คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3023/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้: ไม่เป็นโมฆะหากมิได้มีการฟ้องขอให้โอนทรัพย์เฉพาะสิ่ง
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของและต้องบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5919/2555 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 อันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 4 จึงมิใช่กรณีที่เป็นการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไว้อันจะทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หากเป็นจริงดังอ้างก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกเงินค่าที่ดิน: อำนาจฟ้องของคนต่างด้าวและหน้าที่คืนเงิน
ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย... ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี" และมาตรา 94 บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" แม้โจทก์ร่วมเป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดินมิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับ ก. เพื่อซื้อที่ดินจึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย โจทก์ร่วมทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ ก. ในราคา 9,000,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 1,000,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้ซื้อจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่ ก. การที่โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืออยู่แก่ ก. จำเลยได้รับมอบเงินของโจทก์ร่วมไว้ในครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่ผู้ขาย แต่จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไว้เป็นของตนเองโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง อันถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท ไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลย เพื่อให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือแก่ ก. แต่จำเลยไม่นำเงินไปชำระ และไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนเองโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกและต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนมรดกไม่ชอบและการซื้อขายโดยสุจริต ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ขายจัดการมรดกไม่ถูกต้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้
แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งการครอบครองที่ดิน: ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นคำให้การขัดแย้งและอำนาจฟ้อง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกรบกวนและแย่งการครอบครอง โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดิน... ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้งที่ระบุว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของจำเลย จึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วจำเลยแย่งการครอบครองหรือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ขาดสิทธิฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน (รั้วกำแพง) และสิทธิในการใช้ทางสาธารณะ การชดใช้ค่าเสียหาย และการห้ามเข้ายุ่งเกี่ยว
คดีที่ อ. ฟ้องนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีกับพวกต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตรื้อถอนใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร เลขที่ 424/2555 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2555 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ไม่ใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย ย่อมไม่มีผลเป็นการทั่วไปและไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ความในคดีปกครองดังกล่าว
วันที่ 1 กันยายน 2535 บริษัท ป. โอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กรอบหมู่บ้าน พ. ให้โจทก์ทั้งสองเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสาธารณสุข การคมนาคม การจราจร และความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการ ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2535 บริษัท ป. แบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 3331 ออกเป็นทางสาธารณประโยชน์ แสดงว่าการโอนกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กเกิดขึ้นก่อนการแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น ขณะบริษัท ป. แบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีรั้วกำแพงพิพาทเป็นส่วนหนึ่งด้วยรั้วกำแพงรอบหมู่บ้านมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์แก่การคมนาคมและการจราจรเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อบ้านในโครงการด้วยอันเป็นสาธารณูปโภคตามข้อ 1 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยผลของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ทำให้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านรวมทั้งรั้วกำแพงพิพาทตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านในโครงการทั้งหมด ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วกำแพงตั้งอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 เมื่อบริษัท ป. ผู้โอนมีเจตนาแยกรั้วกำแพงพิพาทเป็นคนละส่วนกับที่ดินที่ตั้งรั้วกำแพงและรั้วกำแพงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ไม่ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดิน รั้วกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของทางสาธารณประโยชน์ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเทศบาลนนทบุรีก้าวล่วงกรรมสิทธิ์ส่วนเอกชนอนุญาตให้ผู้ใดพรากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น แม้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของและผู้พักอาศัยที่ดินแปลงที่ 29 และ 30 ในโครงการมีสิทธิใช้รั้วกำแพงรอบหมู่บ้านอันเป็นภารยทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้น ยิ่งกว่านั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ซึ่งจำเลยทั้งสามซื้อมาภายหลังและอยู่นอกโครงการจึงไม่เป็นสามยทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นอ้างสิทธิใด ๆ เหนือกำแพงรั้วพิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ทุบทำลายรั้วกำแพงพิพาทจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รั้วกำแพงพิพาท แม้เป็นภารยทรัพย์ แต่เมื่อถูกทำลายไปโดยผู้ไม่มีสิทธิ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธินำแท่งปูนวางแทนรั้วกำแพงพิพาทเพื่อยังประโยชน์การใช้รั้วกำแพงพิพาทให้คงอยู่ดังเดิม การกระทำของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้จึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลยทั้งสาม อย่างไรก็ดี พื้นที่ส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ซื้อบ้านในโครงการรวมทั้งจำเลยทั้งสามมีสิทธิใช้สัญจร โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้น การกระทำของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดทุบทำลายกำแพงรั้วพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง จึงต้องคืนทรัพย์สินอันโจทก์ทั้งสองต้องเสียไปเพราะละเมิดนั้น หรือชดใช้ราคาทรัพย์สิน โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสามก่อสร้างรั้วกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่ถูกทุบทำลายไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าก่อสร้างรั้วกำแพงดังกล่าว
แม้โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำรถบรรทุกและแท่งปูนมาปิดกั้นถนนอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเลยทั้งสามอ้างว่าทำให้ไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสามส่วนที่อยู่นอกโครงการได้ อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิทุบทำลายกำแพงรั้วพิพาท หากรั้วกำแพงพิพาทไม่ถูกทุบทำลาย จำเลยทั้งสามก็ไม่สามารถนำวัสดุอุปกรณ์ผ่านรั้วกำแพงพิพาทนั่นเอง การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ อันจะอ้างต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสามไม่สามารถนำรถบรรทุกวัสดุอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินของจำเลยทั้งสาม จึงไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งสอง
คำฟ้องโจทก์ทั้งสองมีคำขอด้วยว่า ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3368 เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 229966 และ 229967 ของจำเลยทั้งสาม จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีจากสารบบความและการอุทธรณ์ประเด็นที่เคยวินิจฉัยแล้ว ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
จำเลยทั้งสองเคยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง และในชั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วให้พิจารณาและพิพากษาคดีใหม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยทั้งสองแล้วว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความแต่สืบพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองไปฝ่ายเดียว เป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม หาขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง จึงถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือประเด็นแห่งคดีนี้แล้ว โจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้ง ประเด็นดังกล่าวจึงยุติ การที่จำเลยทั้งสองยกประเด็นนี้ขึ้นอุทธรณ์อีก จึงเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสองฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ไม่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสองจากสารบบความ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, การครอบครองปรปักษ์, และดอกเบี้ยค่าเช่า: ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามสัญญาและกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบคืนโจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่ศาลมีคำพิพากษา ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 87,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบคืนโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 12,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป เป็นหนี้เงินอันเกิดจากสัญญาเช่าโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าเช่าที่ค้างไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ค่าเช่าเสร็จสิ้น จะบังคับชำระดอกเบี้ยไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ซึ่งเป็นหนี้ให้กระทำการอันหนึ่งอันใดอันเกิดจากมูลละเมิดเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเป็นให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง 12,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หรือจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์และบริวารออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบแก่โจทก์ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อถอนสะพานไม้แล้วสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางการใช้ประโยชน์เดิม ถือเป็นการละเมิดและต้องชดใช้ค่าเสียหาย
สะพานไม้ของโจทก์ที่ 1 สร้างอยู่บนคลองระบายพระยาพิสูตร์หรือคลองแสมขาว ซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนมีสิทธิใช้ร่วมกัน โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์ในสะพานมาก่อน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในสะพานรวมทั้งที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองรื้อถอนสะพานไม้ของโจทก์ที่ 1 เหลือแต่เสาบางส่วน สร้างบ้านพักคนงานคร่อมบนสะพานและทำคานไม้สำหรับวางสิ่งของ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถนำเรือมาจอดเทียบสะพานได้ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544-545/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและตีความสัญญาได้ แม้จะแตกต่างจากข้อตกลงเบื้องต้น หากสอดคล้องเจตนารมณ์คู่สัญญา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อไปว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า สัญญาตกลงชัดเจนว่าไม้สักทองเนื้อเดียวปิดด้านบนไม้หนา 4 มิลลิเมตร โดยคู่สัญญาไม่เคยมีการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าว การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการตีความสัญญาตามความประสงค์ในทางสุจริตและพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือหรือไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เห็นว่า ในการวินิจฉัยดังกล่าวคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ภายหลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเทคนิคของไม้ โดยได้ดำเนินการจัดทำเป็นไม้สักสลับชั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงกันในการตรวจรับไม้โดยเชิญผู้บริหารและผู้แทนของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้แทนของผู้จัดการโครงการมาตรวจสอบลายไม้ที่เป็นลายตรงและลายภูเขา ซึ่งผู้ตรวจสอบไม้ดังกล่าวได้ยอมรับไม้สักสลับชั้น อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไม่ตรงตามข้อตกลงในสัญญา แม้เป็นการโต้แย้งปัญหาข้อกฎหมาย แต่การจะวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว จำต้องอาศัยการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อน ซึ่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 ไม่ได้ให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดพิสูจน์โต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากนั้นชื่อของสัญญาดังกล่าวยังปรากฏชัดว่าเป็นสัญญาจ้างงานจัดหาและส่งมอบพื้นไม้สักสลับชั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องเป็นไม้สักชิ้นเดียวมีความหนา 4 มิลลิเมตร หรือเป็นไม้สัก 2 ชิ้น มีผิวหนารวม 4 มิลลิเมตร จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์แท้จริงของคู่สัญญาแล้ว การบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เช่าในการฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินตามสัญญาเช่าและการโต้แย้งสิทธิ
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อก่อสร้างอาคารและดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ และโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าตามสัญญาแล้ว โดยข้อ 7 วรรคสอง กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้เช่าต้องสำรวจศึกษาพื้นที่โครงการ ผู้บุกรุก ผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในพื้นที่เช่า หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น การขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้ประกอบการเดิม รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ผู้เช่าต้องรับภาระในการดำเนินการและแก้ไข โดยเสียค่าใช้จ่ายด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเอง อันมีความหมายว่าหากต้องมีการฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากสถานที่เช่า ผู้ให้เช่าให้อำนาจแก่ผู้เช่าหรือมอบหมายให้ผู้เช่าฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหรือผู้อยู่อาศัยแทนผู้ให้เช่าได้ โดยผู้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้การก่อสร้างอาคารและการดำเนินการจัดหาประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญา ถือได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้โจทก์ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องผู้บุกรุกที่ดินที่เช่า ฉะนั้น แม้จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและโจทก์ยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับมอบสถานที่เช่าจากผู้ให้เช่าแล้วไม่สามารถก่อสร้างอาคารได้เพราะจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินโดยไม่มีสิทธิ และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่
of 11