พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5356-5371/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้ซื้อห้องชุดจากการประมูลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระของเจ้าของเดิมตามกฎหมายอาคารชุดและเงื่อนไขการประมูล
การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่ โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จนครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง, 29 วรรคสอง, 41 และข้อบังคับกับเงื่อนไขที่ระบุในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 5 ปี ย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพียงจำนวนที่โจทก์เสนอขอชำระและออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ โดยไม่ยอมชำระหนี้ที่เจ้าของเดิมค้างชำระทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้รับผิดตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 13 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิทำเกษตรผสมผสานในที่เช่า: จำเลยมีสิทธิเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ หากไม่กระทบการทำนา
พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 47 บัญญัติว่า "ผู้เช่านามีสิทธิปลูกพืชอายุสั้นใดๆ นอกจากพืชหลักในนาที่เช่าได้ รวมทั้งการใช้ที่นาบางส่วนทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการปลูกไม้ยืนต้น ในเมื่อไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก" แม้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อใช้ทำนา แต่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มิได้จำกัดว่าจำเลยต้องทำนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จำเลยอาจใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมเพื่อเพิ่มรายได้ มีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และลดความเสี่ยงจากการตลาดที่แปรปรวน หากไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้หากไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลง การที่จำเลยใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 12 ถึง 13 ไร่ จากพื้นที่ 59.51 ไร่ เป็นบริเวณบ่อเลี้ยงปลา โดยเนื้อที่บ่อเลี้ยงปลาแท้จริงประมาณ 4 ไร่ นับว่า จำเลยใช้พื้นที่ส่วนน้อยไม่ถึงหนึ่งในสี่ของพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงทำนา จำเลยเลี้ยงปลาหารายได้เสริม จำเลยค้างชำระค่าเช่านาและชำระไม่ครบถ้วนบ้างเพราะผลผลิตไม่แน่นอนและบางครั้งขาดทุน เมื่อทางพิจารณาคู่ความมิได้เถียงกันเรื่องขุดบ่อเลี้ยงปลาของจำเลยทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก การที่จำเลยใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนเป็นบ่อเลี้ยงปลาจึงเป็นสิทธิของจำเลยสามารถทำได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3542/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ: การเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนและผลกระทบต่อความชอบธรรมของคำชี้ขาด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. ประธานอนุญาโตตุลาการเคยเป็นทนายความของ ฟ. ซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย และรับประกันภัยความเสียหายทรัพย์สินในเหตุการณ์เดียวกันกับคดีนี้ โดย ส.เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว ให้การต่อสู้คดีในทำนองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้าย เข้าข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ซึ่งมีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมา ส. ได้มาเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ย่อมมีแนวความคิดเห็นทำนองเดียวกับคดีที่ตนเคยเป็นทนายความในคดีดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการหรือความสงสัยต่อความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ ซึ่งอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงตั้งแต่เข้าเป็นอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนตลอดเวลาที่ยังคงดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการด้วย การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ร้องทั้งสิบสี่ไม่อาจทราบเพื่อที่จะได้มีโอกาสคัดค้านเสียตั้งแต่แรก นอกจากนี้การที่ ส. เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว แม้จำเลยในคดีดังกล่าวกับผู้คัดค้านในคดีนี้เป็นคนละบริษัทกัน แต่เหตุการณ์ที่ต้องพิจารณาในคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ถือว่ามีผลประโยชน์ในทางคดีเกี่ยวข้องกัน ผู้คัดค้านย่อมคาดหวังว่า ส. น่าจะมีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับคดีดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คัดค้าน การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระ หรือเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนตามมาตรา 19 จึงทำให้องค์ประกอบและกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 40 (1) (จ) ย่อมส่งผลให้การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 (2) (ข) ศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2561)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กระบวนพิจารณาผิดระเบียบ การเพิกถอน และการอุทธรณ์ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคำร้อง มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ในวันนัดดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาซึ่งมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้โจทก์นำสืบพยานเพิ่มเติม ให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามฉบับ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หากโจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงหรือผิดระเบียบ โจทก์ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอนไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้