คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 112 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9181/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่-ช่วยซ่อนเร้นของผิดกฎหมาย-การลงโทษและบังคับคดีค่าปรับ
ความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี และยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 มีองค์ประกอบของความผิดและการกระทำที่มีเจตนาประสงค์ต่อผลแยกต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม ตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ อ. ได้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร และยินยอมมอบรถยนต์ของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งทางด่านศุลกากรแม่สอดได้อนุมัติให้ทำความตกลงระงับคดีแล้ว ก็เป็นการระงับเฉพาะในส่วนของ อ. ไม่ทำให้การกระทำความผิดของจำเลยระงับไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินค่าธรรมเนียมพร้อมอุทธรณ์: การไม่ต้องวางเงินซ้ำเมื่อศาลยกคำพิพากษาเดิม
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งแรกให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยอุทธรณ์โดยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกอุทธรณ์ของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่โดยให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ แต่จำเลยยังไม่ได้ขอรับเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่วางไว้ต่อศาลชั้นต้นคืน ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งที่สอง ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท กรณีถือว่าจำเลยได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางพร้อมอุทธรณ์เพิ่มเติมอีก ทั้งไม่จำต้องมีคำขอให้เอาเงินดังกล่าวมาวางพร้อมอุทธรณ์ครั้งที่สองด้วย อุทธรณ์ของจำเลยครั้งที่สองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 229 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางค่าธรรมเนียมพร้อมอุทธรณ์ครั้งแรก ทำให้ไม่ต้องวางซ้ำในการอุทธรณ์ครั้งที่สอง
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งแรก ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยอุทธรณ์โดยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกอุทธรณ์ของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ โดยให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ เงินค่าธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นเคยสั่งให้จำเลยต้องรับผิดใช้แทนโจทก์จึงถูกยกไป แต่จำเลยยังไม่ได้ขอรับเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่วางไว้ต่อศาลชั้นต้นคืน ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งที่สอง ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เงินค่าธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยรับผิดใช้แทนโจทก์ จึงมีจำนวนเท่ากันกับจำนวนเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยได้วางต่อศาลชั้นต้นในครั้งก่อนซึ่งจำเลยยังไม่ได้รับคืนไป กรณีถือว่าจำเลยได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางพร้อมอุทธรณ์เพิ่มเติมอีก ทั้งไม่จำต้องมีคำขอให้เอาเงินดังกล่าวมาวางพร้อมอุทธรณ์ครั้งที่สองด้วย อุทธรณ์ของจำเลยครั้งที่สองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 229 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การพิจารณาความเสียหายต้องดู ณ เวลาที่กระทำผิด แม้มีการโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ..." ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8496/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์เรื่องอายุความคดีอาญา: ศาลต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเรื่องการรู้ความผิดและตัวผู้กระทำผิดก่อน หากเป็นปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์จึงต้องห้าม
โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอย่างช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่าโจทก์ร่วมเพิ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ดังนี้ ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องย้อนไปวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อไร อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย หาใช่เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6601/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหลังสัญญาจะซื้อจะขาย และการจำกัดสิทธิของเจ้าของรวม
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ทำกับ ส. ข้อ 1 ระบุว่า ส. จะขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ ข้อนี้จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดีมาตั้งแต่ยื่นคำให้การในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ที่โจทก์เบิกความว่า ส. ตกลงขายที่ดินพิพาททั้งแปลงซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมด้วยก็ขัดแย้งกับที่ระบุในสัญญา และถือว่าเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ปัญหานี้แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้อ้างมาในคำแก้ฎีกา แต่เป็นเรื่องหลักเกณฑ์การรับฟังพยานเอกสาร อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. เท่านั้น ไม่ได้ซื้อที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ช. และจำเลยที่ 4 เจ้าของรวมด้วย สำหรับที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งทางราชการห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทั้งข้อ 3 ของหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ระบุว่า ส. จะทำการโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 10 ปี ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ยอมรับในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า ส. และโจทก์มีเจตนาจะไปดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานภายใน 10 ปี หลังจากครบกำหนดห้ามโอน ดังนั้นการที่คู่สัญญามีข้อตกลงเช่นนี้จึงหามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ เมื่อคู่สัญญาจะจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในภายหน้า กรณีจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
สัญญาข้อ 4 ระบุว่า นับแต่วันทำสัญญา ส. ยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เลย เชื่อว่า หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว โจทก์ผู้จะซื้อเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจริง แต่โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครอง เพราะ ส. มิได้สละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เพราะยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน 10 ปี โจทก์เพียงยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้แทน ส. ผู้ครอบครองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2527 พ้นกำหนดห้ามโอน 10 ปี แล้วโจทก์ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดย ส. มิได้โต้แย้งคัดค้าน จนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2554 ย่อมแสดงให้เห็นว่า ส. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินเพื่อตนต่อไป การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคแรก โจทก์อยู่ในที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนจึงได้ซึ่งสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของ ส. กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมในที่ดินพิพาทต้องเคารพสิทธิของโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสี่ยอมรับในคำให้การว่า จำเลยทั้งสี่นำรถไปไถในที่ดินพิพาทจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้สืบสิทธิของ ส. ไม่มีสิทธิกระทำได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม แต่ต้องระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนต่อการใช้สิทธิของโจทก์ด้วย โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. โดย ส. ยินยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ได้ แต่เมื่อโจทก์ไปทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาท ส. กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เจ้าของรวมกลับขัดขวาง โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ได้ตามคำขอท้ายฟ้อง แต่ห้ามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้เท่าที่ไม่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินส่วนของ ส. เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6418/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินและการคืนทรัพย์สินแก่เจ้าของที่แท้จริง ผู้มิได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิด
ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของแท้จริง มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ...." เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1666/2555 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีหลักของคดีนี้ โจทก์ขอให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 32 และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ซึ่งเป็นการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 32 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้คืนอาวุธปืนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6294/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฎีกาจำกัดเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานเท่าที่ไต่สวนมายังไม่อาจรับฟังได้อย่างสนิทใจ เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาและพิพากษากลับว่าให้ยกข้อกล่าวหา ดังนี้ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสมุทรสาคร และมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลเพื่อไต่สวนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ จึงไม่มีสิทธิฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ให้อำนาจผู้อำนวยการประจำศาล ฎีกาในกรณีเช่นนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาพรากเด็ก และขอบเขตค่าเสียหายที่เรียกได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งฐานละเมิดโดยอาศัยมูลคดีอาญาความผิดดังกล่าว อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่หน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นการพาและแยกเด็กชาย ม. ไปจากความปกครองดูแลของโจทก์ทำให้ความปกครองดูแลของโจทก์ที่มีต่อเด็กชาย ม. ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง มาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก มีอายุความทางอาญา 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด จึงต้องเอาอายุความ 15 ปี มาใช้บังคับ จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ยังไม่พ้นกำหนด 15 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีแพ่งเนื่องจากฟ้องผิดศาล ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตได้หากไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ
โจทก์ถอนฟ้องเนื่องจากมูลคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงเป็นการฟ้องผิดศาล การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจ แม้จำเลยจะคัดค้าน แต่หากศาลเห็นว่าการถอนฟ้องของโจทก์ไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ศาลก็อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และในกรณีที่ฟ้องผิดศาล หากศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยใหม่ยังศาลที่คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจได้ การที่โจทก์ขอถอนฟ้องเพราะเหตุฟ้องผิดศาล แม้จำเลยจะให้การต่อสู้คดีไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยเสียหายแต่ประการใด
of 12