่ายเงินเดือน (ค่าจ้าง) ที่ค้างจ่ายให้ผู้คัดค้าน ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอม (คดีถึงที่สุด) คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันคู่ความและสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา เมื่อจำเลยในฐานะผู้ร้องที่ 1 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้โจทก์ในฐานะผู้คัดค้านตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่เป็นเงินจำนวนเดียวกับที่จำเลยต้องจ่ายในช่วงระยะเวลาเดียวกันตามที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีนี้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: การเบิกจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี กรณีไม่มีความผิดร้ายแรง
การที่โจทก์เบิกทองคำซึ่งเป็นลวดที่ใช้ในการทำงานไปเกินกว่าปริมาณงานในแต่ละครั้งเพราะโจทก์ทำงานกับจำเลยมานานและมีความเชี่ยวชาญจึงสามารถทำชิ้นงานได้มากกว่าคนอื่น เมื่อไม่ได้ความว่าโจทก์เอาลวดทองคำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และในการคืนผงทองคำตลอดเวลาหลายสิบปีจะมีส่วนเกินไปบ้างหรือขาดไปบ้างก็มีขั้นตอนการดำเนินการ เช่น ในกรณีที่ขาดก็จะต้องหักเป็นเงินทุกครั้งเสมอมา ก่อนเดือนที่จะถูกเลิกจ้างโจทก์ไม่เคยมีปัญหาหรือขัดแย้งกับจำเลยเกี่ยวกับเรื่องการคืนเศษทองคำขาดหรือเกิน คงมีปัญหาเฉพาะเดือนสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้างเท่านั้น และเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยกะทันหันโจทก์จึงไม่มีโอกาสเข้าไปเคลียร์งานหรือคืนผงทองคำให้แก่จำเลยได้ ส่วนที่จำเลยขายซิงค์น้ำพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์หยิบอันอื่นผิดไปจากที่ตกลงกัน ซึ่งต่อมาโจทก์ได้นำมาคืนจำเลยแล้ว และโจทก์กระทำในฐานะที่เป็นผู้ซื้อหรือลูกค้าไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างกระทำต่อนายจ้าง ตามพฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์โดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่เข้ากรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 และมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเงินทดแทน: ต้องเป็นผู้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงาน
แม้โจทก์อาจได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากโจทก์เข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นดังที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อ อ. เป็นผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลย และเป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จนคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้อุทธรณ์ที่จะมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14466/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
หนังสือบอกเลิกจ้าง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ระบุข้อเท็จจริงตามที่อ้างในฟ้องว่า ธ. เจตนาจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) ไว้ด้วย โจทก์จึงยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) จึงไม่มีประเด็นดังกล่าวให้จำเลยต้องรับวินิจฉัย การที่ศาลแรงงานภาค 1 ไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้ว
การพิจารณาว่าโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง และ ป.พ.พ. มาตรา 583 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้วนายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้นแม้โจทก์ไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ การที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาโดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 1 ฟังยุติและข้อเท็จจริงในสำนวนที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งได้ความว่า ธ. เล่นเกมคอมพิวเตอร์ในระหว่างทำงาน โดยมีโปรแกรมเกมออนไลน์ Yol Gang อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของ ธ. การกระทำของ ธ. จึงเป็นการเอาเวลาทำงานไปกระทำกิจการอื่น อันเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต โจทก์จึงเลิกจ้าง ธ. ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคห้า (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14260/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแก่ลูกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าต้องเป็นกรณีที่มีการจ้างกันครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) เท่านั้น
สัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาการจ้าง 11 เดือน นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2549 อันเป็นการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้าง เป็นกรณีจำเลยไม่ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาจ้างเป็นสาระสำคัญ จำเลยจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าและจำเลยจะจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาและให้โจทก์ออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่ (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง)
กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 10 ของเดือน วันที่ 21 เมษายน 2549 จำเลยออกประกาศเลิกจ้างโจทก์โดยให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2549 เป็นกรณีจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 จึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาในวันที่ 10 มิถุนายน 2549 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2549 จนถึงวันเลิกสัญญาคือวันที่ 10 มิถุนายน 2549 แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างของเดือนเมษายน 2549 ให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2549
of 27