คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 26 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ: ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเมื่อมีข้อตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับเหมาช่วงฯ อันเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิใช่ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 และหมวด 7 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223
การที่โจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการเจรจาและกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญารับเหมาช่วงฯ โดยทางศาล เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "may" ในสัญญาข้อ 19.2.1 มีความหมายในทางกำหนดให้คู่สัญญาต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3281/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันแม้สัญญาหลักสิ้นสุด - การตีความเจตนาคู่สัญญาและการบังคับตามสัญญา
สัญญาตัวแทนตามคำฟ้องเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยกับจำเลยซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งเมืองเบรเมิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นภูมิลำเนาของจำเลยจึงสามารถทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ ไม่ตกเป็นโมฆะ
สำหรับการตีความสัญญานั้นต้องตีความไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักปฏิบัติและกฎหมายไทยด้วย การที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration) มาเป็นหลักในการพัฒนานั้น มีบทบัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ และผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็อาจพิสูจน์เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้เช่นกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้คู่พิพาทหรือคู่สัญญาต้องนำข้อพิพาทไปฟ้องร้องต่อศาลจนมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเสียก่อน แล้วจึงอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นต่ออนุญาโตตุลาการ แม้การระงับข้อพิพาทของคู่ความมีด้วยกันหลายวิธี การนำคดีขึ้นสู่ศาลย่อมเป็นทางเลือกสุดท้าย ดังคำกล่าวว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ดังนั้น การแปลและตีความสัญญาตัวแทนซึ่งมีข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยนำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหาทางระงับข้อพิพาทร่วมกันก่อนเป็นอันดับแรก หากตกลงเจรจากันไม่สำเร็จ คู่สัญญาสามารถเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในย่อหน้าที่สองได้ ส่วนศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดหรือคัดค้านเพื่อไม่ให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในย่อหน้าแรก สัญญาข้อดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ โดยไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้
เมื่อสัญญามีข้อตกลงให้ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการอันถือว่าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 แล้ว แม้ต่อมาสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1527/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทประกันภัยรถยนต์: อายุความ, อนุญาโตตุลาการ, และการดำเนินการพิจารณาที่ชอบ
เมื่อข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับนี้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนทำกับผู้เอาประกันภัยให้สิทธิผู้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งก็คือ ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลผู้ต้องเสียหายจากวินาศภัยมีสิทธิใช้วิธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทได้ถ้าประสงค์หรือเห็นควร กรณีย่อมแตกต่างจากการที่คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างกันให้ระงับข้อพิพาทนั้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีข้อตกลงนี้คู่สัญญาย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ฉะนั้น ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ผู้ร้องจึงอาจเลือกใช้วิธีอนุญาโตตุลาการยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยระหว่างตนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวได้ แม้ตนจะยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองเรียกร้องให้รับผิดทางละเมิดแล้วก็ตาม การใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
ผู้ร้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นการเรียกจากผู้รับประกันภัยตรงตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ย่อมไม่ทำให้อายุความเรียกร้องทางแพ่งหรือฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลง ซึ่งวันวินาศภัยก็คือวันเกิดเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย หาใช่วันที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพราะเป็นวันที่มีการคำนวณค่าเสียหายเพื่อเรียกร้องแล้วไม่ ทั้งก็ไม่ได้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เพราะเหตุผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งรับค้ำจุนในบรรดาหนี้ทั้งปวงที่มีต่อผู้เสียหายซึ่งก็คือผู้ร้อง เนื่องจากแม้มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น
กรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาท ก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ รวมถึง ป.วิ.พ. ด้วย ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการก็ให้โอกาสผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นนั้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งงดการชี้สองสถานและปิดการพิจารณา ไม่นำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของผู้ร้องต่อไป ซึ่งก็สั่งเช่นนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอื่นจากพยานหลักฐานใดของทั้งสองฝ่ายมานำสืบอีก การพิจารณาดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของตน เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้ร้องซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้คัดค้าน และให้โอกาสผู้ร้องเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการกับสิทธิเรียกร้องหลังเลิกจ้าง: ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาได้
สัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 ระบุว่าให้ใช้กฎหมายประเทศไทยบังคับกับสัญญาฉบับนี้ ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ระงับโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายประเทศไทย และสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 9 ระบุว่าให้ใช้กฎหมายประเทศสวีเดน บังคับกับสัญญาฉบับนี้ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายประเทศสวีเดน แสดงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อโต้แย้งที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันอันเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 รวมทั้งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการกลับภูมิลำเนาก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว ไม่ใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นผลให้ไม่ต้องนำกฎหมายของประเทศสวีเดนมาใช้บังคับตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญารับเหมาช่วง: สิทธิฟ้องร้องต่อศาล แม้มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการที่ไม่ผูกมัด
ตามสัญญารับเหมาช่วงพร้อมคำแปล ข้อ 22.5 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า "หากการวินิจฉัยสุดท้ายของผู้รับเหมาไม่ได้รับการยอมรับจากผู้รับเหมาช่วง ผู้รับเหมาช่วงอาจจะดำเนินการตามกลไกการระงับข้อพิพาทที่ระบุไว้ตามความในข้อย่อย 22.7 ของสัญญารับเหมาช่วงนี้ แต่ไม่ผูกพันว่าต้องทำเช่นนี้เสมอไป" เช่นนี้ตามตอนท้ายของสัญญาข้อ 22.5 ดังกล่าวหาใช่เป็นการบังคับให้โจทก์จำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเสมอไปไม่ แต่มีความหมายไปในทางให้โอกาสโจทก์นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดหรือฟ้องต่อศาลทางใดทางหนึ่งก็ได้ ดังนั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลได้โดยไม่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9686/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาเช่าเรือ: โจทก์ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนฟ้องคดี
โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสัญญาเช่าเรือข้อ 21 ที่กำหนดว่า หากจำเลยใช้เวลาในการนำสินค้าบรรทุกลงเรือและขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเกิน 6 วัน จำเลยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมความล่าช้า (Demurrage) แม้ตามสัญญาเช่าเรือข้อ 24 จะมิได้กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ แต่ปัญหาว่าจำเลยใช้เรือล่าช้าเกินเวลาที่กำหนดอันเป็นผลให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อตกลงในสัญญาเช่าเรือดังกล่าว เมื่อสัญญาข้อ 24 กำหนดให้ระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1582/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ราคาสินค้าที่แท้จริง, ความผิดสัญญา, และความไม่สุจริตของคู่สัญญาในการซื้อขายเครื่องจักร
จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาว่า สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการแต่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทตามสัญญาต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้
จำเลยค้างชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์เพียง 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ 931,950 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเรียกร้องเกินจำนวนที่แท้จริงถึง 671,900 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นการอ้างความเท็จเพื่อเอาเปรียบจำเลย แต่จำเลยก็นำสืบทำนองว่า จำเลยเองเป็นฝ่ายขอให้โจทก์แสดงราคาสินค้าให้สูงเกินจริงด้วยเพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อสภาพกิจการของจำเลย รวมทั้งใช้ราคาที่กำหนดสูงขึ้นนี้ขอสินเชื่อต่อธนาคารและจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรนี้เป็นประกันการชำระหนี้สินเชื่อต่อธนาคารดังกล่าว ทั้งนี้โดยจำเลยถือโอกาสที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องชำระภาษีศุลกากรการนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม อันถือเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่สุจริตโจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์แห่งความไม่สุจริตดังกล่าวเรียกร้องเอาหนี้ได้เต็มจำนวน แต่จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าในส่วนคงค้างต่อโจทก์
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าเครื่องรีดพลาสติกในส่วนคงค้างต่อโจทก์ 260,050 ดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ก็ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของสินค้ารวมถึงอุปกรณ์ที่ยังขาดส่งรวมเป็นเงิน 3,377,261.31 บาท จำเลยจึงยังคงต้องชำระค่าสินค้าดังกล่าวแต่สามารถหักค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบออกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8808/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญา การเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลภายนอกสัญญายังคงดำเนินคดีในศาลได้
สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย ที่โจทก์และจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่สัญญานั้น ย่อมมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยและเข้าทำสัญญาผูกพันระหว่างกันเท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นบุคคลธรรมดา หาใช่บุคคลที่เป็นคู่สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาเพื่อขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ในชั้นศาลต่อไป
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตรงกันว่าให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ประกอบกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 กำหนดให้สิทธิเฉพาะคู่กรณีที่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการต่อกันเท่านั้น อันถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลจำหน่ายคดีในส่วนของตนได้ แม้จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องรับผิดด้วยและเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ก็ตาม แต่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีข้อโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการและอำนาจวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ กรณีสัญญาพิพาทเป็นโมฆะ
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยทั้งหกที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คู่ความแถลงรับว่าได้มีการทำสัญญาพิพาท และโจทก์รับด้วยว่าฝ่ายจำเลยได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ศาลชั้นต้นได้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 แล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้
ข้อตกลงระงับข้อพิพาทในสัญญาพิพาทระบุว่า ถ้ามีข้อพิพาทไม่ว่าชนิดใดก็ตามเกิดขึ้นระหว่างคู่กรณีที่เกี่ยวกับหรือสืบเนื่องจากสัญญาหรือทำงานตามสัญญา ไม่ว่าระหว่างการทำงานหรือภายหลังจากที่ทำงานแล้วเสร็จและไม่ว่าก่อนหรือหลังการบอกเลิกสัญญาหรือยุติสัญญาด้วยวิธีอื่นซึ่งรวมถึงข้อพกพาทอื่นๆ ข้อพิพาทนั้นจะต้องเสนอไปยังวิศวกรที่ปรึกษาโดยคำตัดสินดังกล่าวสามารถถูกทบทวนโดยการยุติปัญหาด้วยการประนีประนอมหรือโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าสัญญาพิพาทเป็นโมฆะเนื่องจากโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวคู่สัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและต้องการให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ได้ไปจากโจทก์คืน จึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีเกี่ยวข้องกับสัญญาพิพาทดังกล่าวซึ่งต้องมีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 24 บัญญัติว่า คณะอนุญาโตตุลการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก เมื่อโจทก์อ้างว่าสัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะและส่งผลต่อความเป็นโมฆะถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะทำการวินิจฉัย คู่สัญญาจึงต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งจำหน่ายคดีเพื่ออนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์อ้างสัญญาเป็นโมฆะ คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญา
การที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 ซึ่งในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คู่ความแถลงรับว่าได้มีการทำสัญญาพิพาท และโจทก์รับด้วยว่าฝ่ายจำเลยได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว และศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวในรายงานกระบวนพิจารณา อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 บัญญัติว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก ดังนั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะ และส่งผลต่อความเป็นโมฆะถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในการระงับข้อพิพาทซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะทำการวินิจฉัย การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้จำหน่ายคดีตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 3