คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สรรทัศน์ เอี่ยมวรชัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 212 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณปริมาณสารบริสุทธิ์ยาเสพติดจากส่วนหนึ่งของยาเสพติดทั้งหมดเพื่อพิพากษาความผิด
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยพยายามจำหน่าย 20 เม็ด มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.564 กรัม โดยเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ดังนั้น ย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 27 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้วเป็นสารบริสุทธิ์ 0.417 กรัม จึงเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 80 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำแก้ฎีกาต้องยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพ้นกำหนดแล้ว ศาลไม่รับพิจารณา
ป.วิ.พ. มาตรา 180 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ อันเป็นกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนดเวลาไว้ว่าการขอแก้ไขต้องยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่มีวันกำหนดดังกล่าว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลมได้ การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ไม่ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นการยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมในระยะเวลาแก้ฎีกา คดีนี้จำเลยที่ 2 ได้รับหมายส่งสำเนาฎีกาเพื่อให้แก้ฎีกาภายในสิบห้าวัน โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ครบกำหนดจำเลยที่ 2 แก้ฎีกาวันที่ 29 มิถุนายน 2553 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 พ้นกำหนดแก้ฎีกาแล้ว จึงรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งคำสั่งรับอุทธรณ์ & ผลของการไม่ส่งหมายนัดสำเนา - ศาลต้องแจ้งคำสั่งโดยตรง
การที่จำเลยทั้งสองนำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมให้จำเลยทั้งสอง แสดงว่าจำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำแถลงวางเงินค่าขึ้นศาลของจำเลยทั้งสองแต่เพียงว่า รับไว้ นำฝาก โดยไม่ได้ระบุไว้ด้วยว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในอุทธรณ์แล้ว แม้จะมีตราประทับที่ด้านล่างอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว และทนายจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อทราบคำสั่งก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นเคยสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองคนละวันกับที่จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ว่า รอไว้สั่งเมื่อผู้อุทธรณ์ชำระค่าขึ้นศาลครบถ้วนแล้ว จึงถือว่าจำเลยทั้งสองได้ทราบคำสั่งดังกล่าวโดยอาศัยตราประทับที่ด้านล่างอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมาครั้งหนึ่งแล้ว หากจะให้ตราประทับที่ด้านล่างอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีผลบังคับตลอดไปว่าศาลชั้นต้นสั่งอะไรในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจะมาทราบติดตามเพื่อรับทราบคำสั่งศาลชั้นต้นทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วอีก ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ จึงถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แล้วไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องแจ้งคำสั่งรับอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยตรง การที่ศาลชั้นต้นไม่แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรในกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายนัดสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ได้ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15710/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินธรณีสงฆ์ การแสดงเจตนาโอน และหน้าที่ตามกฎหมาย: ศาลฎีกาตัดสินกรณีโอนที่ดินสงฆ์โดยรัฐต้องตราพระราชบัญญัติ
โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีประการแรกว่า วัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์ เพียงแต่วัด ช. จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของแทน กับประการที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกแสดงเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังไม่ปฏิบัติตาม เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิต้องตามหลักเกณฑ์ในการนำคดีเข้าสู่ศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากวัด ช. ผู้เป็นเจ้าของ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกเพราะถูกข่มขู่และถูกกลฉ้อฉล ประเด็นข้อพิพาทมิใช่มีเพียงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่เท่านั้น เพราะหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยบันทึกว่ามีผลตามกฎหมายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เพราะการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ รัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 33 (2) ประกอบมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วด่วนพิพากษายกฟ้องนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ เพราะยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับบันทึกอันมีผลเกี่ยวกับเนื้อหาคดีที่ศาลต้องพิพากษาอีก ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจหยิบยกวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของวัด ช.ตามเดิมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยส่วนนี้ชอบแล้ว
แม้จะรับฟังตามบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของวัด ช. แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าวัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนี้ การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนโดยตรงให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนใส่ชื่อวัด ช. เป็นเจ้าของตามความเป็นจริงก่อน และจะหยิบยกอายุความได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 มากล่าวอ้างมิได้ เพราะมีบัญญัติห้ามไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 วรรคท้าย แต่ศาลจะพิพากษาในคดีนี้มิได้เพราะเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันระหว่างวัด ช. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องติดต่อกับวัด ช. ต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกยินยอมที่จะไปโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกผลในที่ดินพิพาทด้วย กับถือว่าเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ผลผลิตยางพาราในที่ดินพิพาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15310/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตบุริมสิทธิเงินสมทบประกันสังคม/เงินทดแทน: ครอบคลุมหนี้ทั้งหมด ไม่จำกัดปี
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติให้ เงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม เงินทดแทนที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม มีบุริมสิทธิในระดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้บัญญัติให้เรียกได้ในวงเงินที่ค้างในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้านั้นหนึ่งปี แม้ ป.พ.พ. มาตรา 256 จะบัญญัติให้ บุริมสิทธิค่าภาษีอากรใช้สำหรับของบรรดาค่าภาษีอากรที่ยังค้างอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติเอาไว้ในเฉพาะเรื่องบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15084/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีข้ามกำหนดเวลา 10 ปี ศาลฎีกายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่รับคำขอให้ยึดทรัพย์เพิ่มเติม
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 57197 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ต่อมาในชั้นบังคับคดี โจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดแต่ยังขายไม่ได้ โจทก์จึงยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20483 และ 20484 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่1920 โดยโจทก์เพิ่งยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 อันเป็นการร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุดสำหรับคดีนี้แล้ว ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลชั้นต้นได้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้โจทก์ ดังนี้ คำขอของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยระยะเวลาในการร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดโฉนดที่ดินเลขที่ 20483 และ 20484 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่1920

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15073/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาแก้โทษในคดีป่าไม้: ศาลอุทธรณ์แก้โทษเล็กน้อย ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด ฎีกาขอรอการลงโทษต้องห้าม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงไป ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานมีไม้สักและไม้เหียงแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน บวกโทษจำคุก 18 เดือน ที่รอการลงโทษไว้แล้ว เป็นจำคุก 27 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้เหียงและไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานแปรรูปไม้เหียงและไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี อันเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง และ 73 วรรคหนึ่ง ทั้งสองฐานความผิด เป็นลงโทษจำเลยฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง และ 73 วรรคสอง (1) ทั้งสองฐานความผิด จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขโทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14961/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอให้นับโทษต่อเมื่อจำเลยยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาอื่น ศาลต้องรับคำขอ
โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 หรือไม่ อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้องหรือเป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องแถลงผลคดีให้ศาลทราบไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามคำให้การฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2557 โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1144/2555 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14953/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลา แม้ศาลอนุญาต ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ครบกำหนดที่คู่ความต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 แต่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด การนับเวลาที่ขยายออกไปต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 อันเป็นวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิม แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/7 จึงครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 26 สิงหาคม 2556 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว และเมื่อตามคำร้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 2 ครั้ง จนกระทั่งจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน เป็นเหตุให้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14712/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อเมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหลายคดีพร้อมกัน
โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 12 ธันวาคม 2557 ซึ่งคำฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นเบิกจำเลยมาสอบคำให้การทั้งสองคดีในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในวันดังกล่าว โดยศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นก่อนคดีนี้ ดังนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้ติดต่อกันไป เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นนั้นมีหมายเลขคดีแดงที่เท่าใด ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก จึงนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5130/2557 ของศาลชั้นต้นได้
of 22