คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 94 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8571/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสืบพยานบุคคลเพื่อประกอบข้ออ้างการระงับหนี้สัญญาซื้อขายที่ดิน ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์พร้อมเรียกค่าเสียหายซึ่งเป็นเรื่องละเมิด จำเลยให้การ ต่อสู้อ้างว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกันและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ในชั้นพิจารณาจำเลย ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนอ้างสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นพยานและเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยไม่ได้ ซื้อที่ดินแปลงที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้เดิม แต่ซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกัน เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เช่นเดียวกัน และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ซื้อใหม่นี้ไปเรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลว่ามีการ ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวต่อกันจริง แต่โจทก์ไม่ได้โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลย เพราะที่ดินดังกล่าว ติดที่ราชพัสดุบางส่วน จำเลยจึงขอย้ายแปลงไปเอาแปลงถัดไป กรณีดังกล่าวเป็นการที่โจทก์สืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระงับไปแล้ว เพราะโจทก์จำเลยได้ตกลงยกเลิกสัญญาดังกล่าวและตกลง ซื้อขายที่ดินแปลงอื่นต่อกันแทน เอกสารดังกล่าวไม่อาจใช้บังคับได้อีกต่อไป หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์สืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7592/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของไม่ติดอากรแสตมป์ ไม่เป็นอุปสรรคฟ้องร้องได้ พยานบุคคลใช้แทนเอกสารได้
สัญญาจ้างทำของมิได้ปิดอากรแสตมป์ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 118 จึงต้องห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแต่การจ้างทำของไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดังนั้นจึงรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่ดิน: การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงค่าเช่า และสิทธิเรียกร้องเงินคืน
การเช่าที่ดินเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 บังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินมีข้อความระบุว่า ผู้เช่ายอมเสียค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท การที่โจทก์สืบพยานบุคคลว่าเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2535ถึงเดือนสิงหาคม 2536 เดือนละ 8,000 บาท เป็นค่าเช่าที่แท้จริง เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาเช่า ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคแรก เมื่อปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การ ของจำเลยรับกันว่า สัญญาเช่ารายนี้กำหนดค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท จำเลยชำระให้โจทก์เกินจากค่าเช่าตามสัญญา ซึ่งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเงินที่จำเลยชำระเกินเป็นเงินค่ากินเปล่าล่วงหน้าแล้ว จึงต้องถือว่า จำเลยชำระเงิน ให้แก่โจทก์เช่นนั้นเป็นการกระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งเพื่อ ชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่ต้องชำระ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยจึงไม่มีสิทธิ ที่จะได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายที่ดิน: การข่มขู่, มัดจำ, และการบอกล้างสัญญา
ก่อนโจทก์จำเลยทำสัญญากันได้มีการโต้เถียงกัน แล้วโจทก์เดินขึ้นไปบนบ้านของโจทก์ เมื่อโจทก์กลับลงมากระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอะไรตุงอยู่เท่านั้น โดยโจทก์ไม่ได้กระทำการอย่างใดอันเป็นการข่มขู่ให้จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ยิ่งกว่านั้นในวันที่กำหนดจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยไปรอโจทก์ที่สำนักงานที่ดินตามนัด แต่ไม่พบโจทก์เพราะเป็นวันหยุดราชการ เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยมิได้ถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายสัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆียะ
สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อ 2 ระบุว่า "ในการจะซื้อขายนี้ผู้จะซื้อได้วางมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน 389,000 บาท ผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว" จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจะซื้อขายว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อไม่ได้วางมัดจำเงินจำนวนดังกล่าวและจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายไม่ได้รับเงินมัดจำนั้น เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์ผู้จะซื้อได้วางมัดจำเงินจำนวน 389,000 บาท และจำเลยผู้จะขายได้รับเงินมัดจำนั้นไว้แล้ว
แม้วันที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นวันเสาร์ อันเป็นวันหยุดราชการ ไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีที่อยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ.มาตรา193/8 ที่บัญญัติให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ในกรณีที่วันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องไปโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการอีกด้วย ดังนั้นการที่จำเลยไม่ได้ทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยก็ยังคงมีความผูกพันตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่จะต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อไป เมื่อต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาดังกล่าวไปยังโจทก์ ซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้