คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2194/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ จำเป็นต้องวางค่าธรรมเนียมและหลักประกันตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลชั้นต้นส่งปัญหาข้อกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านคำสั่งไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ยังได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ไม่นำค่าธรรมเนียมใช้แทนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ไม่รับอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ทั้งสามฉบับของจำเลยที่ 2 นั้น จึงเป็นการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 แม้เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยที่ 2 ก็ต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาตาม ป.วิ.พ. 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 461/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่ดิน: สิทธิในการปลูกสร้างและให้เช่าช่วงเป็นไปตามข้อตกลงเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิกำหนดเวลาหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข
ตามสัญญาแบ่งเช่าที่ดินมีกำหนด 30 ปี ข้อ 4 ที่ระบุว่าเช่าเพื่อปลูกสร้างตึกให้เช่าไม่มีเงินกินเปล่านั้น ต. ผู้ให้เช่าเดิมกับจำเลยทั้งสามไม่ได้กำหนดรายละเอียดและเวลาไว้ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องปลูกสร้างตึกขึ้นจำนวนเท่าใดและในเวลาใด จึงต้องแปลความว่าเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสามที่จะปลูกสร้างตึกจำนวนเท่าใดและในเวลาใดก็ได้ หรือหากจะมีการตกลงกำหนดกันใหม่ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงของ ต. กับจำเลยทั้งสาม หาใช่ว่า ต. ฝ่ายเดียวจะเป็นผู้กำหนดเวลานั้นใหม่ได้ การที่โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ต. โจทก์ก็ต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ของ ต. มาด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสามปลูกสร้างตึกได้ฝ่ายเดียว การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามดำเนินการปลูกสร้างตึกโดยอ้าง
ว่า บัดนี้ระยะเวลาการเช่าล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาถึง 8 ปีเศษ และจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญา และในเรื่องการให้เช่าช่วงนั้น ตามสำเนาหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดินมีกำหนด 30 ปี ระบุว่า ให้เช่าช่วงได้โดยไม่ได้มีข้อความระบุว่าต้องเป็นการให้เช่าช่วงตึกเท่านั้น จึงต้องแปลความหมายว่าในการเช่าที่ดินพิพาทนี้จำเลยทั้งสามมีสิทธินำที่ดินพิพาทไปให้เช่าช่วงได้ โดยอาจให้เช่าช่วงเฉพาะที่ดินหรือเมื่อมีการปลูกสร้างตึกก็นำตึกพร้อมที่ดินไปให้เช่าช่วงได้เช่นกัน การที่จำเลยทั้งสามยังไม่ได้ปลูกสร้างตึกและนำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงจึงไม่ถือว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาเช่าเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดตามสำเนาหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดินมีกำหนด 30 ปี
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสามนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์จึงเป็นข้อที่จำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเรื่องฟ้องเคลือบคลุม/ผิดสัญญา & คำให้การขาดอายุความไม่ชัดเจน
จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยมิได้ยกเหตุผลขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี และ 5 ปี นับแต่วันชำระเงินครบถ้วน โดยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าเพราะเหตุใดคดีโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเป็นคำให้การที่ไม่แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการต่อสู้สิทธิในที่ดิน การวินิจฉัยนอกฟ้องและคำให้การไม่ชอบ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินจาก ก. จำเลยได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของ ทั้งได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยตั้งแต่จำเลยได้ซื้อมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองหรือทำประโยชน์ โจทก์ทราบมานานหลายปีแล้วว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ แต่มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องร้องตามป.พ.พ. มาตรา 1374 มาตรา 1375 และมาตราอื่นๆ ในลักษณะ 3 ครอบครอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวมา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินหรือเป็นเจ้าของที่ดิน มีอาณาเขตทั้งสี่ทิศจดที่ดินอะไรหรือของใคร และไม่ได้บรรยายฟ้องว่าที่ดินโจทก์ทั้งสี่ทิศมีความกว้างยาวเท่าไร จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 172 นั้น เป็นเรื่องนอกเหนือจากเหตุผลที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามที่จำเลยได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14835/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่จดบันทึกคำคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น ทำให้ไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาได้
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 26 ถ้าศาลได้ตั้งข้อถามหรือออกคำสั่งหรือชี้ขาดเกี่ยวด้วยการดำเนินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีเรื่องนั้นคัดค้านข้อถามหรือคำสั่ง หรือคำชี้ขาดนั้นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไปให้ศาลจดข้อถามหรือคำสั่งหรือคำชี้ขาดที่ถูกคัดค้านและสภาพแห่งการคัดค้านลงไว้ในรายงาน แต่ส่วนเหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างอิงนั้นให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงาน หรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่คัดค้านยื่นคำแถลงเป็นหนังสือเพื่อรวมไว้ในสำนวน แต่ตามสำนวนไม่ปรากฏว่าศาลได้จดไว้ว่าโจทก์คัดค้านคำสั่งที่อ้างว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ธ. ถามค้านพยานโจทก์ไว้เป็นการไม่ชอบ เมื่อไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นหลักฐานก็ไม่อาจถือได้ว่ามีคำสั่งของศาลชั้นต้นในอันที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10342/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยฟ้องซ้ำ เหตุคำฟ้องฎีกาไม่ชัดเจนเรื่องเหตุเดียวกัน และยืนตามศาลชั้นต้นเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม
คำฟ้องฎีกาของจำเลยบรรยายแต่เพียงว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1089/2544 ของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า บ. เป็นหนี้จำนองโจทก์ โดยจำเลยซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ที่โจทก์มาดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีกครั้งหนึ่งจึงเป็นฟ้องซ้ำ โดยไม่ได้กล่าวบรรยายฟ้องให้เห็นว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีแพ่งดังกล่าวเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกันมาแล้วอย่างไร อันจะเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คำฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 737 แม้เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ โจทก์ผู้รับจำนองจะเลือกฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้
ค่าฤชาธรรมเนียมศาลตามที่บัญญัติไว้ในตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีให้ตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีและวรรคสองยังบัญญัติอีกว่า ค่าฤชาธรรมเนียมให้รวมถึงค่าทนายความ เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์มานั้น จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8877/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เหตุจำเลยไม่ยกประเด็นอำนาจฟ้องในชั้นอุทธรณ์ แม้เป็นปัญหาความสงบเรียบร้อย
แม้จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายชนะคดีไม่จำต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นแก้อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย แต่จำเลยที่ 1 คงแก้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้วหรือไม่ ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จำเลยที่ 1 สามารถยกขึ้นต่อสู้ได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวต้องเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นหรือในชั้นอุทธรณ์ หาใช่ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องยุติไปแล้วไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสหลังหย่า: ที่ดินที่ซื้อระหว่างสมรสเป็นสินสมรสต้องแบ่งเท่ากัน หากไม่แบ่งถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม
ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
ฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า "เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน" เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7778/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์, การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง, และสิทธิภาระจำยอมในที่ดิน
แม้เดิมศาลชั้นต้นจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลงโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก็ตาม แต่ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมีคำสั่งใหม่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา เท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 แต่เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้ทันทีตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 18 โดยต้องอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 (3) วรรคสอง แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 เพิ่งอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายเกือบ 2 ปี จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์ในปัญหาส่วนฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว จึงถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลง มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ตามที่โจทก์ล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นแล้ว
ที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกัน เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. บิดาของจำเลยที่ 1 และ ส. และตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาก็ยอมรับว่าบ้านเลขที่ 38 ที่ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์นั้น จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว และพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้พร้อมกับบุตรซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย ตั้งแต่ที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 แล้ว จ. จึงยกที่ดินส่วนที่มีบ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 19367 และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19368 จึงทำให้บ้านเลขที่ 38 ของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาจากการรับซื้อฝากจาก ว. หลานของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องแย้งไม่ เพราะเห็นได้ว่าเป็นการครอบครองฉันญาติพี่น้องตามที่ครอบครองมาแต่เดิม มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองเพื่อเอากรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกบ้านเลขที่ 38 แต่ จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างและอยู่อาศัยมาก่อนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ซึ่งต่อมาตกเป็นของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านเลขที่ 38 ซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ แต่บ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นของโจทก์ จึงต้องถือว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นการปลูกรุกล้ำโดยสุจริต กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 38 ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้เพราะมิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิในที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านรุกล้ำเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องโดยใช้สิทธิดังกล่าวบังคับจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6395/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินมือเปล่า สิทธิครอบครอง และผลของการส่งมอบการครอบครอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ ประเด็นดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ก็ไม่มีผลที่จะเป็นข้อยกเว้นหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้
ในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์นอกจากจะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งแล้ว ยังเป็นข้อเท็จจริงที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้มีผลเกี่ยวข้องไปถึงจำเลยที่ 2 อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในประเด็นข้อนี้
การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 แม้ขณะซื้อที่ดินพิพาทจะมีข้อตกลงกันไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมโอนให้แก่โจทก์เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไปได้ทุกเมื่อก็ตาม ก็คงมีความหมายเพียงว่าหากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินที่พิพาทให้แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะไปดำเนินการให้เท่านั้น หาใช่ว่าเป็นการบังคับจำเลยที่ 1 ที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์จะมีความประสงค์เช่นนั้นหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เงื่อนไขในสัญญาซื้อขายอันจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกลายเป็นสัญญาจะซื้อจะขายไปไม่ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ได้
of 70