คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธานิศ เกศวพิทักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 275 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10338/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบิกความเท็จในคดีอาญา: ความสำคัญของคำเบิกความต่อการรับฟังพยานหลักฐาน
ในคดีอาญาเดิม พนักงานอัยการโจทก์ไม่สามารถติดตามตัว จ. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้ จึงจำเป็นต้องส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ จ. บันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาทั้งสองและบันทึกการชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งจำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาให้ จ. และพิมพ์ลายนิ้วมือในคำแปลไว้ กับจำเป็นต้องส่งบันทึกการสอบปากคำจำเลยในฐานะผู้ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาให้ จ. ฟัง เป็นพยานหลักฐานต่อศาล และเพื่อให้พยานดังกล่าวมีคุณค่าในการรับฟังจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำตัวจำเลยมาเบิกความยืนยัน การที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จโดยเบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นว่า จำเลยพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือลงในเอกสารทุกฉบับโดยที่จำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลและมิได้สาบานตัวว่าจะทำหน้าที่เป็นล่ามแปลต่อพนักงานสอบสวน ทั้งเบิกความด้วยว่าจำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามในการชี้ตัวและชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองเลย ความเท็จที่จำเลยเบิกความจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลย พยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ล่ามแปลของจำเลยดังกล่าว ย่อมเป็นพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นโดยมิชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เลย เพราะต้องห้ามมิให้โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก บัญญัติแต่เพียงว่า "ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี..." เท่านั้น แสดงว่าเพียงความเท็จที่ผู้กระทำผิดเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์ความจริงได้ก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ตามองค์ประกอบความผิดดังกล่าวหาได้ระบุว่าต้องเป็นข้อสำคัญในคดีถึงขนาดที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ได้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8654/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องขาดอายุความ, สิทธิทายาท, สัญญาซื้อขาย, สินสมรส, ข้อต่อสู้ของผู้ร้องสอด
คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องสอดเองในฐานะเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งมาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ร้องสอดที่เข้าเป็นคู่ความในคดีมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาเป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องสอดในการต่อสู้คดีของโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8411/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขับรถโดยใช้เอกสารราชการปลอม และประเด็นการริบของกลางตามมาตรา 32 ป.อ.
แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่มีผู้ทำปลอมขึ้นเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำขึ้นเป็นความผิดซึ่งต้องริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ตาม ป.อ. มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8379/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานนอกฟ้องและบัญชีพยาน โจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องเอกสารในคดีแพ่ง
พยานหลักฐานที่ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 228 และพยานหลักฐานที่ศาลยอมให้คู่ความฝ่ายที่อ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาไม่ควรเชื่อฟังนำมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 120 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น มิใช่การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด หรือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่กฎหมายบังคับว่าโจทก์จะต้องบรรยายมาในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) อีกทั้งมิใช่พยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์ที่จะนำสืบสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนจะต้องนำสืบในกรณีปกติอันจะอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 หรือมาตรา 173/1 ที่คู่ความจักต้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยการครอบครองทรัพย์สิน การครอบครองแทนทายาท และอายุความมรดก
การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยกรณีรถสูญหายจากการประมาทของบุคคลภายนอก และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง
เหตุที่รถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้สูญหายเกิดจากการกระทำของ ส. ที่ขับรถเข้าไปจอดเพื่อเข้าห้องน้ำโดยไม่ดับเครื่องยนต์จนมีคนลักเอารถไปได้ ซึ่งไม่ว่าการกระทำของ ส. จะเป็นเพียงการประมาทเลินเล่อหรือถึงขนาดเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มิใช่การกระทำของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยโดยตรง จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง และเมื่อธนาคาร ธ. ผู้รับประโยชน์ใช้สิทธิฟ้องบังคับโจทก์กับพวกให้คืนหรือใช้ราคารถยนต์กับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อไปแล้วโดยไม่ใช้สิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย อันมีผลทำให้โจทก์ยังคงเสียหายโดยไม่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย ดังนี้ โจทก์ในฐานะคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้โดยตรงตามสิทธิเรียกร้องในสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล ผลกระทบต่อธุรกิจ และการรอการลงโทษ
อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้นมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 11 (7) แห่ง พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 เพียงมาตราเดียว อีกทั้งตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทำนองว่าเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นสั่งฎีกาไม่ได้ ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาต่อไปว่า พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่สั่งไม่ฎีกาเป็นสั่งให้ฎีกานั้น จะต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่เพียงพอเห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิด โดยอาศัยเทียบเคียงกับ ป.วิ.อ. มาตรา 147 นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 147 แห่ง ป.วิ.อ. เป็นเรื่องผลของการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ซึ่งห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายในชั้นสอบสวน เป็นคนละเรื่องคนละขั้นตอนกับคดีละเมิดอำนาจศาลอันเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง โดยที่มิได้มีผู้ใดเป็นโจทก์ฟ้องคดี ดังนั้น ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาปล่อยผู้นั้น พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) จึงมอบให้พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาว่าจะสมควรฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 147 มาเทียบเคียงกับอำนาจฎีกาของพนักงานอัยการตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) กรณีการสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมีคำสั่งให้ฎีกา ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21441/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีหมิ่นประมาทจากหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ ก.ตร./ก.ต.ช. เมื่อคดีเดิมยังอยู่ระหว่างพิจารณา
ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2639/2550 ของศาลแขวงดุสิต โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมิให้เลื่อนโจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกส่งคนไปคุกคามข่มขู่จำเลยและพยานของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ เพื่อขอให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณามิให้เลื่อนโจทก์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชั่วคราวจนกว่าคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาจะถึงที่สุด ซึ่งมีสาระแห่งการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทของจำเลยเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้การมีหนังสือขอความเป็นธรรมทั้งในคดีก่อนและคดีนี้ จำเลยจะได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการของ ก.ตร. และกรรมการ ก.ต.ช. คนละคนกันดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกัน คือเจตนาที่จะร้องขอความเป็นธรรมมิให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณาเลื่อนตำแหน่งของโจทก์นั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้เป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ คำฟ้องคดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10579/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเกิน 15 หน่วยการใช้ สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ต้องมีพฤติการณ์สนับสนุน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ปรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทงละ 1,800 บาท จำเลยที่ 4 อายุกว่าสิบเจ็ดปี แต่ยังไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 ให้ปรับ กระทงละ 900 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ฉะนั้น ความผิดฐานนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนข้อหาความผิดของจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ กระทงละ 900 บาท จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 4 จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ (4) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยในข้อหาความผิดนี้จึงเป็นการไม่ชอบ
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยรับฟังลงโทษไม่ได้นั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 4 ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฐานร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 นำเข้าเพื่อจำหน่ายและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 172 เม็ด และฟังว่าจำเลยที่ 4 นำเข้าเพื่อจำหน่ายและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 15 เม็ด ซึ่งแตกต่างจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันนำเข้าเพื่อจำหน่ายและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 187 เม็ด ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ยังคงพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ทั้งยังกำหนดโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย กรณีจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6407/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมผู้บริโภค: ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความแพ้คดีชำระแทนได้ แม้กฎหมายยกเว้นให้โจทก์
แม้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคสอง เพียงแต่บัญญัติยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาล แต่มิได้มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงอำนาจศาลในการที่จะพิจารณาสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลในนามของผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเหมือนเช่นกรณีการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลเพราะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ก็ตาม แต่กรณีก็ต้องนำบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 158 (เดิม) ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมแก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินคดีในศาลในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ดังนั้น แม้กฎหมายจะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือโจทก์ก็ตาม แต่อานิสงส์เช่นว่านี้ก็ไม่ควรเป็นประโยชน์ที่ตกได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งที่ฟ้องหรือสู้ความโดยไม่สุจริต โดยเหตุนี้หากในการพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่แพ้คดีจะต้องเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 นั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมอื่น นอกจากค่าทนายความต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมนั้นได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอ แต่กลับพิพากษาให้ชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143
of 28