คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อย่างชัดแจ้ง และฎีกาไม่เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงในคดีของตนเอง
ฎีกาประการแรกของโจทก์กล่าวถึงแต่เฉพาะคดีของบุคคลอื่นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาอย่างไร ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีของโจทก์ ย่อมมีข้อที่จะต้องพิจารณาเฉพาะของแต่ละคดี โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร ส่วนฎีกาประการที่สองที่อ้างว่าคำพิพากษาในคดีอาญาที่ยกฟ้องโจทก์และคดีดังกล่าวถึงที่สุด ย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นคำพิพากษาที่ซ้ำซ้อนกับคดีอาญาดังกล่าว นั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และก็เป็นข้อฎีกาที่มิได้ชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบอย่างไรเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่ดินโมฆะ/โมฆียะ: คำให้การขัดแย้ง, การครอบครอง, และผลของการเช่า
จำเลยให้การว่า โจทก์มีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน โจทก์ได้ร่วมกันทำนิติกรรมฉ้อฉลโดยนำเอาเอกสารที่ยังไม่ได้กรอกข้อความใดๆ มาหลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อโจทก์แจ้งข้อความเท็จว่า จะนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินที่มารังวัดทำแผนที่พิพาทและนำไปเป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดี จำเลยหาได้มีเจตนาทำด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ เท่ากับจำเลยให้การว่า จำเลยแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และในขณะเดียวกันคำให้การจำเลยหมายความว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าที่ดินโดยทราบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ดินแต่ต้องการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีคือโจทก์ โดยโจทก์จะนำสัญญาเช่าที่ดินไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินที่มารังวัดทำแผนที่พิพาทและนำไปเป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดี อันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และจำเลยให้การ รวมไปด้วยว่า จำเลยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดิน เพราะจำเลยไม่ได้ทำด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยไม่เป็นนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ จำเลยหาได้ยึดถือที่ดินที่เช่าโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่ จำเลยไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 แม้ว่าก่อนทำสัญญาเช่าที่ดิน จำเลยอาจจะยึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนมาก่อนก็ตามโดยผลของสัญญาเช่าที่ดินต้องถือว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองที่ดินเพื่อตนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์ต้องมีเหตุสุดวิสัย อาการป่วยทนายความที่ไม่ถึงขั้นทำให้ไม่สามารถดำเนินการยื่นคำร้องได้ ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยจะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้ออ้างตามคำร้องของทนายจำเลยที่ว่าทนายจำเลยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเมื่อไปหาเสียงเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงทำให้เกิดอาการเครียดส่งผลให้โรคความดันโลหิตสูงกำเริบและด้วยความพลั้งเผลอจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดนั้น แต่ปรากฏว่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 ทนายจำเลยไปรับยาที่โรงพยาบาล แสดงว่าทนายจำเลยสามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ อาการป่วยของทนายจำเลยดังที่กล่าวอ้างจึงไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปยื่นได้ทันก่อนสิ้นระยะเวลาได้ ทั้งทนายจำเลยยังรับในคำร้องว่าเป็นความพลั้งเผลอของทนายจำเลยจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนด อันนับเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยอีกด้วย ข้ออ้างของทนายจำเลยจึงมิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยตามบทบัญญัติดังกล่าว
ส่วนฎีกาจำเลยที่อ้างว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม มีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้วินิจฉัยนั้นอันเป็นฎีกาที่ขอให้ศาลใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย แต่ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของทนายจำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยและความพลั้งเผลอของทนายจำเลย มิได้ขอให้ศาลใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมายจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 164/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาเรื่องการรับสารภาพและการโต้แย้งข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นฎีกา ศาลไม่รับวินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดโดยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบหลายกรรมต่างกัน ซึ่งข้อหาความผิดตามฟ้องในแต่ละกระทงมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องทุกกระทงความผิดไป ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นไปโดยมุ่งประสงค์จะโต้แย้งว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดโดยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 แต่เพียงกรรมเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นจากที่จำเลยให้การรับสารภาพอันเป็นการฎีกาข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ และเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยบิดเบือนให้เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 26/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจโจทก์ร่วม: การเข้าเป็นโจทก์ร่วมต้องมีอำนาจตามกฎหมาย และความสัมพันธ์กับความเสียหายที่เกิดขึ้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 แต่ตามคำฟ้องไม่ได้ความว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ แม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะยื่นคำร้องอ้างว่าการทำร้ายของจำเลยทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โดยโจทก์ไม่คัดค้านการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ผู้เสียหายถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุนานเกือบ 9 เดือน และบาดแผลที่เป็นสาเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายก็มิใช่บาดแผลที่ผู้เสียหายถูกจำเลยทำร้ายตามฟ้อง ทั้งโจทก์ก็มิได้ยืนยันแน่นอนว่าบาดแผลที่ทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเกิดจากการกระทำของจำเลยจริงดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบุพการีของผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9641/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์และฎีกาคดีลักทรัพย์ในศาลแขวง: การจำกัดสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วพิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้เถียงว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะได้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ดังนี้ ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้อีก ทั้งศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของโจทก์ร่วมได้เพราะเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9497/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม และการขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนอกพินัยกรรม
แม้พินัยกรรมฉบับที่ 2 ของผู้ตาย มีข้อความเขียนระบุไว้ว่า "บุคคลที่ข้าพเจ้าไม่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมฉบับนี้ ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ให้รับมรดกของข้าพเจ้าแต่อย่างใด" ก็ตาม แต่นอกจากที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวแล้วยังมีทรัพย์มรดกอื่น ๆ นอกพินัยกรรมอีกหลายรายการ อีกทั้งในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวก็ไม่มีข้อความใด ๆ ที่ระบุให้จำหน่ายทรัพย์มรดกอื่น ๆ ที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมเสียทั้งหมดและมิได้ระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกไว้ให้ชัดเจนตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมซึ่งมีผู้ร้องรวมอยู่ด้วยเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ผู้ร้องจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายและมีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
ตามประเด็นข้อกฎหมายที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544 ที่ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ต. ผู้ตายนั้นหมายความว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิที่จะจัดการมรดกของผู้ตายเฉพาะที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเท่านั้น โดยผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีสิทิและหน้าที่ที่จะไปจัดการทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมหรือที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวแต่อย่างใดใช่หรือไม่ เพียงใด เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อีกทั้งเป็นเรื่องนอกประเด็น เพราะประเด็นในคดีนี้มีเพียงว่าผู้คัดค้านที่ 2 เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าผู้คัดค้านที่ 2 จะจัดการทรัพย์มรดกที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แต่ข้ออ้างข้อเถียงของผู้ร้องในเรื่องนี้เกี่ยวข้องพาดพิงถึงการวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับก่อนในคดีเดียวกันนี้ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปในทางเสียหายต่อคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวขึ้นได้ จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวในศาลล่าง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยให้
ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544 ที่พิพากษาตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ต. ผู้ตายโดยกำหนดให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายนั้นมีความหมายว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1711 โดยมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 มิได้จำกัดให้ผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะจัดการมรดกเฉพาะเท่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น แต่ให้มีอำนาจในการจัดการมรดกโดยทั่วไป ซึ่งหมายความถึงทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายเท่าที่มีอยู่ไม่ว่าจะระบุไว้ในพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นการที่ผู้ร้องฎีกาโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำพิพากษาศาลฎีกา 8045/2544 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมหรือที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมแต่ประการใดนั้น เป็นการนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับมาแปลความเบี่ยงเบนกล่าวอ้างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองเพื่อให้ได้เป็นผู้จัดการมรดกในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกอื่น ๆ ที่ผู้ตายมิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมอันเป็นการไม่ชอบ
ตามคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ว่า ผู้ร้องเพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น หาได้ขอให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไม่ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะนำสืบและอุทธรณ์ฎีกาขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ศาลไม่อาจมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้เพราะเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8438/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้, อัตราดอกเบี้ยสูงสุด, กฎหมายบริษัทบริหารสินทรัพย์, การบังคับคดี, หักหนี้
ตามบัญชีอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ลักษณะแห่งตราสารอันดับที่ 7 ใบมอบอำนาจ หมายถึง ใบตั้งตัวแทน และในส่วนค่าอากรแสตมป์นั้นหากมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท หากมอบอำนาจให้กระทำมากกว่าครั้งเดียว ค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ซึ่งแม้การตั้งตัวแทนนั้นอาจต้องมอบให้ตัวแทนกระทำการหลายอย่างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตัวการต้องการก็เป็นเรื่องปกติของการตั้งตัวแทนให้กระทำการแทนในกิจการต่าง ๆ แล้วแต่ว่ากิจการนั้นจะต้องกระทำการอย่างเดียวหรือหลายอย่าง และหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ดังกล่าวก็มิได้กำหนดให้ค่าอากรแสตมป์ขึ้นอยู่กับการกระทำแทนอย่างเดียวหรือหลายอย่างในการตั้งตัวแทนครั้งเดียว หากแต่กำหนดค่าอากรแสตมป์โดยเพียงให้ขึ้นอยู่กับการตั้งตัวแทนให้กระทำการเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งหากมอบอำนาจให้กระทำการได้หลายครั้งก็ต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท เท่านั้นโดยไม่จำกัดว่าในการกระทำการแทนหลายครั้งนั้น แต่ละครั้งจะต้องมีการกระทำกี่อย่าง ดังนั้น แม้ในการกระทำการแทนแต่ละครั้ง ผู้รับมอบอำนาจจะต้องกระทำการอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ก็คงต้องเสียค่าอากรเพียง 30 บาท เท่านั้น
โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินจากผู้ฝากเงิน แล้วนำมาให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อโดยเฉพาะหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท คดีนี้มีมูลหนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 ต้องการซื้อสินค้าจากผู้ขายซึ่งอยู่ต่างประเทศจึงขอให้โจทก์ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อประกอบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายสินค้านั้น โดยโจทก์ยอมตนเข้าผูกพันชำระเงินค่าสินค้าเองตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิตที่โจทก์เป็นผู้ออก ซึ่งเมื่อโจทก์ชำระเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแล้วย่อมถือว่าเป็นการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าวแก่โจทก์ จึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อรับเอกสารจากโจทก์ไปใช้รับสินค้าจากผู้ขนส่งก่อน โดยตกลงจะชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายหลังตามเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีท จึงเห็นได้ว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาก่อผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการให้สินเชื่อแล้วเรียกเอาหนี้จากการให้สินเชื่อนั้นโดยตรง หาใช่กรณีที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่ต้องส่งมอบของแก่จำเลยที่ 1 หรือทำการงานหรือดูแลกิจการให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบหรือค่าการงานที่ทำหรือค่าดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแต่อย่างใด จึงมิใช่สิทธิเรียกร้องอันมีกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ถือไม่ได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (1) ส่วนที่อ้างว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (7) ด้วย นั้น ตามคำให้การก็ไม่ได้ให้การยกอายุความตามมาตราดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และเมื่อหนี้ตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นหนี้ร่วม การชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ สมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่ได้ฎีกาดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8342/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดของผู้ชำระบัญชี: ประเด็นการตีความมูลหนี้ตามคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท พ. มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัททราบ เพื่อโจทก์จะได้ยื่นทวงหนี้แก่จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชี แต่จำเลยกลับละเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงเรื่องดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินเท่ากับจำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากบริษัท พ. พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด หาใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1272

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7685/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความร่วม ย่อมไม่ผูกพันคู่ความอื่น
การที่คู่ความร่วมคนหนึ่งขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคู่ความร่วมคนนั้น ไม่มีผลไปถึงคู่ความร่วมคนอื่นที่มิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วย กรณีมิใช่เรื่องที่จะนำมาตรา 59 (1) แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับได้การที่โจทก์ที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันภายในระยะเวลาดังกล่าวโดยโจทก์ที่ 2 มิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ที่ 2 ด้วย เป็นการไม่ชอบและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ต้องถือว่าคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
of 70