คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 240

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 99 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการซื้อขายที่ดินจากเจตนาลวง และอายุความฟ้องเพิกถอนเมื่อผู้ซื้อไม่สุจริต
การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทหลังคำพิพากษาเดิม: อายุความ 10 ปี และไม่ใช่ฟ้องซ้ำ
คดีเดิมที่โจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล เพราะการโอนที่ดินพิพาทของ น. ให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบซึ่งผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าวมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอนและ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม สิทธิของโจทก์ซึ่งนำมาฟ้องคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนนั้นเอง เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้เพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อน ซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ โดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ย่อมนำมา ใช้บังคับไม่ได้ แต่เป็นเรื่องการขอให้บังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 193/32 คือ อายุความ 10 ปี
คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนซึ่งเป็นการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และที่สำคัญเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนคนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 744/2556 ของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล: การนับอายุความเริ่มเมื่อใดเมื่อเจ้าหนี้เสียชีวิตก่อนรู้เหตุ
คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความเพิกถอนนิติกรรม: การถอนฟ้องคดีเดิมทำให้คดีใหม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 123/2550 ของศาลชั้นต้นยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่หลังจากวันที่ 8 มีนาคม 2549 ที่โจทก์มอบอำนาจให้ ก. หรืออย่างเร็วที่สุดวันที่ 8 มีนาคม 2549 อันเป็นเวลาที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนิติกรรมและทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ตาม แต่การที่อายุความสะดุดหยุดลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ซึ่งมาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 193/14 (2) หากคดีนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง" เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 123/2550 โจทก์ได้ถอนฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1058/2550 กรณีจึงต้องถือว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 123/2550 หมายเลขแดงที่ 1058/2550 ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด เนื่องจากคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมอีกเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน2554 จึงพ้นหนึ่งปี นับแต่เวลาที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนิติกรรมแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามมาตรา 240

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18346/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการเรียกทรัพย์คืนและการบังคับคดี กรณีไม่ใช่การฉ้อฉล แต่เป็นการขอให้โอนทรัพย์สิน
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการที่ ห. กับ ส. สมคบกันโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ และขอให้เพิกถอนสัญญาระหว่าง ห. กับ ส. และจำเลยเสีย คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เพราะโจทก์มีคำขอ ให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย หาใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใดที่ทำขึ้นอันเป็นการให้โจทก์เสียเปรียบไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องขอเรียกทรัพย์คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19883/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการแบ่งทรัพย์สินและการจำนองอันเกิดจากการหลีกเลี่ยงเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย การโอนทรัพย์สินโดยไม่สุจริต
การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่กรณีเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย อายุความที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นเวลาแรกเริ่มต้นนับอายุความ การยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องการกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้วหากขณะทำนิติกรรมนั้นมีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้ทุกรายย่อมเป็นเจ้าหนี้ซึ่งต้องเสียเปรียบด้วยกันหมดทุกคน การนับอายุความในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแทนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องแต่ละราย จึงต้องเริ่มนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายนั้น ๆ ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นเกณฑ์ ดังนั้น คำร้องที่ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 จึงต้องบรรยายด้วยว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ มิฉะนั้นต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งทำให้โจทก์รายเดียวต้องเสียเปรียบเท่านั้น
ผู้ร้องทำการสอบสวนเจ้าหนี้รายที่ 40 ที่ยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลาง กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกระทำการแทนเจ้าหนี้รายที่ 40 ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2543 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 ธันวาคม 2544 จึงยังอยู่ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน
นิติกรรมที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้แก่ บันทึกท้ายทะเบียนหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 อันเป็นการยกทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามข้อตกลงข้างต้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 และการที่จำเลยที่ 2 นำเงินของตนไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารให้แก่เด็กชาย ช. และเด็กหญิง บ. บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 แล้วต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ปิดบัญชีเดิมและนำเงินของตนเพิ่มเติมสมทบเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ที่ธนาคารเดิมให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการทำให้โดยเสน่หา จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และผู้คัดค้านที่ 1 กับบุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 แต่ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่านิติกรรมการตกลงแบ่งทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งนิติกรรมการให้ซึ่งจำเลยที่ 2 กระทำต่อบุตรทั้งสอง เป็นการกระทำในช่วงเวลาที่ตนอาจรับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่ 40 จำเลยที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่รู้ได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้รายที่ 40 ต้องเสียเปรียบ เมื่อเป็นการทำให้โดยเสน่หาจำเลยที่ 2 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่ผู้ร้องจะขอเพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นิติกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนรับโอนที่ดินอันเป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินจึงต้องถูกเพิกถอนด้วย แม้ว่าทรัพย์สินนั้นอาจเป็นสินสมรสที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กรณีต้องไปว่ากล่าวกันเมื่อมีการขายทรัพย์สินในชั้นบังคับคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 19 วรรคสาม และมาตรา 123
แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองที่ดินจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ในขณะที่รับจำนองนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 2 จึงถือว่ารับจำนองโดยไม่สุจริต ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายที่ดินโดยไม่มีสิทธิ ผู้รับซื้อไม่มีสิทธิ แม้จะรับซื้อสุจริตและจดทะเบียน
จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น ไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนที่ตกได้แก่ทายาทคนใดไปขาย โดยทายาทผู้นั้นไม่ยินยอม ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวไว้สุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินในส่วนของโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2
การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินส่วนของโจทก์คืนนั้น จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพระการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหายเท่านั้น จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจดังกล่าวมาแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ในการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับไม่ได้และเมื่อคดีนี้ไม่ใช่เรื่องการขอเพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉล ไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้
จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6514/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความเพิกถอนการโอนทรัพย์สินในคดีล้มละลาย และการคุ้มครองสิทธิผู้ซื้อโดยสุจริต
เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2544 และการร้องขอให้เพิกถอนการโอนต้องนับถึงวันที่ยื่นคำร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนต่อศาลชั้นต้นวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนแล้วจึงไม่ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ว่า เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ตามที่กำหนดจึงให้คืนเพื่อทำมาใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ถือว่าได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นใช้อำนาจในการตรวจคำคู่ความและมีคำสั่งไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เท่านั้น โดยคำร้องดังกล่าวยังอยู่ที่ศาลและผู้ร้องได้ทำคำร้องมายื่นใหม่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 ภายในกำหนดที่ศาลสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องแล้ว ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องที่ยื่นมาแต่แรกนั้นเอง มิใช่เป็นการยื่นคำร้องเป็นคดีใหม่ที่ต้องนับอายุความถึงวันดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องจึงยังไม่ขาดอายุความ
นิติกรรมการโอนขายรถยนต์พิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้กระทำลงโดยลูกหนี้และผู้คัดค้านได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ และผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนภายในกำหนด ศาลจึงชอบที่จะเพิกถอนซึ่งนิติกรรมนั้นเสียได้ตามคำร้องของผู้ร้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113, 114 แต่ผู้คัดค้านได้โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งรับโอนไว้โดยสุจริตแล้วและการเพิกถอนดังกล่าวนั้นไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 สิทธิในรถยนต์พิพาทของบุคคลภายนอกจึงได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านได้ แต่เมื่อไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างผู้คัดค้านกับบุคคลภายนอก ผู้ร้องย่อมไม่สามารถติดตามเอารถยนต์พิพาทกลับมาเป็นกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ศาลฎีกาจึงยกคำขอของผู้ร้องในส่วนที่ให้เพิกถอนการโอนรถยนต์พิพาทและบังคับให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาแทนให้แก่ผู้ร้องตามที่ผู้ร้องมีคำขอมาในท้ายคำร้องแต่เพียงอย่างเดียวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายห้องชุดเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ถือเป็นการฉ้อฉล เพิกถอนได้
การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับจำเลยที่ 1 โดยก่อนจะมีการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ 2 รวม 10 ฉบับ เป็นเงิน 597,000 บาท ภายหลังจากเช็คถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 2 นำเช็คทั้งสิบฉบับไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ซึ่งจำเลยที่ 2 รับเช็คไว้ถึง 10 ฉบับ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีอาชีพปล่อยเงินกู้ อีกทั้งไม่เคยรับแลกเช็ค เพิ่งทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก การที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 จึงผิดปกติวิสัยหลายประการ ประการแรก คือ พฤติการณ์ที่ลุงของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่กล้าให้จำเลยที่ 1 แลกเช็ค แต่แนะนำให้จำเลยที่ 1 นำเช็คมาแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของตนเอง ประการต่อมาเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเงินสดทั้งสิบฉบับล้วนเป็นเช็คของคนอื่น ไม่ใช่เช็คของจำเลยที่ 1 และเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดแทนที่จำเลยที่ 2 จะรีบนำเช็คแต่ละฉบับไปเรียกเก็บเงินทันที กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไป จึงเพิ่งนำไปเรียกเก็บเงินพร้อมกัน และต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองต่อจำเลยที่ 3 ในวันเดียวกัน อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังได้ทำบันทึกว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับโอนห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ตามเช็คทั้งสิบฉบับ รวมเป็นเงิน 597,100 บาท และหนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อเหตุผล เพราะกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่จำเลยที่ 2 รับโอนมีราคาประมาณ 400,000 บาท อีกทั้งยังจำนวนแก่จำเลยที่ 3 เป็นประกันหนี้อยู่ประมาณ 270,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วจึงยังต้องรับภาระชำระหนี้จำนองดังกล่าวด้วย แต่จำเลยที่ 2 กลับทำบันทึกว่า หนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ทั้งช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด อยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ดังกล่าว จึงเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดโดยรู้ว่าจะเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์
โจทก์ได้ไปตรวจสอบเอกสารกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่สำนักงานที่ดิน เขตลาดพร้าว วันที่ 2 มีนาคม 2542 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนคือวันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้อง จึงเป็นระยะเวลาไม่พ้นหนึ่งปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
of 10