พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5877/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินอากรขาเข้า, การอุทธรณ์, อายุความ, และฟ้องซ้ำ: กรณีพิพาทเกี่ยวกับพิกัดอัตราศุลกากรและการประเมินภาษี
รถยนต์พิพาทที่จำเลยนำเข้ามา ภายนอกตัวรถด้านซ้ายมีกันสาดติดตั้งไว้ซึ่งสามารถพับเก็บแนบติดกับขอบหลังคารถได้ สภาพภายในตัวรถมีลักษณะเหมือนห้องโถง ไม่มีการกั้นแยกส่วนระหว่างที่นั่งคนขับและส่วนที่เป็นโถง มีเก้าอี้นั้น 2 ตัว มีส่วนที่กั้นเป็นห้องน้ำซึ่งภายในติดตั้งอ่างล้างหน้าและฝักบัว มีตู้ชั้นลอยติดตั้งอยู่เหนือส่วนที่ระบุว่าเป็น "WORKTOP" ระหว่างประตูทางขึ้นด้านข้างของตัวรถกับส่วนที่เป็นห้องน้ำติดตั้งตู้ซึ่งมีลักษณะคล้ายตู้ใส่เสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีเครื่องดูดควันติดตั้งอยู่ใต้ตู้ชั้นลอยเหนือส่วนที่ระบุว่า "WORKTOP" และบริเวณใต้หลังคารถเหนือศีรษะคนขับมีลักษณะเป็นชั้นลอยวางฟูกสำหรับปูนอนสำหรับส่วนที่เป็นเก้าอี้โซฟายาวซึ่งจำเลยอ้างว่าใช้เป็นเตียงคนไข้นั้น ความจริงก็คือมีเก้าอี้โซฟาที่ปรับเป็นเตียงนอนได้นั่นเอง รถยนต์พิพาทจึงมีลักษณะและมีอุปกรณ์ใช้สอยที่ติดตั้งไว้เหมือนกับบ้านที่เคลื่อนที่หาใช่มีลักษณะเป็นรถพยาบาลหรือเป็นรถตู้มีที่นั่ง12 ที่นั่งไม่ และตามพระราชกฤษฎีกาพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ. 2503 ประเภทที่ 87.02 ค. นั้น รถยนต์ที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 87.02 ค. แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือรถบรรทุกประเภทหนึ่งและรถนั่งแบบจิ๊ปอีกประเภทหนึ่งในกรณีของรถบรรทุกย่อมมีความหมายถึงรถที่ใช้บรรทุกสิ่งของเป็นสำคัญ แต่รถยนต์พิพาทมีลักษณะการออกแบบและประโยชน์ใช้สอยสำหรับใช้นั่งหรือนอน ไม่ใช่สำหรับใช้บรรทุกสิ่งของส่วนกรณีรถนั่งแบบจี๊ปก็ต้องมีลักษณะเป็นรถที่สมบุกสมบันขับเคลื่อน 4 ล้อ และมีกำลังส่งใช้ภายนอกได้ ตามที่โจทก์ที่ 1 กำหนดโดย ว.อ.92/2508 แต่รถยนต์พิพาทไม่มีลักษณะดังกล่าวไม่อาจถือว่าเป็นรถที่มีลักษณะคล้ายกับรถดังกล่าวอันจะจัดเข้าในประเภทพิกัดที่ 87.02 ค. ได้กรณีจึงต้องจัดรถยนต์พิพาทเข้าในประเภทรถอื่น ๆ ตามประเภทพิกัดที่ 87.02 ง.(2) รถยนต์พิพาทในขณะนำเข้ามีลักษณะเป็นรถยนต์นั่งที่ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายเหมือนบ้านเคลื่อนที่โดยในส่วนขวางรถยนต์มีที่นั่งภายในไม่เกิน 10 ที่นั่ง และลักษณะของที่นั่งก็ต่างจากที่นั่งที่ใช้ในรถยนต์โดยสารทั่วไป รถยนต์พิพาทจึงไม่ใช่รถยนต์โดยสารหรือเป็นรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 คน ส่วนที่กองทะเบียนกรมตำรวจรับจดทะเบียนให้ในประเภทดังกล่าวนั้น เป็นการพิจารณาสภาพที่นำเข้าคนละขั้นตอนกันและวัตถุประสงค์เป็นคนละอย่างกัน ดังนั้น การรับจดทะเบียนของกรมตำรวจไม่เป็นข้อผูกมัดโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินไปยังจำเลยให้ชำระภาษีอากรเพิ่มเติม กรณีย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87(2) แล้ว หากจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เสียก่อน เมื่อจำเลยเพียงแต่อุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1ซึ่งมิใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 จึงไม่เป็นการอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้จำเลยย่อมหมดสิทธิโต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลอีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องร้องหรือให้การต่อสู้คดีในศาลเพื่อไม่ให้ตนต้องชำระค่าภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินนั้น คดีนี้โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราศุลกากรสำหรับรถยนต์พิพาทที่จำเลยนำเข้ามาว่าจะใช้อัตราใด จึงมีอายุความสิบปี นับจากวันที่จำเลยนำของ หาใช่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดอันจักมีอายุความ 2 ปีไม่ คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้อง ส. ให้ใช้ค่าเสียหายในข้อหาละเมิด เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความระมัดระวังทำให้โจทก์ที่ 1 เสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรรถยนต์พิพาท ซึ่งคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องให้จำเลยชำระภาษีอากรที่ค้างชำระนอกจากจะเป็นคู่ความคนละคนแล้ว มูลเหตุแห่งการฟ้องก็เป็นคนละเหตุ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ