คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธานิศ เกศวพิทักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 275 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10523/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การฟ้องซ้ำหลังแยกฟ้อง และการหยุดนับอายุความ
ป.อ. มาตรา 95 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ" ซึ่งหมายความว่า เมื่อฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วอายุความจึงหยุดนับ คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) โจทก์นำจำเลยมาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 580/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด อายุความจึงหยุดนับ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ภายในกำหนดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 26 เมษายน 2549 คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9725/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางในคดีอาญา: รถยนต์และโทรศัพท์ที่ใช้ในการกระทำผิด พ.ร.บ.วัตถุอันลามกและการใช้ดุลพินิจของศาล
จำเลยประกอบการค้าโดยมีแถบบันทึกภาพลามกแสดงการร่วมประเวณีระหว่างชายหญิงเพื่อความประสงค์แห่งการค้าและโดยการค้า จำหน่าย ทำให้แพร่หลายด้วยการขายหรือให้เช่าแถบบันทึกภาพดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดรถยนต์ที่ใช้บรรทุกแถบบันทึกภาพลามกเพื่อจำหน่าย และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ติดต่อจำหน่ายแถบบันทึกภาพลามกอันเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้องว่ารถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งศาลมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ใช้รถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการกระทำผิดอย่างไร หรือใช้เพื่อจำหน่ายแถบบันทึกภาพลามกแก่ใคร อย่างไรก็ตาม การที่จะริบรถยนต์ของกลางตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) หรือไม่นั้น อยู่ในดุลพินิจของศาล เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานทำให้แพร่หลายซึ่งแถบบันทึกภาพลามกเพื่อความประสงค์แห่งการค้าและโดยการค้า แม้จำเลยไม่มีหรือไม่ใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิด จำเลยก็สามารถกระทำความผิดนี้สำเร็จได้ ประกอบกับจำเลยใช้รถยนต์ของกลางบรรทุกแถบบันทึกภาพลามกเพียง 570 แผ่นเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาจึงเห็นว่าไม่ควรริบรถยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9283/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาล, วิชาชีพเวชกรรม, และโรคศิลปะ เป็นความผิดคนละกรรม, ศาลลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้
สถานพยาบาลตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 หมายความว่า สถานที่ซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะหรือการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงเป็นการกระทำด้วยเจตนาจัดสถานที่เพื่อการตรวจรักษาโรคโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต่างจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ที่จำเลยมีเจตนาตรวจรักษาโรคให้สตรี ตรวจภายใน หรือทำแท้ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต
เมื่อพิจารณาใจความที่ศาลบันทึกคำฟ้องด้วยวาจาประกอบกับบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลแล้วได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยใช้บ้านพักของจำเลยเป็นสถานให้บริการทำแท้งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 57 มิใช่มาตรา 47 ที่โจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีเป็นเรื่องโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำคุก 2 ปี ฐานประกอบโรคศิลปะ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานประกอบโรคศิลปะ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน ไม่ริบบัตรประจำตัวประชาชนลูกค้า บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรประจำตัวนักศึกษาวิทยาลัยราชภัฏเลย และให้คืนแก่เจ้าของ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9134/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไต่สวนพยานหลักฐานในคดีละเมิดอำนาจศาลต้องชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้
ผู้ถูกกล่าวหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยที่มิได้กระทำต่อหน้าศาล และผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ ศาลจำต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพื่อหาข้อเท็จจริงก่อน การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ไต่สวนดาบตำรวจ ท. พยานของผู้กล่าวหา แล้วรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามบันทึกข้อความเรื่องรายงานมีผู้กระทำความผิดในบริเวณศาลของดาบตำรวจ ท. ว่า ผู้ถูกกล่าวหานำข้าวกล่อง 2 กล่อง ซึ่งซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน 4 เม็ด ไปฝากให้ น. ผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมผู้ต้องหาของศาล ดังนี้ บันทึกข้อความดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่ายังรับฟังเป็นความจริงยังไม่ได้ การไต่สวนของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ผู้ถูกกล่าวหามิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 จึงพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาสองคนในการพิจารณาคดีอาญา การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยผู้พิพากษาคนเดียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การที่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบโดยฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 26 เนื่องจากการพิพากษาคดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยยกคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8844/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การพาอาวุธปืนในเมืองและสถานบริการ ไม่ถือเป็นความผิดต่างกรรม
การที่จำเลยพาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับการที่จำเลยนำอาวุธปืนเข้าไปในสถานบริการ เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือ พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ความผิดดังกล่าวจะมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องต่างกรรมกันและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นเป็นความผิดทันทีก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐหลายคน กรณีทุจริตเบิกจ่ายเงิน ความรับผิดจำกัดเฉพาะส่วน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกาการอนุมัติเบิกจ่ายเงินและในชั้นตรวจจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่จะเก็บฎีกาไว้เป็นหลักฐานเพื่อการตรวจสอบ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ.2531 เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงนามโดยมิได้มีการตรวจสอบตามระเบียบดังกล่าว อันทำให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินไปใช้ส่วนตัวโดยทุจริต จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์คาบเกี่ยวก่อนและหลังวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ คือวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ดังนั้น จึงต้องนำมาตรา 8 วรรคสี่ ที่บัญญัติเป็นคุณแก่เจ้าหน้าที่มาใช้บังคับต่อการทำละเมิดหลังวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่มีผลใช้บังคับ ส่วนการทำละเมิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ฯ มีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 432

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8650/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: หลักฐานการซื้อขายที่ไม่น่าเชื่อถือ และการกำหนดค่าทดแทนที่เป็นธรรม
แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะกำหนดหลักการสำคัญเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐในการจ่ายค่าทดแทนเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ว่า "...ต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายในการเวนคืนนั้น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" และความในวรรคสองยังกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนด้วยว่า "การกำหนดค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติ การได้มา สภาพ และที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน" แต่การได้มาโดยการซื้ออสังหาริมทรัพย์รวมทั้งความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนนั้น จะต้องเป็นการได้มาโดยการซื้อขายกันจริงๆ ด้วยความสุจริต และผู้ถูกเวนคืนได้รับความเสียหายอย่างแท้จริงด้วย จึงจะนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8581/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวมโดยการโอนให้กัน ไม่ถือเป็นการขายและไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 การแบ่งทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธ์รวมพึงกระทำโดยการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเองระหว่างเจ้าของรวม หรือตกลงขายทรัพย์สินนั้นแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน เจ้าของรวมจึงมีสิทธิที่จะตกลงแบ่งทรัพย์สินกันโดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 2 วิธีดังกล่าว เมื่อที่ดินที่โจทก์และ ก. ต่างฝ่ายต่างจดทะเบียนโอนให้ซึ่งกันและกันนั้นเดิมเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย แต่ได้เปลี่ยนสภาพการถือกรรมสิทธิ์รวมมาเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายตามส่วนของตน อันเข้าลักษณะเป็นการแบ่งทรัพย์สินกันเองระหว่างเจ้าของรวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 แม้เนื้อที่ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนได้รับแตกต่างกัน แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณเป็นเงินเพิ่มขึ้น จากส่วนที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมากกว่า ก. กรณีมิใช่การโอนที่เป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) แม้การจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวจะจำเป็นต้องทำเป็นสัญญาซื้อขายตามระบบจดทะเบียนก็ตาม ก็ไม่อาจถือเป็นการซื้อขาย เพราะตามเจตนาและข้อเท็จจริงไม่ใช่การตกลงซื้อขายโจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8581/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งทรัพย์สินรวมโดยการโอนที่ดินระหว่างเจ้าของรวม ไม่ถือเป็นการขาย จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์และ ก. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินผืนใหญ่ติดต่อกันซึ่งแบ่งแยกทางทะเบียนออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) 64 ฉบับ ตามฟ้อง การที่โจทก์ต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินจำนวน 33 แปลง ให้แก่ ก. และ ก. ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน จำนวน 7 แปลง ให้แก่โจทก์ โดยที่ดินที่ต่างฝ่ายต่างจดทะเบียนโอนให้ซึ่งกันและกันนั้นเดิมเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย แต่ได้เปลี่ยนสภาพการถือกรรมสิทธิ์รวมมาเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายตามส่วนของตน อันเข้าลักษณะเป็นการแบ่งทรัพย์สินโดยวิธีตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเองระหว่างเจ้าของรวมตามวิธีแรกของมาตรา 1364 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้เนื้อที่ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนได้รับแตกต่างกัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณเป็นเงินเพิ่มขึ้นจากส่วนที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมากกว่า ก. กรณีมิใช่การโอนที่เป็นการขายตามความหมายในมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร แม้การจดทะเบียนโอนดังกล่าวจะจำเป็นต้องทำเป็นสัญญาซื้อขายตามระบบจดทะเบียนก็ตาม ก็ไม่อาจถือเป็นการซื้อขาย เพราะตามเจตนาและข้อเท็จจริงไม่ใช่การตกลงซื้อขาย แต่เป็นเพียงการตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมเท่านั้น เมื่อการโอนที่ดินจำนวน 33 แปลง ของโจทก์ให้แก่ ก. ไม่ถือเป็นการขายตามความหมายในมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะกรณีของโจทก์เช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของโจทก์และจำเลยมีว่า กรณีมีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า เมื่อการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีโจทก์โอนที่ดินจำนวน 33 แปลง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเบี้ยปรับที่โจทก์จะต้องเสียสำหรับการประเมินดังกล่าว ปัญหาการงดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะนี้จึงตกไป ส่วนการงดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีโจทก์ร่วมกับ ก. ขายที่ดินให้แก่ ด. นั้น ปรากฏว่า สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 8 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์มาพบและส่งเอกสารหลักฐานมาให้ตรวจสอบรวม 4 ครั้ง โดยก่อนออกหนังสือครั้งที่ 4 โจทก์มาพบ แต่ไม่ให้ถ้อยคำ กรณีจึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ แต่เมื่อบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะใช้บังคับก่อนมีการขายที่ดินดังกล่าวไม่ถึง 2 เดือน โจทก์อาจไม่รู้หรือ ไม่เข้าใจระบบการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งในระหว่างนั้นมิได้มีการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ณ สำนักงานที่ดินในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายอสังหาริมทรัพย์ แต่กำหนดให้เสีย ณ ที่ว่าการอำเภอภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จึงไม่อาจถือว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ดังนั้น กรณีมีเหตุที่จะลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้น จึงเหมาะสมแล้ว ส่วนการที่ ก. ได้รับการงดเบี้ยปรับ แต่โจทก์ได้รับการลดเบี้ยปรับเท่านั้น จะถือว่าไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ไม่ได้ เพราะเมื่อ ก. รู้ว่าต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะก็อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะปัญหาเบี้ยปรับเท่านั้น แต่โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งปัญหาการเสียภาษีและเบี้ยปรับด้วย ก. จึงควรได้รับความปรานีมากกว่าโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ทั้งของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น
of 28