คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1598/38

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 37 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่า, ค่าอุปการะเลี้ยงดู, และสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากคู่สมรสที่ไม่ได้ทำงาน
การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า
สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38
ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อผิดนัดชำระ การบังคับคดีต้องเป็นไปตามส่วนที่ผิดสัญญา การตีความสัญญาต้องเป็นคุณแก่ลูกหนี้
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรส การแบ่งสินสมรส และค่าอุปการะเลี้ยงดู
การที่อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ โจทก์ย่อมหมดหน้าที่ที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร, ผลกระทบแก้ไข ป.พ.พ. และการกำหนดจำนวนค่าเลี้ยงดูตามฐานะ
โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000 บาท จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว เพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบแล้ว
เดิม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล... (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอดและสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องจึงชอบแล้ว หาใช่นับแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยฎีกาไม่
แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่า ๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาปรับแก้ให้เท่ากัน โดยลดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้รวม 1,370,000 บาท เหลือ 685,000 บาท เพราะการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควร แม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 1,370,000 บาท จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7071/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา พิจารณาจากความสามารถของผู้ให้ ฐานะผู้รับ และพฤติการณ์แห่งกรณี
การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือได้รับการเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี" เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตัวไม่เหมาะสมเที่ยวเตร่เวลากลางคืนแล้วแยกตัวไปอยู่ที่อื่นไม่กลับไปหาโจทก์ ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเคยให้เดือนละ 70,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร เมื่อโจทก์มีรายได้จากการรับทำบัญชีเดือนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยมีอาชีพเป็นทนายความย่อมมีรายได้จากการว่าความและเป็นที่ปรึกษากฎหมายและจำเลยยังเปิดบริษัท บ. และยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ส. โดยได้รับเงินเดือนจากทั้งสองบริษัทเดือนละ 45,000 บาท แม้ว่าระหว่างพิจารณา จำเลยจะยกทรัพย์สินเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 1 หลัง ราคาประมาน 5,000,000 บาท และที่ดินอีก 1 แปลง ราคาประมาณ 3,000,000 บาท กับรถยนต์ 2 คัน ให้แก่โจทก์และโอนสลากออมสินมูลค่า 3,000,000 บาท แก่บุตร โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าอุปการะให้บุตรเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะจบปริญญาตรีก็ตาม แต่ทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ และภาระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เช่นนี้ จึงเห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย เมื่อพิจารณาถึงความเพียงพอแก่อัตภาพของโจทก์และภาระค่าครองชีพแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจะสิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ, เหตุหย่า, สินสมรส, และค่าอุปการะเลี้ยงดู - การใช้กฎหมายที่ถูกต้อง
โจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยในคดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อติดตามจำเลยมาต่อสู้คดี โดยส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบัญญัติให้คู่สามีภริยาหย่ากันได้ 2 กรณีคือ 1. กรณีหย่าไม่มีผู้คัดค้าน หมายถึง คู่สมรสยินยอมที่จะหย่ากัน 2. กรณีหย่าโดยมีผู้คัดค้าน ส่วนคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียก็ไม่ได้ระบุถึงเหตุแห่งการหย่าไว้ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด หรือเพราะเหตุใดระบุแต่เพียงว่าจำเลยขาดนัดแล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยเท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ากฎหมายบัญญัติเหตุหย่าไว้ว่าอย่างไร นอกจากนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นก่อน แต่ยังไม่ทันที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี โจทก์กลับไปแต่งงานกับหญิงอื่นแล้วอาศัยคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียมาบังคับจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธินำคดีไปฟ้องยังศาลต่างประเทศโดยไม่สุจริตและยังขัดกับหลักเกณฑ์การยอมรับและบังคับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย กล่าวคือโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด แต่โจทก์กลับส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของโจทก์จึงไม่ได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าเหตุแห่งการฟ้องหย่าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของกฎหมายภายในของประเทศสยาม ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามมาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 หรือไม่ เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี และฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) คำพิพากษาศาลล่างชอบแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะการแบ่งสินสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการหย่าแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และ 1533 ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายสัญชาติของโจทก์ แต่โจทก์มิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นจนเป็นที่พอใจแก่ศาล จึงต้องใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ ที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยโดยใช้ ป.พ.พ. มาตรา 1461 และ 1598/38 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดทางละเมิด, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าอุปการะเลี้ยงดู และอำนาจฟ้องในคดีละเมิด
ค่าเสียหายเบื้องต้นตามนิยามของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 หมายถึงค่าปลงศพด้วย เหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็เพราะจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายเบื้องต้นจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นการชำระค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วยแก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้าง
ล. เป็นภริยาของ ห. ผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ขณะ ห. มีชีวิตเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลซึ่งถือเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ ล. ตลอดมา เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ล. จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะในส่วนนี้ได้ แต่ก่อนถึงแก่ความตาย ล. ยังมิได้ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นทายาทโดยธรรมของ ล. แต่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่าเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ห. มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แทน ล.
คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดค่าขาดรายได้จากการประกอบอาชีพของ ห. ผู้ตาย แต่มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของ ล. และ ห. ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมแก่ ล. อย่างไร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้อง
ผู้ที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจะต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 คือ สามีกับภริยา หรือบิดามารดากับบุตร แต่ อ. และ ธ. มิใช่บุตรของ ห. ผู้ตาย แม้ในความเป็นจริงผู้ตายจะอุปการะเลี้ยงดูเด็กทั้งสองอยู่ก็ตาม จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยทั้งสามและไม่ก่อสิทธิให้แก่ผู้อื่นฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา แม้แยกกันอยู่และมีภาระหนี้สิน
วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากคู่สมรส แม้แยกกันอยู่และมีการเปลี่ยนแปลงฐานะ
ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสองและมาตรา 1598/38 เป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาโดยให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า ก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพมิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่า
หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าต้องมีเหตุตามกฎหมาย การแยกกันอยู่ต้องเกิดจากฝ่ายที่ถูกละทิ้งเป็นผู้ต้องการ
ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุเหตุหย่าเพียงการละทิ้งร้างกันเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) ไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีตามมาตรา 1516 (4/2) และแม้ว่าคำฟ้องโจทก์แนบบันทึกตกลงแยกทางกันด้วยว่า "ศ. (จำเลย) มีความประสงค์ขอแยกทางกันอยู่กับ ว. (โจทก์) และ ว. ก็ยินยอม" ไว้ท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ไม่ถือว่าคำฟ้องโจทก์มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2) กรณีสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีด้วย
ตามบันทึกตกลงแยกทางกันนั้นได้บันทึกถึงเหตุที่โจทก์และจำเลยต้องทำบันทึกดังกล่าว และภายหลังทำบันทึกตกลง จำเลยไม่เคยพูดเรื่องขอจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่จำเลยเคยพูดกับโจทก์ให้กลับมาอยู่กับจำเลยและบุตรอีก การบันทึกข้อความเรื่องแยกกันอยู่ดังกล่าวจึงเป็นความประสงค์อันเป็นเจตนาของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว การที่จำเลยยอมลงลายมือชื่อในบันทึกตกลงเชื่อว่าเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับความจริงในข้อนี้ ก็ยิ่งย้ำให้เห็นชัดแจ้งว่ามีสาระเพื่อได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง กรณีจึงไม่ใช่กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ การพิจารณาข้อความในบันทึกตกลงในเรื่องแยกกันอยู่จึงพิจารณาเฉพาะข้อความในเอกสารโดยไม่พิจารณาถึงเจตนาของจำเลยย่อมไม่ชอบ ทั้งโจทก์ก็รับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามมาตรา 1516 (4) ซึ่งการไม่ให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับข้อยุติเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู กรณีจึงไม่มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4)
สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่จะได้รับ
of 4