คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สรรทัศน์ เอี่ยมวรชัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 212 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13973/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งบรรจุยาเสพติดเกินปริมาณที่กำหนดตามกฎหมาย และการลงโทษที่ถูกต้อง
การกระทำที่มีลักษณะเป็นแต่เพียงการแบ่งบรรจุอย่างเช่นการนำเมทแอมเฟตามีนไปแบ่งย่อย หรือแยกจำนวนเพื่อบรรจุใส่ลงในหลอดกาแฟ ลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าว แม้จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่ระบาดได้ง่ายยิ่งขึ้นและนับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอีกลักษณะหนึ่งก็ตาม แต่ความร้ายแรงของการกระทำความผิดเช่นว่านี้ก็ไม่อาจเทียบเท่าได้กับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยสภาพ กฎหมายจึงบัญญัติบทกำหนดโทษสำหรับการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุไว้เป็นกรณีเฉพาะตาม มาตรา 65 วรรคสาม และวรรคสี่ อันเป็นการกำหนดโทษเป็นสัดส่วนตามสภาพความร้ายแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมและลักษณะความร้ายแรงของการกระทำความผิด
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน 3 หลอด หลอดละ 10 เม็ด แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยแบ่งบรรจุมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีน้ำหนักสุทธิเท่าใด และมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า การที่จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด ใส่หลอดกาแฟเป็นการทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด ที่บรรจุในหลอดกาแฟหนึ่งหลอดดังกล่าวเป็น "หน่วยการใช้" ตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การที่จำเลยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ด จำนวน 3 หลอด เป็นการผลิตโดยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณ 30 หน่วยการใช้ อันจะถือว่าจำเลยได้ผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุจำนวนหน่วยการใช้เกินปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสาม และเมื่อได้ความว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่มีลักษณะการบรรจุอย่างเดียวกันกับที่แบ่งบรรจุให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 65 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12634/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คสั่งจ่าย - สิทธิผู้ทรง - การต่อสู้เรื่องยักยอก - สุจริต - ความรับผิดของผู้สั่งจ่าย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังแล้วมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้สลักหลังชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่บริษัท ก. แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทดังกล่าวยักยอกเช็คไป บริษัท ก. ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นมาโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 เพื่อฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาโดยสุจริต การที่จำเลยที่ 2 แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้ทุจริต จึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นใช้ยันต่อโจกท์ซึ่งเป็นผู้ทรงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 905 และมาตรา 916 เมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ถือจึงนับได้ว่าเป็นผู้ทรง เมื่อโจทก์นำไปขึ้นเงินจากธนาคารตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12598/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลจังหวัดในการบังคับสัญญาประกันหลังศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯมีคำพิพากษา และผลของการไม่ปฏิบัติตามสัญญา
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขอให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแทนตามความจำเป็นไปตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวในวรรคสองด้วยแล้ว ดังนี้ ศาลจังหวัดนครราชสีมาย่อมมีอำนาจดำเนินการออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราวจำเลยได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวในวรรคสาม ซึ่งเมื่อศาลจังหวัดนครราชสีมาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยเพื่อไปหาเงินมาชำระค่าปรับตามคำพิพากษาโดยผู้ประกันได้ทำสัญญาประกันให้ไว้ต่อศาลดังกล่าว แต่ต่อมาผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัดส่งตัวจำเลย ศาลจังหวัดนครราชสีมาย่อมมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือบังคับตามสัญญาประกันต่อผู้ประกันซึ่งเป็นคู่สัญญาได้
การที่จำเลยขออนุญาตให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและผู้ประกันขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างระยะเวลาที่จะชำระค่าปรับ ก็เพื่อที่จะไม่ต้องถูกกักขังไปพลางก่อน จึงไม่ใช่กรณีที่เมื่อมีการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและยื่นอุทธรณ์แล้วจะเป็นเหตุให้ผู้ประกันไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประกันในอันที่จะต้องส่งตัวจำเลยต่อศาลตามกำหนดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10498/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์ในความผิดศุลกากร: การพิจารณาความเชื่อมโยงโดยตรงกับการกระทำความผิด
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 บัญญัติถึงการริบทรัพย์ในการกระทำความผิดเฉพาะความผิดตามมาตรา 27 ซึ่งบทมาตราทั้งสองใช้บังคับพร้อมกันในขณะนั้น ต่อมาเมื่อมีการบัญญัติความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ในภายหลังเมื่อปี 2499 ซึ่งมีลักษณะการกระทำความผิดต่างหากจากความผิดมาตรา 27 จึงนำบทบัญญัติการริบทรัพย์ตามมาตรา 32 มาใช้บังคับเพื่อริบทรัพย์ของกลางคดีนี้ที่จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยกับพวกใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะขนย้ายบรรทุกโทรศัพท์เคลื่อนที่และแบตเตอรี่บางส่วนไปจำหน่าย ย่อมไม่ใช่การใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง จึงไม่ใช่ทรัพย์ซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10476/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาที่พิมพ์ตก และการลงโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดที่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิมพ์คำพิพากษาว่า "ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท" เป็นการพิมพ์ตกเลข 1 ไป เท่านั้น ที่ถูกต้องแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ 15 ปี ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นเพียงการแก้ไขในส่วนที่พิมพ์ผิดพิมพ์ตกเท่านั้น มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10377/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่เพลงละเมิดลิขสิทธิ์: การกระทำต่อซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง
การละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 28 ต้องเป็นการกระทำโดยตรงแก่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยชอบเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำโดยใช้งานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน โดยกรณีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์นั้น กฎหมายบัญญัติแยกลักษณะการกระทำที่จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ต่างหากในมาตรา 31 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์กับการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาแล้วจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน
ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยนำเอาแผ่นซีดีเพลงซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายมาเปิดเผยแพร่เสียงต่อสาธารณชนภายในร้านข้าวต้มของจำเลย โดยจำเลยรู้ว่าแผ่นดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวมิใช่การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และมาตรา 28 แต่กลับเป็นข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 69 ไม่ว่าจะเป็นวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8061/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเป็นคู่ความฝ่ายที่สามต้องมีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดี การครอบครองปรปักษ์ไม่เชื่อมโยงกับคดีขับไล่
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม แต่คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างเพียงว่าผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินบางส่วนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องสอดมิได้กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใดที่จะถือว่าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ข้ออ้างของผู้ร้องสอดเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธ์ในที่พิพาทกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่พิพาทอยู่เพียงใดคงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7586-7587/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลบนเว็บไซต์ไม่ใช่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางโปรแกรม
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 คำว่า "โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน หรือเพื่อให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด และตามมาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้แก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง การเผยแพร่ต่อสาธารณชน การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องทั้งสองสำนวนว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่เพียงผู้เดียวโดยใช้ชื่อผลงานในเว็บไซต์ว่า "ไทยเพอร์ซันแนลคอนเน็กชันส์ (Thai Personal Connections)" และได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ (ที่ถูก แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์) ประเภทงานวรรณกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นงานสิ่งเขียนไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์มีชื่อเว็บไซต์ว่า "Thai Personal Connections" ที่มีข้อมูลของโจทก์อันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอกสารท้ายฟ้องนั้น เมื่อพิจารณาตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลของโจทก์ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บเพจในเว็บไซต์ที่อ้างว่าเป็นของโจทก์และข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งข้อมูลของโจทก์ที่ปรากฏอยู่บนเว็บเพจในเว็บไซต์โดยโจทก์อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษอันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทย ซึ่งมิใช่ภาษาคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาษาเครื่อง (machine language) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาเครื่องเรียกว่า "object program" หรือเป็นภาษาระดับสูง (high level language หรือ source language) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงเรียกว่า "Source program" ดังนั้น ข้อมูลของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเขียนเป็นภาษาเครื่อง หรือภาษาระดับสูงดังกล่าว เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ข้อมูลของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วแสดงผลลัพธ์นั้นบนจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ประกอบกับตามหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เอกสารท้ายฟ้อง โจทก์แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ผลงานของโจทก์ชื่อ "Thai Personal Connections" เป็นสิ่งเขียนอันเป็นงานวรรณกรรม มิได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ว่างานดังกล่าวเป็นชุดคำสั่งที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานอันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเขียนด้วยภาษาเครื่องหรือภาษาระดับสูงแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังนี้ ตามคำฟ้องทั้งสองสำนวนดังกล่าวที่โจทก์หาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในข้อมูลของโจทก์อันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทยในเว็บไซต์ ซึ่งปรากฏบนจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการคัดลอกข้อมูลดังกล่าวลงในเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า เดอะ ไทย เพอร์ซันแนล ทัช (The Thai Personal Touch) ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขายแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น จึงไม่มีมูลอันจะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องได้
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนตาม ป.อ. มาตรา 271 และ 272 นั้น โจทก์ระบุเพียงบทกฎหมายที่ขอให้ลงโทษเท่านั้น แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองสำนวนขายของสิ่งใดโดยหลอกลวงอย่างไรให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดใด สภาพ คุณภาพของสิ่งของนั้นว่าเป็นอย่างไร หรือปริมาณของสิ่งของนั้นมีจำนวนเท่าใด อันเป็นความเท็จและความจริงเป็นอย่างไรอันจะมีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ทั้งไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองสำนวนเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์อันจะมีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) จึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองสำนวนกระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 และ 272 (1) ได้ดี การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5502/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ซื้อทรัพย์จากการบังคับคดีในการขอให้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ และระยะเวลาการบังคับคดีต่อเนื่อง
โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา การที่ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีต่อเนื่องจากโจทก์ จึงไม่ต้องยื่นคำขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติไว้
ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอาศัยอยู่ และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน..." คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4413/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าพื้นที่: คำโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จำเลยต้องปฏิบัติตาม
แม้ข้อความในบันทึกชำระค่าจองสิทธิการเช่าและสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความว่าจำเลยจะต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยให้ครบถ้วนเมื่อใดก็ตามแต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยตามเจตนาที่เสนอโดยประกาศโฆษณาไว้ต่อโจทก์ แผ่นโฆษณาแสดงภาพจำลองอาคารศูนย์การค้าของจำเลยนั้นถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันเปิดศูนย์การค้าของจำเลย จำเลยยังดำเนินการจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยไม่ครบถ้วนตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้ โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง
คำโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำโฆษณา จำเลยจะอ้างว่าคำโฆษณาของจำเลยเป็นเพียงหนังสือเชิญชวนซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตไม่ได้ เพราะเป็นการเอาเปรียบโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา และการมีโรงภาพยนตร์และกิจการตามที่จำเลยได้โฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยย่อมทำให้มีบุคคลเข้ามาจับจ่ายใช้สอยที่ศูนย์การค้าของจำเลยมากขึ้น ทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะขายสินค้าของโจทก์ได้มากขึ้นไปด้วย ไม่ใช่ไม่มีผลต่อกิจการของโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจองสิทธิการเช่าจำนวน 359,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
of 22