คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ.2514

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์: หลักเกณฑ์การคำนวณค่าทดแทน ความเสียหาย และความรับผิด
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับราคาที่ดินของโจทก์รวมทั้งต้นไม้และความเสียหายจากการที่ถูกเวนคืนโดยคำนวณราคาจากสภาพที่ดิน ราคาต้นไม้ยืนต้นอาคารโรงงานและสิ่งปลูกสร้างและความเสียหายหากมีการซื้อขายหรือรื้อถอนอาคารโรงงานของโจทก์รวมทั้งโรงงานที่จะต้องสร้างใหม่ ซึ่งเป็นคำฟ้องโจทก์ที่ได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วโจทก์ไม่จำต้องบรรยายว่า>ราคาซื้อขายที่ดินแปลงละเท่าใด ต้นไม้ยืนต้นเป็นต้นไม้อะไร ปลูกเมื่อใด ให้ผลอย่างไร โรงงานสร้างเมื่อใด ราคาเท่าใดโรงงานตั้งที่ไหนมีรายละเอียดเช่นใด เพราะเป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของโรงงานพิพาทนับแต่ซื้อโรงงานมาจากบริษัทล.ซึ่งเป็นเวลาก่อน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีและอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ.2509 ใช้บังคับโจทก์ที่ 2 จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนตั้งแต่ปี 2516 มีการเจรจากันเรื่อยมา แต่ตกลงกันไม่ได้โดยมีการเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการทั้งสองฝ่ายเมื่อปี 2522 และมีการนัดเจรจากันหลายครั้ง ดังนี้ จะถือว่าอนุญาโตตุลาการเพิกเฉยไม่กระทำการตามหน้าที่ยังไม่ได้ ส่วนการเจรจาไม่เสร็จสิ้นภายในเวลาอันสมควรนั้น เนื่องมาจากสาเหตุราษฎรร้องเรียนให้ยกเลิกการเวนคืน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอพระราชบัญญัติยกเลิกการเวนคืนถึง 2 ครั้ง ดังนั้นความเป็นอนุญาโตตุลาการจึงยังไม่เป็นอันสิ้นสุด ต้องถือว่าอยู่ในขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของอนุญาโตตุลาการ แม้จำเลยที่ 1จะแจ้งราคาเด็ดขาดให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสองทราบและนำเงินค่าทดแทนไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์แล้วก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทนไป ถือว่าโจทก์ทั้งสองยังโต้แย้งจำนวนค่าทดแทนอยู่ เมื่อต่อมามี พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ใช้บังคับ ให้มีผลยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 ในส่วนที่เกี่ยวแก่กรณีที่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการและยังมิได้ชี้ขาดให้เป็นอันยกเลิกอนุญาโตตุลาการนั้น โดยให้คู่กรณีมีสิทธิอุทธรณ์และฟ้องคดีได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์และฟ้องคดีนี้ได้ โจทก์ที่ 2 ขยายโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นภายหลังจากมี พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวใช้บังคับซึ่งในเรื่องนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีหลักเกณฑ์อยู่ว่าหากผู้ที่ถูกเวนคืนปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างใดเพิ่มขึ้นภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนประกาศใช้บังคับโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วก็ย่อมไม่มีสิทธินำมาเรียกค่าทดแทนได้ ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิมก่อน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับผู้ที่ถูกเวนคืนยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนได้ โจทก์ที่ 2 จึงยังคงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนที่มีอยู่ก่อน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ แม้จำเลยที่ 3 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์จะเป็นการกำหนดค่าทดแทนถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 แต่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพราะเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลาหลายปีการกำหนดเงินค่าทดแทนยังไม่สิ้นสุด โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทน ส่วนที่ดินมีราคาสูงขึ้น ต่อมา พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ออกใช้บังคับ ฉะนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนให้แก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืนให้ได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 21 วรรคท้าย บัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน และบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นด้วย การที่โจทก์ต้องรื้อถอนโรงงานออกไปจากที่ดินที่ถูกเวนคืนจำต้องหยุดการผลิต ทำให้ขาดรายได้จากการประกอบการโจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายดังกล่าวส่วนค่าชดเชยค่าจ้างที่ต้องเลิกจ้างคนงาน หากโจทก์ที่ 2ได้รับความเสียหายจริง โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 1และที่ 3 ได้ กองทัพเรือจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงกลาโหมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจของจำเลยที่ 1เมื่อโจทก์เห็นว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนไม่เป็นธรรม ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานในสังกัดของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี จึงต้องร่วมรับผิดโดยตำแหน่งหน้าที่กับจำเลยที่ 1