คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 900 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท: การพิสูจน์ผู้ทรงเช็คโดยชอบ & ข้อตกลงไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน
เช็คพิพาททั้งสามฉบับจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมีชื่อโจทก์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาททั้งสามฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาททั้งสามฉบับไว้ในครอบครองจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับตามมาตรา 904 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบย่อมมีภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1
จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับมอบให้ ว. โดยมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการนำไปเรียกเก็บเงินโดยโจทก์ทราบและโจทก์เอาเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปจากตู้นิรภัยของ ว. แล้ว ลงวันที่และเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยจำเลยไม่ยินยอมและธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบอันมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6414/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชี้ขาดการรับผิดตามเช็ค แม้มีข้อต่อสู้เรื่องการชำระหนี้ก่อน แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่มาตรา 244/1 ดังกล่าวบัญญัติเพิ่มโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 9 บัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และมาตรา 2 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย จำเลยนำสืบว่า โจทก์ปล่อยเงินกู้แก่พนักงานบริษัท ท. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน โดยจำเลยทำหน้าที่เก็บเงินจากลูกหนี้ โจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 10 ของเงินกู้ แต่จำเลยต้องมอบเช็คไว้ให้แก่โจทก์ เพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้โจทก์ เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับลูกหนี้แต่ละรายชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ หากเป็นความจริงดังข้อต่อสู้ของจำเลย การออกเช็คเพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้แก่โจทก์นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกกับการที่จำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ จากนั้นจำเลยกับโจทก์จึงจะมาคิดหักทอนบัญชีเกี่ยวกับมูลหนี้ หากโจทก์ไม่ได้รับเงินที่จำเลยเก็บจากลูกหนี้ โจทก์ก็จะได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกชำระหนี้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเก็บเงินจากลูกหนี้แล้ว ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คนั้น จะอ้างว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ เมื่อเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีของโจทก์ยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการชำระเงินซึ่งเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สมดังข้ออ้าง จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จำเลยต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้แทนและการผูกพันตามเช็ค: มูลหนี้เกิดจากการบรรเทาความเสียหายจากฉ้อโกง ไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน
มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3080/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการลาออกและบริษัทเลิกกิจการแล้ว ผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินต้องรับผิดส่วนตัว
การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าขณะจำเลยลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยได้ออกจากการเป็นกรรมการบริษัท บ. และได้มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว จำเลยไม่อาจกระทำการแทนบริษัท ทั้งบริษัทไม่สามารถรับผิดต่อโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยในฐานะผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทนั้นเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5368/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สั่งจ่ายเช็คต้องรับผิดตามเช็ค แม้จะอ้างว่าให้ยืมเช็คเพื่อค้ำประกันการขายลดเช็ค
เมื่อฟังได้ว่า จำเลยที่ 8 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยไม่ปรากฏในเช็คพิพาททั้งสองฉบับว่า เป็นเช็คค้ำประกันการขายลดเช็คดังที่จำเลยที่ 8 กล่าวอ้าง จำเลยที่ 8 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเนื้อความในเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์มีเช็คดังกล่าวไว้ในครอบครอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 การที่จำเลยที่ 8 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ขอยืมเช็คพิพาทไปค้ำประกันการขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของตนเองมาเปลี่ยน จำเลยที่ 8 มิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 นำไปชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นการยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยที่ 8 กับจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนมาต่อสู้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ส่วนที่จำเลยที่ 8 อ้างว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 8 มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์คบคิดกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลจำเลยที่ 8 อย่างไร จำเลยที่ 8 นำสืบมาเพียงว่า จำเลยที่ 8 ให้จำเลยที่ 6 ยืมเช็คพิพาทไปค้ำประกันการขายลดเช็คโดยจำเลยที่ 6 สั่งจ่ายเช็คของตนเองมาแลกเปลี่ยนเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังดังที่จำเลยที่ 8 อ้างมา จำเลยที่ 8 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับย่อมต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 884/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คสั่งจ่าย - สันนิษฐานความรับผิด - จำเลยต้องพิสูจน์การสูญหาย - ไม่ฟังเหตุผล
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ย่อมเข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ระบุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 เบิกความในฐานะพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงว่าเช็คพิพาทหาย และไปแจ้งความลงบันทึกในรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้เท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการใดต่อไปหรือแม้กระทั่งการเรียกคืนเช็คจากโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์พึงกระทำเลย และในรายละเอียดของรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายก็ไม่ได้กล่าวว่าเช็คพิพาทสูญหายไปอย่างไร แค่กล่าวอ้างอย่างลอย ๆ ว่าไม่แน่ใจว่าเช็คหล่นหายหรือถูกขโมย ย่อมยากที่จะรับฟังเป็นจริงตามภาระการพิสูจน์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14401/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ลงลายมือชื่อเช็คในฐานะผู้แทนและผู้ผูกพันตนเองตามกฎหมาย
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทด้วย โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการค้ำประกันหรือข้อความอื่นใดในทำนองเดียวกัน เช่นนี้ ต้องรับฟังว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันตนในอันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 หาใช่เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 990 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18343/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คไม่มีมูลหนี้: จำเลยต้องรับผิดตามเช็คที่ลงนาม แม้จะอ้างไม่มีมูลหนี้ ภาระการพิสูจน์อยู่ที่จำเลย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท แต่ยกข้อต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าไม่มีมูลหนี้ ภาระการพิสูจน์ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อโจทก์จึงตกแก่จำเลยผู้สั่งจ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16243/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดตามเช็ค: การลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนผู้อื่น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค และบุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คจะปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 901
การที่เช็คพิพาทมีลายมือชื่อของจำเลยทั้งสามเป็นผู้สั่งจ่ายโดยมีชื่อกองทุนสวัสดิการฯ ไว้ แต่ไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำการแทนกองทุนสวัสดิการฯ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามสั่งจ่ายเช็คพิพาทแทนกองทุนสวัสดิการฯ จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความ, อำนาจฟ้อง, เช็ค, การชำระหนี้, และการบังคับตามคำพิพากษา
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม... เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ...เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง..." และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (1)...(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี" ดังนั้น การที่โจทก์ขายเครื่องจักรอุตสาหกรรมเครื่องมือช่างทองให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ชำระราคา และโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งต่างเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือช่างทองด้วยกัน ทำสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างกันเอง โดยจำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์เพื่อขายต่อไปให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ขายสินค้าเพื่อกิจการของจำเลยผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกหนี้เองตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ฉะนั้น อายุความฟ้องร้องคดีของโจทก์ที่เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายจึงมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/12
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสามบัญญัติเพียงว่า ใบมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศที่มีกงสุลสยาม ต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน ถ้าทำในเมืองต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลสยามต้องให้โนตารีปับลิก ฯลฯ เป็นพยาน ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าผู้รับมอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ ฉะนั้น แม้ ว. และ ช. ผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจนั้นเสียไป โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์หรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คในอันที่จะใช้เงินแก่โจทก์ผู้ทรงเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง แต่การชำระหนี้ด้วยการออกเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงิน หนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำเช็ค 3 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่ระงับ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายละเลยไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเองก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนเงินค่าสินค้าครั้งหลังสุดจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจำเลยได้ชำระแล้วโดยหักจากเงินที่จำเลยสำรองจ่ายให้ ฟ. ตัวแทนของโจทก์บางส่วนและที่ ฟ. ให้จำเลยจ่ายค่าโรงแรมไปเป็นเงินรวม 99,177.05 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนนี้ด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไปแล้ว
of 2