คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7338/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามเรื่องดอกเบี้ยเกินกว่าที่ตกลง หรือข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ประกอบธุรกิจประกันภัยไม่ใช่สถาบันการเงินที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี นั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในข้อนี้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6301-6304/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาท, การบอกเลิกสัญญาเช่านา, และอำนาจฟ้องของมิสซัง
จำเลยทั้งสี่เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์และอ้างว่าได้ยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์กับแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยทั้งสี่แล้ว จำเลยทั้งสี่จะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาดังกล่าวให้โจทก์ทราบ จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการครอบครองเกิน 1 ปี มายันโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การเป็นประเด็นไว้มาด้วยก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พ.ร.บ. ว่าด้วยลักษณะ ฐานะ ของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 ข้อ 5 บัญญัติว่า มิสซังจะร้องว่าเป็นเจ้าของที่ดินได้แต่ในชื่อของมิสซังเองนั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้เช่าที่ดินของโจทก์ หรือบุคคลที่มิได้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในหนังสือสำหรับที่ดินหรือโฉนดที่ดินในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินนั้น แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อ ว. เป็นผู้ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มาเบิกความรับรองต้นฉบับและส่งสำเนาเป็นพยานหลักฐานแทนโดยรับต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงคืนไป จำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้ถามค้านหรือโต้แย้งคัดค้าน จึงยังไม่ได้ความว่าต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไว้เป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คู่ความพิพาทกันในเรื่องสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทซึ่งมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทส่วนหนึ่ง และเรื่องขับไล่เพราะผิดสัญญาเช่าซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกส่วนหนึ่ง แต่ละส่วนแยกจากกันได้ สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องแยกพิจารณาตามส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสี่โต้แย้งข้อเท็จจริงว่าการเช่าที่ดินพิพาทเป็นการเช่านาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 34 และโต้แย้งค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินปีละ 500 บาท ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ข้อโต้แย้งดังกล่าวอยู่ในส่วนคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และเป็นคดีที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาทอันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
จำเลยทั้งสี่ฎีกาคำสั่ง โดยขอให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่าได้เปลี่ยนลักษณะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ประกอบกับฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้ออื่นไม่มีปัญหาโต้แย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท ศาลฎีกาจึงคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ให้จำเลยทั้งสี่ กรณีเป็นไปตามคำขอของจำเลยทั้งสี่แล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาคำสั่งของจำเลยทั้งสี่ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5968/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือเป็นการยอมรับจำนวนค่าเสียหาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองไม่เต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ คงมีแต่จำเลยที่ 1 ที่อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ทั้งสองเพียงแต่ยื่นคำแก้อุทธรณ์เท่านั้น แม้ในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จะกล่าวว่าโจทก์ไม่พอใจค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เท่ากับโจทก์พอใจตามจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงพิพากษายืน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำปัญหาเรื่องเดียวกันนี้ขึ้นว่ากล่าวในคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองให้สูงขึ้นอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5623/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องหลังมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว: ผลกระทบต่อฎีกาที่ยื่นไว้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้จำเลยทั้งสองจะยื่นฎีกาอยู่ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันคู่ความอยู่จนกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ต้องถือว่า คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่จะต้องสืบพยานจำเลยต่อไป ดังนั้น โจทก์ย่อมขอถอนฟ้องได้ และศาลชั้นต้นชอบที่จะมีอำนาจสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านแล้ว การถอนฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงต้องถูกลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้อง ไม่อาจที่จะนำฎีกาของจำเลยทั้งสองมาพิจารณาได้อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ประเด็นอายุความหนี้ค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าไฟฟ้าที่โจทก์ชำระแทนให้แก่จำเลยไป จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่จำเลยได้ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าหรือนับแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าเมื่อปี 2535 หรือพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือนับแต่วันที่จำเลยส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า หรือนับแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าเมื่อปี 2535 หรือเกินกำหนด 5 ปี ในการใช้สิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ คำให้การของจำเลยดังกล่าวมิได้ให้การต่อสู้ถึงเรื่องอายุความหนี้ค่าไฟฟ้า จึงไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความหนี้ค่าไฟฟ้า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยฎีกาต่อมาอีกก็ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4859/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ จำเลยต้องพิสูจน์สิทธิเหนือกว่าโจทก์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุที่โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นไม่ได้วินิจฉัยให้ โจทก์ฎีกากล่าวถึงแต่ความเป็นมาของการครอบครองที่ดินพิพาทจนกระทั่งตกทอดมาถึงโจทก์ได้อย่างไร จำเลยไม่อาจได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์เพราะเหตุใด มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4160/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การยกเหตุใหม่ในชั้นฎีกาที่ไม่เคยว่ากันในศาลล่าง และประเด็นความสมบูรณ์ของฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด คือ ปลอมแผ่นป้ายวงกลมเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2541 อันเป็นเอกสารราชการ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ที่แท้จริง และใช้แผ่นป้ายวงกลมเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2541 ที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปติดไว้ที่กระจกหน้ารถยนต์ และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น รวมทั้งบรรยายถึงพฤติการณ์การกระทำของจำเลยด้วยว่า กระทำปลอมโดยวิธีใดและใช้โดยวิธีใด คำฟ้องของโจทก์จึงครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอม จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ไม่ได้อุทธรณ์ว่าไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาเพียงว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจเหมาะสมหรือไม่เท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้เอกสารราชการปลอม จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายขายฝากโมฆะ-สิทธิครอบครอง-อำนาจฟ้อง: จำเลยครอบครองก่อนโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ ฮ. เป็นสัญญาขายฝากที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การทำสัญญาซื้อขายกันเองเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ซื้อขายกันตามสัญญาขายฝากดังกล่าวได้ ส่วนหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่กรมประชาสงเคราะห์ตกลงยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ โจทก์ไม่อาจบังคับผู้อื่นนอกจากคู่สัญญาได้ จำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทอยู่ก่อนโดยโจทก์ยังมิได้เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า อ. ผู้ให้จำเลยเช่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาท มิได้รับโอนสิทธิและได้รับอนุญาตจากกรมประชาสงเคราะห์การครอบครองของ อ. จึงเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น การเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์นั้น มิได้เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่วินิจฉัยมาแต่อย่างใด เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ ฮ. เป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง จึงต้องทำตามแบบตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะ
ขณะที่ ฮ. โอนสิทธิในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และกรมประชาสงเคราะห์ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ไม่อาจเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้เนื่องจากจำเลยครอบครองอยู่ แสดงว่าโจทก์ไม่เคยเข้าไปยึดถือครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทเลย โจทก์ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 การที่จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในบ้านและที่ดินอยู่นั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3732/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามเนื่องจากจำเลยไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรื่องการรอการลงโทษ และการแก้ไขโทษบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ จำเลยมิได้อุทธรณ์ คงมีโจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ถือว่าจำเลยพอใจในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ไม่รอการลงโทษจำคุกให้ แก่จำเลยแล้ว ปัญหาว่าควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่จึงไม่เคยเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยจะฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกมิได้ ถือว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านปรากฏว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ภายในเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าว จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้อีก แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและ ขอให้บวกโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจนำโทษจำคุก ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนดังกล่าว มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้บวกโทษจำคุกจำเลยด้วยนั้น เป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3722/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย: เหตุขอขยายเวลาอุทธรณ์ไม่ชัดเจน และมิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกาว่า คดีของจำเลยมีทุนทรัพย์และค่าธรรมเนียมศาลสูงมาก จำเลยหาเงินยังไม่ครบ มีเอกสารหมายหลายฉบับที่ต้องใช้เวลาในการจัดทำ เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องในข้อใดอย่างไร และที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง และที่จำเลยฎีกาว่าคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยมิได้เป็นการขอขยายระยะเวลาโดยอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่เป็นการขออนุญาตให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมายนั้นก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยชอบ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 70