คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนจำนองที่เป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้มีสิทธิก่อน และการเพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว และทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดย่อมต้องถูกรวบรวมเข้ามาเพื่อการจัดการในคดีล้มละลายเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย แต่ผู้คัดค้านที่ 2 จะบังคับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายเท่านั้น ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 ก็ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้มีประกันด้วยการขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 (3) การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งรวมทั้งห้องชุดพิพาทในวันที่ 15 มีนาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้วย่อมเป็นการไม่ชอบ และผู้ร้องก็ไม่อาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเป็นคดีสาขาในคดีแพ่งดังกล่าวได้เช่นกัน ผลคำพิพากษาคดีที่ขอกันส่วนไม่มีผลผูกพันคู่ความในคดีดังกล่าวรวมถึงผู้คัดค้านที่ 1 เพราะกระบวนพิจารณาในชั้นขอกันส่วนในคดีแพ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ทำขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28/2 วรรคสอง
พฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองห้องชุดพิพาทไว้โดยสุจริต การกระทำของจำเลยและผู้คัดค้านที่ 2 ทำให้ผู้ร้องซึ่งชำระราคาห้องชุดครบถ้วนแล้วเสียหาย เมื่อการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน ผู้ร้องจึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองห้องชุดดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของจำเลยจึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้องโดยปลอดจำนอง และไม่จำต้องนำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1088/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการต้องแสดงช่องทางที่ชัดเจนและมีเหตุผล หากไม่มี ศาลยกคำร้องได้
คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง "ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ" ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/6 (3) ประกอบมาตรา 90/3
กิจการของลูกหนี้ไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจยกคำร้องขอของผู้ร้องขอทั้งสองตั้งแต่ในชั้นตรวจคำร้องขอได้ โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองไว้ก่อนไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2810/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน-เจตนาสละสิทธิ-การบังคับคดีไม่ชอบ
การทำหนังสือสัญญาธุรกิจระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. และการทำคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวพันและเป็นลำดับสืบเนื่องกันมา ถือได้ว่า อ. เป็นตัวแทนของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จึงมีผลผูกพันโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ไว้ในหนังสือสัญญาธุรกิจ และโจทก์ยื่นคำร้องโดยระบุข้อความว่า ขอถอนฟ้อง ประกอบกับโจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนโจทก์เป็นผู้บริหารกิจการโดยมิได้ออกเงินลงทุนเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้คดียุติลงอย่างแท้จริง โดยนำหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกัน และโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาธุรกิจและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จึงเป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดีที่โจทก์ยอมรับในศาลแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยแปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาธุรกิจครบถ้วนแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ย่อมระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยยึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ หมายบังคับคดีและการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นดำเนินการจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพ.ร.บ.โทรคมนาคมและการดักฟัง ถือเป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่อง ห้ามการดักฟังทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด มีเจตนารมณ์เพื่อให้รัฐควบคุมและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชน อันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้การรับรองและ คุ้มครองไว้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย รักษาความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศ อันเป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม มิได้มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคลใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ความผิดตามบทบัญญัติทั้งสองจึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายและมีหน้าที่ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติทั้งสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้?ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2686/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน สถานบริการ-ขายสุราเกินเวลา-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลรวมโทษและรอการลงโทษ
ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ห้ามเปิดสถานบริการเกินเวลาที่กำหนด และความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กำหนดโดยฝ่าฝืนกฎหมายนั้น จำเลยมีเจตนาที่จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจบังคับคดีของผู้ถือหุ้นที่พ้นสภาพเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว: การฟ้องแทนบริษัทและการมีส่วนได้เสีย
การฟ้องคดีของผู้ถือหุ้นมิใช่เป็นการตั้งฐานแห่งสิทธิในการฟ้องในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ การฟ้องคดีแทนบริษัทของผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ด้วย ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ เพราะหากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด
โจทก์ทั้งหกยื่นฟ้องคดีแทนบริษัท ส. ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาโจทก์ทั้งหกได้ขายหุ้นส่วนของตนในบริษัทออกไปหมดแล้ว โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อีก และถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพ.ร.บ.ศุลกากร: การนำเงินตราออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่สำแดง และการริบของกลาง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยนำธนบัตรเงินตราไทยที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,000,000 บาท อันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่มีการสำแดงแจ้งรายการนำเงินตราที่กฎหมายกำหนดออกนอกราชอาณาจักรต่อเจ้าพนักงานศุลกากรในขณะผ่านด่านศุลกากรตามแบบที่เจ้าหน้าที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดหรือข้อห้าม ตามข้อห้ามอันเกี่ยวกับการนำของออกนอกราชอาณาจักร จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตรวจพบและทำการจับกุมจำเลยเสียก่อน จึงไม่อาจนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรสมดังเจตนาของจำเลย และอ้าง พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้ธนบัตรเงินตราไทยเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นการบรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัด ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของกฎหมายฉบับใดหรือเป็นสิ่งของชนิดใด หรือไม่ได้แนบประกาศหรือระเบียบมาท้ายฟ้องนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
แม้จำเลยจะไม่สามารถนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายให้ถือเป็นความผิดและศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งริบของนั้นก็ได้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ไม่สำแดงรายการต่อเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายและลักลอบนำเงินตราซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นพฤติการณ์ที่สมควรริบธนบัตรของกลาง ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ธนบัตรของกลางไม่ใช่ของจำเลย จึงไม่สมควรริบนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของแท้จริงจะต้องร้องขอคืนของกลางต่อศาลไม่เกี่ยวกับจำเลย
ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 กำหนดให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข แต่ไม่สามารถแก้ได้เพราะเป็นบทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกอบกับฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละสิบห้าของค่าปรับนั้น จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตกลงชำระภาษีแทนกันในการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
แม้เงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และจําเลย (ผู้ขาย) มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายทอดตลาดตาม ป.รัษฎากรก็ตาม แต่คู่กรณีอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 810/2556 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจําหน่ายทรัพย์สิน ข้อ 2 ระบุว่า "ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดจะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรตาม ป.รัษฎากรเองทั้งหมด โดยผู้ซื้อไม่สามารถนําใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือค่าอากรแสตมป์มาขอรับเงินคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้" และประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดินระบุว่า "ผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรตาม ป.รัษฎากร" ซึ่งประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวได้ระบุภาระหน้าที่ของผู้ซื้อที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าอากรตาม ป.รัษฎากรไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อผู้ร้องได้ทราบประกาศขายทอดตลาดที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีมาก่อนและเข้าร่วมประมูล จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้ยอมรับและตกลงกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะปฏิบัติตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับตาม ป.รัษฎากร ไม่ได้ห้ามคู่กรณีที่จะตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับภาระชําระภาษีเงินได้ รวมทั้งไม่ได้ห้ามบุคคลอื่นชําระภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์แทนผู้ขายหรือผู้มีเงินได้จากการขายทอดตลาด คำสั่งกรมบังคับคดีที่ 810/2556 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจําหน่ายทรัพย์สิน ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดิน และข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่กําหนดให้ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเป็นผู้เสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ขัดต่อ ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจึงต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีรับจ่ายและคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้ร้องชําระแทนจําเลยไป 49,568,500 บาท ให้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรจากการนำเข้าสินค้าและบริการ การตีความมูลค่าศุลกากรที่แท้จริง
พนักงานสอบสวนมีการแจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาแก่ ซ. ขณะที่เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทยของจำเลย โดย ซ. ให้การปฏิเสธ แม้ ซ. มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยอันจะถือว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล แต่หนังสือรับรองข้อความที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อันเป็นหนังสือรับรองว่าบริษัทจำเลยได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจบริการก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบ โครงการก่อสร้าง โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 ให้แก่บริษัท ป. โดยมี ซ. เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทย ซ. ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้จัดการสำนักงานสาขาของจำเลยในประเทศไทย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนได้ แม้จำเลยจะมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ซ. มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยด้วยก็ตาม เพราะ ซ. อยู่ในฐานะผู้จัดการตามความหมายใน ป.วิ.อ. มาตรา 7 วรรคหนึ่ง แล้ว กระบวนการสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
กรณีนิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย บรรดากรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลที่เป็นคนต่างด้าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 16 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คุณสมบัติประการหนึ่งของคนต่างด้าวตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง (2) คือ มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ฮ. พำนักอยู่ที่สาธารณรัฐเกาหลี และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ออกนอกราชอาณาจักรไทยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2555 ส่วนที่ ฮ. ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวสำหรับการติดต่อและประกอบธุรกิจและการทำงานในราชอาณาจักรไทยก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ นั้น ข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการตรวจลงตราที่กระทำโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในสาธารณรัฐเกาหลี ฮ. มิได้เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความเป็นจริงแต่ประการใด ดังนี้ เมื่อ ฮ. มิใช่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยและมิใช่บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในขณะที่ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซ. จึงยังเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยในประเทศไทยในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลจำเลยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านอธิบายฟ้อง สอบคำให้การ และสืบพยานโดยเปิดเผยต่อหน้า ซ. จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 165 และมาตรา 172 แล้ว
แม้เอกสารการนำเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นเอกสารส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการตรวจยึดในการค้นในเรื่องที่จำเลยถูกกล่าวหาว่านำเข้าสารเคมีซึ่งเป็นวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และพยานโจทก์ยอมรับว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในข้อหานำเข้าสารเคมีอันเป็นวัตถุอันตราย แต่เอกสารที่ยึดมาชุดเดียวกันนั้นเป็นเอกสารที่นำไปสู่การสอบสวนและดำเนินคดีนี้ อันเกิดจากการตรวจค้นและยึดโดยชอบตามคำสั่งศาล ทั้งเอกสารดังกล่าวสามารถตรวจสอบความมีอยู่และความถูกต้องได้จากหน่วยงานของรัฐได้อีกทางหนึ่งอยู่แล้ว แม้ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวนจนนำไปสู่การออกหมายค้นจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่หากตรวจพบข้อเท็จจริงในภายหลังจากเอกสารที่ยึดนั้นเองว่าอาจมีการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากร พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีต่อไปได้ หาใช่พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบแต่อย่างใดไม่ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
สำหรับความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/4 (6) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท จึงมีอายุความสิบปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เมื่อนับถึงวันฟ้องพ้นกำหนดสิบปี ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว
จำเลยทำสัญญารับจ้างก่อสร้างโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ให้แก่บริษัท ป. โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้ง 480 เที่ยวเรือโดยมีเจตนาที่จะนำมาเพื่อผลิตหรือประกอบเป็นเครื่องจักรแยกก๊าซธรรมชาติในการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 โดยมีค่างานวิศวกรรมและการออกแบบโรงแยกก๊าซธรรมชาติชุดเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นลำดับต้นที่ขาดไม่ได้สำหรับใช้เป็นแนวทางในการผลิตหรือประกอบเครื่องจักรแยกก๊าซในการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติตามเจตนาที่แท้จริงของการนำเข้าวัสดุปกรณ์ และไม่ได้มีมูลค่าเพียงต้นทุนราคากระดาษในการออกแบบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำค่างานด้านวิศวกรรมและการออกแบบที่บริษัท ป. ชำระแก่จำเลยและเป็นคนละจำนวนกับที่ชำระให้แก่ผู้ขายวัสดุอุปกรณ์ที่นำเข้ามาจากประเทศต่าง ๆ มารวมไว้ในราคาการนำเข้าเที่ยวแรกโดยให้สำแดงรายการแยกไว้ต่างหากจากราคาของนำเข้าตามความในกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) ข้อ 11 (4) และประกาศกรมศุลกากรที่ 39/2543 เมื่อจำเลยมิได้นำมูลค่าค่าบริการดังกล่าวมารวมเข้ากับราคาการนำเข้าเที่ยวแรกและสำแดงแยกไว้ต่างหากจากราคาของนำเข้าด้วยย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) ข้อ 11 (4) และประกาศศุลกากรที่ 39/2543 จำเลยจึงมีความผิดฐานนำของเข้าโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร
การดำเนินคดีนี้ไม่ได้เกิดจากมีบุคคลผู้มิใช่เจ้าพนักงาน ซึ่งนำความมาแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดโดยตรง แต่เกิดสืบเนื่องจากการสอบสวนขยายผลของพนักงานเจ้าหน้าที่เอง ดังนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับศาลก็ไม่อาจสั่งจ่ายสินบนนำจับตามคำขอท้ายฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทความผิดและกำหนดโทษในคดียาเสพติดภายหลังการใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2564
แม้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 4 ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ ป.ยาเสพติดแทน แต่มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังคงให้บทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายเดิม ยังมีผลใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่ ป.ยาเสพติดใช้บังคับจนกว่าคดีถึงที่สุด บทสันนิษฐานตามกฎหมายเดิม มาตรา 15 ที่ว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณที่กำหนด เช่น แอมเฟตามีน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปให้สันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงยังมีผลใช้บังคับต่อไปในคดีนี้ที่ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 66 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิม บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาเพียงปริมาณของยาเสพติดเป็นสำคัญ แต่ ป.ยาเสพติด มาตรา 145 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ ไม่ได้ถือเอาปริมาณดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป แม้ปริมาณที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ก็ตาม เมื่อปริมาณยาเสพติดที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ได้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่อยู่ในตัว กฎหมายใหม่จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตามกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคสองและวรรคสาม ไปเสียทีเดียว ดังนั้น ถ้าผู้กระทำความผิดมีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสามได้ แต่ถ้ายาเสพติดให้โทษมีปริมาณถึงตามกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคสองหรือวรรคสาม แต่ผู้กระทำความผิดไม่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมไม่อาจปรับบทความผิดตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสามได้ คงปรับบทความผิดได้เพียงตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ส่วนการกำหนดโทษก็ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ไม่ว่าในทางใด ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 3 ส่วนการปรับบทความผิดนั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด ให้ผู้ล่อซื้อ และจำเลยทั้งสองเคยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ต้องหารายอื่นมาก่อนหน้าแล้ว พฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดดังกล่าวย่อมทำให้เกิดการแพร่กระจายแก่ผู้เสพหลายคนโดยสภาพ ถือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนแล้ว กรณีจึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณมากกว่าแก่จำเลยทั้งสองที่มีเมทแอมเฟตามีนปริมาณถึงตามกฎหมายเดิม มาตรา 66 วรรคสาม ที่มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ทั้งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
of 11