คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธานิศ เกศวพิทักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 275 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2171/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ไม่มีทะเบียน แม้ผู้กระทำผิดเสียชีวิต ศาลยังคงมีอำนาจริบได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า อาวุธปืนของกลางที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จึงเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดที่ ป.อ. มาตรา 32 บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ผู้ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนกระบอกนี้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม ก็ต้องอยู่ในบังคับแห่ง ป.อ. มาตรา 32 ที่ศาลจะต้องสั่งให้ริบเสียทั้งสิ้น
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2554)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13847/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีธุรกิจเฉพาะ: เช็คเกี้ยวช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ไม่ถือเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากนิติบุคคลซึ่งเป็นสถาบันการเงินซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยไม่ได้บรรยายฟ้องตั้งประเด็นพิพาทว่า ถิ่นอันเป็นที่ตั้งของสำนักสาขาธนาคารทั้งสองแห่งในสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นภูมิลำเนาของธนาคารทั้งสองแห่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 69 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือโจทก์ไม่สามารถยกปัญหาเช่นนี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ อันจะเข้าข้อยกเว้นให้โจทก์มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีตุลาคม 2535 ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายและเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีเดือนดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2545 จึงต้องถือว่าเป็นการประเมินเมื่อพ้นกำหนดสองปี แต่ยังไม่เกินสิบปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/6 (1) (ค) จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการโดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละ 25 ของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษีหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏจากผลการตรวจสอบว่า โจทก์มียอดขายเพิ่มขึ้นและมียอดแตกต่างคิดเป็นร้อยละ 43.83 ของฐานภาษีที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไว้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีให้โจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/6 (1) (ค)
เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่าโจทก์บันทึกรายงานสินค้าและวัตถุดิบที่มีไว้ขายน้อยกว่าสินค้าตามการตรวจสอบมีมูลค่าเป็นเงิน 61,072,244.82 บาท ถือว่าเป็นการขายสินค้าในประเทศ สำหรับสินค้าตามมูลค่าที่ตรวจสอบนั้นไม่อาจระบุได้ว่าเป็นยอดขายของเดือนภาษีใด ซึ่งตามหลักการบัญชีจะต้องนำยอดขาดบัญชีนี้ไปปรับปรุงเป็นยอดสุดท้ายของงวดหรือรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และเป็นคุณแก่โจทก์ในการคิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม หาใช่ว่าใช้วิธีคำนวณจากฐานภาษีของแต่ละเดือนภาษีตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2535 ถึงเดือนภาษีตุลาคม 2535 มาคำนวนรวมกันไม่
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยื่นแบบแสดงรายการเป็นรายเดือนพร้อมกับชำระภาษีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 83 ดังนั้น ฐานภาษีที่จะนำมาพิจารณาคำนวณว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไว้ต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละ 25 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาเฉพาะฐานภาษีสำหรับเดือนภาษีที่มีการประเมินเท่านั้น
โจทก์ได้รับชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเต็มมูลค่าแล้ว แต่โจทก์มีบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระตามงบการเงิน ย่อมมีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการลงบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระจำนวนดังกล่าวนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นการค้างชำระค่าหุ้นจริง แต่ถือเสมือนว่าโจทก์ปฏิบัติอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดผลเช่นเดียวกับการที่โจทก์ยอมให้ผู้ถือหุ้นกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่เมื่อกรณีดังกล่าวเป็นเงินให้กู้ยืมอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนโดยออกหุ้นใหม่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 เพียงคราวเดียวเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5)
ก่อนถึงฤดูผลิตน้ำตาล โจทก์จะสั่งจ่ายเช็คให้ชาวไร่อ้อยนำไปขายลดให้แก่ธนาคารแล้วนำเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตอ้อยส่งโรงงานให้โจทก์ จากนั้นเมื่อชาวไร่อ้อยนำอ้อยมาขายแก่โจทก์ในแต่ละฤดูการผลิต โจทก์จะคิดราคาอ้อยหักกับจำนวนเงินตามเช็คที่จ่ายไป หากส่งอ้อยได้ไม่พอกับจำนวนเงินตามเช็คโจทก์ถือว่าชาวไร่อ้อยเป็นหนี้โจทก์ตามมูลค่าส่วนที่ขาดอยู่ เมื่อถึงฤดูการผลิตใหม่โจทก์ก็จะออกเช็คให้อีกแม้ยังชำระหนี้เดิมไม่หมด แต่จะจ่ายไม่เต็มจำนวนเงินที่ให้ไว้เดิมและแม้ชาวไร่อ้อยบางรายจะเป็นหนี้โจทก์เป็นเวลานานโจทก์ก็จะไม่ตัดสิทธิที่จะให้เงินช่วยเหลือและมิได้คิดดอกเบี้ย ทั้งจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีแม้ยอดหนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะโจทก์เกรงว่าชาวไร่อ้อยรายอื่น ๆ จะไม่นำอ้อยมาส่งโรงงาน เช็คดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจ่ายค่าซื้อสินค้าล่วงหน้า อัตราการจ่ายเงินตามเช็คนี้ไม่ได้หมายความว่าชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินเต็มจำนวนนั้น แต่หมายถึงวงเงินที่ชาวไร่อ้อยจะได้เงินช่วยเหลือเป็นเงินค่าปุ๋ยหรือค่ายาฆ่าศัตรูพืชเป็นต้น ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการตลาดไว้ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาว่า การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าเพื่อช่วยให้ชาวไร่อ้อยนำเช็คไปแลกเงินจากธนาคารพาณิชย์ โดยวิธีขายลดเช็ค ชาวไร่อ้อยต้องเสียส่วนต่างเป็นดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพาณิชย์ผู้ซื้อเช็คโดยตรง ชาวไร่อ้อยไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับเพียงให้ชาวไร่อ้อยนำอ้อยที่ปลูกได้มาส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้มีวัตถุดิบอ้อยป้อนเข้าโรงงานน้ำตาลของโจทก์ ข้อตกลงในเรื่องนี้หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการให้กู้ยืมไม่ แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่บังคับกันได้ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโจทก์ ธุรกรรมดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่จำเป็นของโจทก์ในการแสวงหาวัตถุดิบคืออ้อยจากชาวไร่อ้อยมาเป็นปัจจัยในการผลิต จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7173/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษจำคุกหลังคดีถึงที่สุดแล้วเป็นไปไม่ได้ แม้จะมีข้อกฎหมายหรือคำพิพากษาใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อจำเลย
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือกำหนดโทษไม่ถูกต้อง จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่ ดังนี้ หากศาลกำหนดโทษจำเลยใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของห้างสรรพสินค้าต่อการโจรกรรมรถยนต์ของลูกค้า: ตัวการ-ตัวแทน
จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอด ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้องของจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 ไม่เก็บค่าจอดรถ แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ทั้งห้างของจำเลยที่ 1 มีลูกค้าขับรถยนต์มาจอดและเข้าซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากการดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ย่อมมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาและแต่งตั้งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้บริโภคขับรถยนต์พิพาทไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยรับบัตรจอดรถฉบับบนจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ประจำอยู่ประตูทางเข้าของห้าง โดยจำเลยที่ 4 ได้เขียนกำกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของผู้บริโภคไว้ในบัตรจอดรถก่อนมอบให้ผู้บริโภค เมื่อจอดรถแล้วผู้เสียหายได้เข้าไปซื้อสินค้าในห้างของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นประมาณ 50 นาที ผู้บริโภคได้กลับมาที่จอดรถ ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทหายไปแล้ว โดยบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค การออกบัตรจอดรถให้เจ้าของรถยนต์ที่ผ่านเข้ามาจอดในลานจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ โดยเขียนกำกับเฉพาะหมายเลขทะเบียนแต่ไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษรหน้าหมายเลขทะเบียน และบัตรอ่อนไม่ระบุวันเดือนปีและเวลาที่รถยนต์เข้ามาจอด จึงง่ายต่อการปลอมแปลงและนำมาใช้ซ้ำ การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยปล่อยให้คนร้ายนำรถของผู้บริโภคออกจากลานจอดรถโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ถูกลักไป เป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างที่กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และ 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อผู้บริโภค
ตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ครอบคลุมเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างและลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่านอกจากจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วยังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลหรือครอบครองของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากนี้ยังได้ระบุในสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ข้อ 7.3 ว่า "ประสานงานและให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามโจรกรรม การก่อวินาศกรรม การก่ออาชญากรรมทุกรุปแบบตลอดจนการก่อความวุ่นวาย การจลาจลต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบริเวณสถานที่ของผู้ว่าจ้าง" ด้วย จึงย่อมรวมถึงรถยนต์ของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่มาจอดในบริเวณห้างและถูกคนร้ายลักไปเพราะการลักทรัพย์ถือเป็นการโจรกรรมและการก่ออาชญากรรมอย่างหนึ่ง จึงอยู่ในขอบเขตการว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนที่รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในห้างจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดทำให้รถยนต์พิพาทของผู้บริโภคสูญหายไป จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ให้บริการที่จอดรถในห้างสรรพสินค้าต่อความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ของผู้ใช้บริการ
แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขามีนบุรี จะไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่มาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 และไม่มีการเก็บค่าจอดรถก็ตาม แต่การก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน ต่อพื้นที่ทุกๆ 20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของห้าง โดยต้องตรวจบัตรเมื่อจะนำรถออกให้ตรงกับทะเบียนรถ จึงเป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ตามพฤติการณ์เป็นการให้บริการอย่างหนึ่งที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จึงเป็นผู้ให้บริการ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 3 และนอกจากผู้บริโภคในคดีนี้แล้วยังมีผู้บริโภคอื่นอีกหลายรายที่นำรถไปจอดในที่จอดรถของห้างจำเลยที่ 1 แล้วสูญหายไป การดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 39 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง เมื่อปรากฏว่ารถที่สูญหายไปบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ระมัดระวังในการออกบัตรจอดรถและตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัดเป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้บริโภคถูกลักไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้าง ตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 1 ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจึงต้องรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้ทำแทนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4590/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารที่ใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเปลี่ยนประเภทกิจการ การคืนภาษีซื้อและอายุความ
การที่โจทก์ทำการประเมินให้จำเลยคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับไป โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยได้รับคืนไปนั้นเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการใช้อำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แม้ต่อมาการประเมินดังกล่าวจะถูกเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ปลดภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินเป็นเดือนภาษีกันยายน 2538 เพียงเดือนเดียว และให้เจ้าพนักงานประเมินปรับปรุงการประเมินใหม่ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ทำให้ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารที่จำเลยได้รับคืนไปจากโจทก์ตั้งแต่เดือนภาษีกรกฎาคม 2535 ถึงเดือนภาษีกันยายน 2538 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม และโจทก์คืนภาษีอากรผิดพลาดนั้นระงับไปด้วย เมื่อโจทก์เห็นว่าภาษีซื้อในกรณีดังกล่าวไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5 (6) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนภาษีซื้อดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉย ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยคืนภาษีซื้อที่ได้รับไปดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยถึง 2 ครั้ง ในมูลหนี้เดียวกันอันเป็นการซ้ำซ้อนไม่ เพราะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มต่างเดือนภาษีกับที่จำเลยได้ชำระตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพราะมูลหนี้ดังกล่าวยังไม่ระงับไปตามกฎหมาย
หนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีอากรผิดพลาดเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการสั่งให้จำเลยนำภาษีซื้อที่ได้รับไปมาคืนให้แก่โจทก์ อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เหตุผลที่โจทก์ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพราะโจทก์อ้างว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่ง ป.รัษฎากร โดยก่อนที่จะมีหนังสือดังกล่าวเจ้าพนักงานของโจทก์ได้มีหนังสือเชิญพบให้จำเลยไปรับทราบการเรียกภาษีคืนแล้ว และผู้รับมอบอำนาจของจำเลยได้ไปพบเจ้าพนักงานของโจทก์ตามหนังสือเชิญพบและรับทราบการเรียกภาษีดังกล่าวคืน จึงถือว่าผู้รับมอบอำนาจของจำเลยได้ทราบถึงเหตุผลในการออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องระบุเหตุผลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจอีก เนื่องจากเหตุผลนั้นเป็นที่รู้อยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีกตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จึงฟังไม่ได้ว่าหนังสือแจ้งสั่งคืนภาษีอากรผิดพลาดของโจทก์เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินคิดภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไม่ถูกต้อง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงคิดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้นำภาษีซื้อที่เกิดจากรายอื่นหรือนำรายรับอย่างอื่นมาคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด ทั้งเป็นเดือนภาษีเกี่ยวกับที่เจ้าพนักงานโจทก์ตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นหรือเป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเก็บภาษีจากจำเลยแต่อย่างใด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจกระทำได้ ทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว จึงมิได้ขัดกับมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แต่อย่างใด
ในขณะทำสัญญาร่วมลงทุนระหว่างจำเลยกับบริษัทซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กรรมสิทธิ์ในส่วนเฉพาะอาคารยังเป็นของจำเลย ซึ่งแม้จำเลยมีสิทธินำอาคารนี้ออกขายหรือให้ผู้อื่นเช่าได้ และตามสัญญาร่วมลงทุนประกอบกับเอกสารท้ายสัญญาร่วมลงทุนนี้จะมีข้อตกลงระหว่างจำเลยกับบริษัทซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับอาคารที่จำเลยตกลงให้บริษัทซีอาร์ อุดรธานี (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ว่าเป็นการขายหรือให้เช่าก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์อยู่เพียง 30 ปี เท่านั้น ย่อมไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทซีอาร์ อุดรธานี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าของได้ตลอดไป บริษัทนี้จึงใช้อาคารได้ตามสัญญาเพียง 30 ปี แม้จะต้องเสียค่าตอบแทนมูลค่าการใช้อาคารดังกล่าวตามสัญญาก็ตาม แต่ตามปกติบุคคลที่ตกลงจะเสียค่าตอบแทนเพื่อการใช้อาคารได้ในเวลา 30 ปี และไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ตลอดไปได้ น่าจะเลือกทำนิติกรรมเป็นการให้เช่าอาคารโดยเสียค่าตอบแทนตามมูลค่าอันควรสำหรับการได้ประโยชน์จากการใช้อาคารในช่วงระยะเวลาอันจำกัดเท่านั้น ไม่น่าจะยอมจ่ายค่าตอบแทนสูงเยี่ยงราคาทรัพย์สินที่จะได้กรรมสิทธิ์ตลอดไปอย่างการซื้อทรัพย์สินแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าเจตนาอันแท้จริงระหว่างจำเลยกับบริษัทซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการให้บริษัทซีอาร์ อุดรธานี (ประเทศไทย) จำกัด ใช้อาคาร 30 ปี นี้ ที่เป็นไปตามปกติประเพณีโดยสุจริตเป็นการเช่าอาคาร โดยจำเลยได้กระทำนิติกรรมให้เช่าอาคารภายใน 3 ปี นับแต่เดือนที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวที่จำเลยได้รับคืนไปจากโจทก์จึงเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 แห่ง ป.รัษฎากร ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2535 ข้อ 2 (4) จำเลยไม่อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล จึงฟังเป็นยุติว่ามีภาษีซื้อต้องห้าม
การที่โจทก์คืนภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยเป็นเพราะจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี และเป็นกรณีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย จำเลยขอคืนภาษีซื้อจากโจทก์ เมื่อโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อตามกฎหมาย โจทก์จึงคืนเงินค่าภาษีดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นเงินสด ดังนั้น การที่จำเลยได้ภาษีซื้อคืนมานั้นมิใช่เป็นการได้มาโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงมิใช่เป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3108/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์โดยการบังคับคดี: หน้าที่ในการเสียภาษีของผู้ถูกบังคับคดี
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองเห็นว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นการมิชอบ ศาลภาษีอากรกลางแจ้งว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นประเด็นย่อย ซึ่งอยู่ในประเด็นหลักที่ว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ จึงไม่ได้กำหนดประเด็นย่อยในการชี้สองสถานไว้นั้น เมื่อตามรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดชี้สองสถานและสำนวนความ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาท ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 21 วรรคท้าย จึงต้องถือว่าประเด็นข้อพิพาทมีอยู่ตามที่ศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานและได้กำหนดไว้
แม้ว่าการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อชำระให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งสองไม่จำต้องอาศัยความสมัครใจของโจทก์ทั้งสอง เมื่อเข้าลักษณะเป็นกรณีจำหน่ายจ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องด้วยนิยามคำว่า "ขาย" ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมิน ซึ่งหน้าที่ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นเป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองยังคงต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร จะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการขายทอดตลาดมิใช่หน้าที่ของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่เสียหรือนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 91/21 (6) ประกอบมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียภาษีส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้วินิจฉัยว่าการอนุญาตให้ฎีกาโดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภคขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ นั้น ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 52 ในเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลฎีกา โดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเท่านั้น คดีจึงจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ จึงไม่นำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภค การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1830/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตอุทธรณ์ข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค: ศาลฎีกาต้องเป็นผู้พิจารณา
แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ นั้น ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 52 ในเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลฎีกา โดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเท่านั้น คดีจึงจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภค ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1414/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เหตุศาลอุทธรณ์แก้ไขเล็กน้อยและลงโทษไม่เกิน 5 ปี ปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงินสด 440 บาท ของกลางแก่เจ้าของ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โดยในการพิจารณาว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น จะต้องแยกพิจารณาโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดในแต่ละกระทงโดยไม่นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนที่โจทก์ขอให้บวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้มาประกอบการพิจารณาด้วย ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอให้รอการลงโทษในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่บวกโทษของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ
of 28