คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคสอง (เดิม)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองสิทธิผู้รับจำนองในทรัพย์สินที่ถูกยึดจากการฟอกเงิน จำเป็นต้องพิสูจน์ความสุจริตและค่าตอบแทน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7711 ของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 การที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินนั้นภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความตามมาตรา 50 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ผู้ขอคุ้มครองสิทธิมีหน้าที่ต้องพิสูจน์เสียก่อนว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 53 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้
ตามคำร้องผู้ขอคุ้มครองสิทธิไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด โดยเพียงแต่ขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมามีผลผูกพันแม้ไม่มีสัญญาเป็นหนังสือ, การกระทำโดยสุจริต, และความร่วมรับผิดของจำเลย
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาจ้างเหมาพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะยังมิได้ทำเป็นหนังสือตามเจตนาของคู่สัญญา ประเด็นปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า แม้ว่า กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาว่าสัญญาจ้างเหมาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเป็นหนังสือดังเจตนาที่มีอยู่เดิม ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ส่งโทรสารแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ กิจการร่วมค้า จ. ว่าให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป กิจการร่วมค้า จ. จึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย ประกอบกับหนังสือที่ส่งทางโทรสารยังใช้แบบพิมพ์ที่มีหัวกระดาษระบุชื่อจำเลยที่ 1 จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้ ภ. พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า หลังจากกิจการร่วมค้า จ. เริ่มทำงานแล้ว กิจการร่วมค้า จ. ได้วางแคชเชียร์เช็คเป็นมูลค่าร้อยละ 5 ตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 รับไปเรียบร้อยแล้ว จากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และกิจการร่วมค้า จ. ปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ เท่ากับว่ามีการตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น ถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า พฤติการณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยฟังว่าคู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ล้วนเกิดจากความไม่สุจริตของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยนั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การเป็นข้อต่อสู้ไว้ แต่ปัญหาว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นนั้น เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ เพราะโจทก์ทราบข้อมูลภายในของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่อาจดำเนินการโครงการตามสัญญาจ้างเหมาพิพาทได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อส่งมอบให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตชี้นำจำเลยที่ 3 อย่างไร เท่ากับข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า กรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมาทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยทำงานให้จำเลยที่ 2 มาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 มาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือการที่โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำงานมูลค่าเป็นสิบล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้ชะลอโครงการ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้ ประการสำคัญที่สุดหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิเสธว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทยังไม่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็หากระทำไม่ ตรงกันข้ามกลับมีหนังสือขอให้กิจการร่วมค้า จ. ชะลองานและการทำสัญญาโครงการออกไปก่อน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของสัญญาจ้างเหมาพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: ที่ดินเป็นสินส่วนตัวหรือไม่ การถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญา
คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรง เป็นประเด็นเดียวกันว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ก. กับพันเอก ก. ดังนี้ เมื่อคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาโดยคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. และคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทและศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่โจทก์บรรยายฟ้อง และคู่ความนำสืบกับจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้ขณะยื่นฟ้อง ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. แม้ต่อมาพันเอก ก. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงก็ไม่มีส่วนใดเป็นทรัพย์มรดกของพันเอก ก. ซึ่งตกทอดแก่โจทก์ การที่ ก. ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่ละแปลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางแปลงที่ตนได้รับให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเช่นกัน จึงเป็นสิทธิโดยชอบของ ก. และจำเลยที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีมีทุนทรัพย์น้อยกว่า 50,000 บาท
ฟ้องแย้งของจำเลยขอห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการถือครองที่ดินของจำเลย และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่จำเลย ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับตามกฎหมาย คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีสภาพเป็นเพียงคำให้การ ส่วนเรื่องค่าเสียหาย จำเลยอ้างเหตุมูลละเมิดเนื่องจากถูกโจทก์ฟ้อง เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินตารางวาละ 300 บาท คิดเป็นทุนทรัพย์พิพาท 21,000 บาท ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์: การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงด้วยวาจาขัดกับหลักฐานหนังสือ และผลของการผิดสัญญา
การจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดรูปแบบและหลักฐานในการทำสัญญากันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ว่า สัญญาจะขายหรือจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ จากบทกฎหมายดังกล่าว หากคู่สัญญาจะทำสัญญาจะซื้อขายให้มีผลทางกฎหมายในการฟ้องร้องบังคับกันได้ ต้องเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือวางประจำหรือมัดจำ หรือมีการชำระหนี้บางส่วน เมื่อโจทก์และจำเลยเลือกรูปแบบของสัญญาโดยทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำกันไว้ ถือเป็นกรณีทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด โดยลงลายมือชื่อโจทก์และจำเลยไว้เพื่อให้คู่สัญญาฟ้องบังคับฝ่ายที่ผิดสัญญาได้ จึงเป็นกรณีที่หากฟ้องร้องบังคับคดีต้องมีสัญญาจะซื้อขายมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างเพิ่มเติมว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่ามีถนนทางผ่านเข้าออกไปยังที่ดินพิพาทเชื่อมกับถนนสาธารณะ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหาข้อนี้แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งคู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงรับฟังไม่ได้ว่ามีข้อตกลงเรื่องถนนเชื่อมผ่านตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเงินมัดจำคืน