คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 21 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยค่าทดแทนเวนคืน: กำหนดวันจ่ายตามสัญญาและผลของการเพิ่มค่าทดแทนโดยรัฐมนตรีและศาล
ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.ฯ กับโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ กันเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2536 อันเป็นกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 120 วัน คือ ภายในวันที่ 29 เมษายน 2537 ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง วันดังกล่าวนี้เป็นวันสุดท้ายที่ฝ่ายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีฯและศาลวินิจฉัยให้เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าว
ส่วนเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงนั้น หากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับให้แก่โจทก์ด้วยแล้ว ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ ผู้ดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.ฯ กับโจทก์ก็น่าจะทำสัญญาเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนส่วนนี้ในวันเดียวกันกับที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ (ที่ดินที่ถูกเวนคืน) และต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนส่วนนี้ภายในวันที่ 29 เมษายน 2537 เช่นกัน แม้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ แต่เมื่อรัฐมนตรีฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์และศาลได้วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์แล้ว กรณีพอถือได้ว่ารัฐมนตรีและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนส่วนนี้เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราที่โจทก์ขอด้วยในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย คือวันที่ 29 เมษายน 2537 เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การประเมินค่าเสียหาย, การลดราคาที่ดิน, และสิทธิในการเข้าถึงถนนสาธารณะ
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินการเวนคืน รวมทั้งบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตลอดจนเงินค่าทดแทนที่ผู้ถูกเวนคืนจะได้รับในกรณีใดบ้างไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์จะต้องเวนคืนและได้มีการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะเวนคืนจากจำเลยทั้งสี่ถ้าการเวนคืนที่ดินของโจทก์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และที่ดินส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลงโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องหรือได้รับเงินค่าทดแทนเฉพาะสำหรับที่ดินส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วยตามมาตรา 21 วรรคสาม หาจำต้องรอให้จำเลยที่ 2 ลงมือก่อสร้างหรือก่อสร้างทางลงถนนศรีนครินทร์ให้เสร็จสิ้นก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่
โจทก์ยังไม่ได้ไประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่ดินที่จะต้องเวนคืนนั้นตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคห้าบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายอันเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตามโครงการของโจทก์ได้ ทั้งโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนหรือสิทธิใดเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ต้องสร้างทางเข้าออกสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่เปิดทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขต 'ส่วนที่เหลือ' ตาม พ.ร.บ.เวนคืน และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด
คำว่า "ส่วนที่เหลือ" ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสาม จะต้องพิจารณาจากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนแปลงนั้น ๆ เป็นหลัก โดยที่ดินแปลงนั้น ๆ ไม่ได้ถูกเวนคืนทั้งหมด ส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนจึงจะถือว่าเป็นส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่ดินของโจทก์แปลงที่ไม่มีส่วนใดถูกเวนคืนเลย แม้จะปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินของโจทก์แปลงที่ถูกเวนคืนที่มีส่วนที่เหลือจากการเวนคืนก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินแปลงที่ไม่มีส่วนใดถูกเวนคืนเลยกลายเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตามบทบัญญัติดังกล่าวไปได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินแปลงที่ไม่มีส่วนใดถูกเวนคืนเลยโดยอ้างว่าที่ดินมีราคาลดลงเนื่องจากการเวนคืน
ผู้ถูกเวนคืนที่ดินจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอย่างไร เพียงใดนั้น จะต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 บัญญัติไว้เท่านั้น แต่ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวหาได้มีบทบัญญัติให้ทางราชการจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายเนื่องจากโจทก์จะต้องซื้อที่ดินข้างเคียงเพื่อทำเป็นทางออกให้แก่ที่ดินของโจทก์สู่ถนนสาธารณะตามที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของหน่วยงานราชการในการเวนคืน และสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือ
พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ระบุให้อธิบดีกรมโยธาธิการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตาม พระราชกฤษฎีกา แต่การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของกรมโยธาธิการจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ การแจ้งวางทรัพย์และขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สิน หรือการแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ก็แจ้งเป็นหนังสือออกโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การที่อธิบดีกรมโยธาธิการจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการไปต้องถือว่ากระทำการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ได้กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์และการฟ้องคดีของ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้แล้ว โดยผู้ที่ไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทน ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัยก่อน หากผู้มีสิทธิได้รับเงิน ไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสองก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอเงินค่าทดแทนเพิ่มในส่วนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลง และกล่าวถึงที่ดินส่วนที่เหลือว่าใช้ประโยชน์ได้น้อยไม่ได้ราคาโดยไม่ได้กล่าวอ้างว่ามีราคาลดลงเท่าใดและจะขอค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่ จึงไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทน ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: สิทธิค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือ, ดอกเบี้ย, และวันเริ่มต้นการคำนวณ
การฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสาม ที่บัญญัติว่าถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา 25ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นแม้โจทก์มิได้กล่าวในอุทธรณ์ขอเพิ่มจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงไว้ด้วยก็ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรจะได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตลอดไป จึงขัดกับบทกฎหมายข้างต้นศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้องตามมาตรา 26 วรรคสามได้ โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินที่โจทก์ขอมา และในทำนองเดียวกันแม้จำเลยจะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วย ส่วนวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยนั้นเมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันในกรณีสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 10 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่ดินเวนคืนและการคำนวณดอกเบี้ยเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เวนคืน
การฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 21 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามมาตรา 25 ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น แม้โจทก์มิได้กล่าวในอุทธรณ์ขอเพิ่มจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงไว้ด้วย ก็ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรจะได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตลอดไป จึงขัดกับบทกฎหมายข้างต้นศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้องตามมาตรา 26 วรรคสามได้โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินที่โจทก์ขอมา และในทำนองเดียวกันแม้จำเลยจะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วยส่วนวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันในกรณีสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 10 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว