คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ม. 124

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7802/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอาญาเกี่ยวกับอาวุธปืนของเยาวชน: การพิจารณาโทษและการแก้ไขบทมาตราโดยศาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลย (ขณะกระทำความผิดอายุ 17 ปีเศษ)มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 83, 288, 289 (4) พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามป.อ. มาตรา 91 รวมลงโทษจำคุกจำเลย 13 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจนครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้ในเรือนจำ 5 ปี เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนรวมกับการลงโทษจำคุกทางอาญาต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83 และมีความผิดในฐานพาอาวุธปืน ฯ ตาม ป.อ.มาตรา 371 อีกบทหนึ่ง แต่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง,72 ทวิ วรรคสอง อันเป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นการแก้เฉพาะบทมิได้พิพากษาแก้โทษด้วย จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลย ไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534มาตรา 124

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491/2540 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในคดีเยาวชน กรณีศาลใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเกิน 3 ปี
ในคดีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้ว ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีสำหรับเด็กและเยาวชน และคู่ความจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวได้เท่านั้น ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121, 122
สำหรับการฎีกา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 บัญญัติว่า คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121ซึ่งมีความหมายว่า คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาไปด้วยโดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่นกรณีอุทธรณ์
ศาลเยาวชนและครอบครัวพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุก4 ปี และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามมาตรา 124 ทั้งคดีไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา122 และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ การที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 3 โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 3 มานั้น เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัยให้