คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2797/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรส และขอบเขตการแก้ไขคำพิพากษา
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงเจตนาลวงสมรู้กันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ แต่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ตรงประเด็นที่พิพาทในคดีว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทสินสมรสส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 และฟังข้อเท็จจริงว่าขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีคู่สมรส จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีคู่สมรสและการโอนขายที่ดินพิพาทยังไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อันเป็นการวินิจฉัยถูกต้องตรงประเด็นข้อพิพาทแล้ว และไม่ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 ในราคาเท่าใดก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ปัญหาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องและจำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบถึงราคาซื้อขายที่แท้จริงได้โดยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การเพิกถอนนิติกรรมตามบทบัญญัติมาตรา 1480 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนหาได้ไม่ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กึ่งหนึ่ง และคู่ความมิได้ฎีกาปัญหานี้จึงยุติไป แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คำร้องครอบครองปรปักษ์ที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ผู้คัดค้านทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ได้ยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 เป็นของผู้คัดค้านทั้งสามที่ได้รับมรดกมาจาก ก. ขอให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้คัดค้านทั้งสาม ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสามและผู้ร้องตกลงกันได้โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาตามยอมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ระบุให้มีการรังวัดเนื้อที่ดินในโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 ให้ได้เนื้อที่ครบตามหน้าโฉนด หากปรากฏว่ามีที่ดินเหลือจากการรังวัดให้ถือว่าส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของผู้ร้อง คดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดที่ดินกับมีการปักหลักเขตเรียบร้อยแล้ว การที่ผู้ร้องมาร้องขอครอบครองปรปักษ์ เป็นคดีนี้ซึ่งเป็นที่ดินที่เดียวกับที่พิพาทและมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามในคดีนี้กับโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีนี้กับคดีดังกล่าวก็เป็นประเด็นเนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ซึ่งผู้ร้องในคดีนี้มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็มิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ให้แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องกลับหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาฎีกาว่า ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาตามยอม หาได้เป็นการกระทบกระเทือนการครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องไม่ คำร้องขอของผู้ร้องไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเช่าอาคาร - การร่วมรับผิดของผู้เช่าและกรรมการผู้มีอำนาจ - อายุความค่าเช่าค้างชำระ
โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าปรับตามสัญญาเช่า จำเลยทั้งสองก็มิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำสัญญาเช่าตามฟ้อง เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ค้างชำระค่าเช่า และไม่ต้องชำระค่าปรับตามฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้แล้วว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องจริง โดยโจทก์ไม่จำต้องอ้างหนังสือสัญญาเช่าตามฟ้องเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ฎีกาว่าสัญญาเช่าตามฟ้องมิได้ปิดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แม้จะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยที่ 1 มีอำนาจยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ก็ตาม การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
สิทธิเรียกร้องค่าเช่าอาคารซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างชำระ มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ส่วนอายุความ 6 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 563 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าในกรณีอื่น เช่น การเรียกร้องค่าปรับเนื่องจากชำระค่าเช่าล่าช้า ดังนั้น สิทธิเรียกร้องค่าปรับอันเนื่องมาจากการชำระค่าเช่าล่าช้าของโจทก์มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563 ซึ่งการเริ่มนับอายุความของค่าเช่าย่อมนับตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดชำระค่าเช่าในแต่ละเดือนตามมาตรา 193/12

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1600/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เนื่องจากไม่ได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) เท่านั้น โดยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ด้วย เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: การครอบครองปรปักษ์, การรุกล้ำที่ดิน, และสิทธิเหนือสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ส่งหลักฐานการชำระราคาที่ดิน ลำพังหนังสือสัญญาขายที่ดิน ไม่อาจรับฟังได้ว่า ส. ชำระเงินให้แก่ ป. แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า ส. รับโอนที่ดินโดยเสียค่าตอบแทนนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ตั้งเป็นประเด็นในคำให้การว่า ส. รับโอนที่ดินพิพาทจาก ป. โดยมิได้ชำระค่าที่ดินหรือไม่เสียค่าตอบแทน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ส. ซื้อและรับโอนที่ดินจาก ป. โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จึงได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยกล่าวอ้างว่า ส. รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึงการได้มาโดยไม่รู้ว่ามีบุคคลอื่นได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์มาก่อนแล้ว ถ้าได้มาโดยรู้เช่นนั้นย่อมไม่สุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินซึ่งสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้โดยไม่จำต้องส่งมอบ การครอบครองที่ดินให้แก่กัน ทั้งในทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินก็ระบุชัดว่า ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยได้รับมรดกมาจากบิดา กับไม่มีการจดแจ้งอย่างใด ๆ ว่าจำเลยเป็นเจ้าของตึกแถวที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดิน ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่ ส. จะตกลงซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทในทางทะเบียน โดยไม่จำต้องคำนึงว่า ป. เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงหรือไม่ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่ ส. ซื้อที่ดินมาในราคาสูงก็ดี ที่ดินอยู่ในทำเลการค้าหรือในที่เจริญก็ดี แต่ ส. ไม่ไปตรวจสอบที่ดินก่อนว่ามีใครเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์และเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้อย่างไรในฐานะใด จึงยังไม่พอฟังว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ส. อันเป็นการซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จำเลยยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้ ส. ไม่ได้ ส. มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย เช่นนี้ ต่อมาการที่โจทก์ทั้งสองซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก ส. ไม่ว่าจะสุจริตหรือไม่ จำเลยก็ไม่อาจที่จะยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง เพราะสิทธิที่จะอ้างข้อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยขาดช่วงไปตั้งแต่ที่ ส. ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ป. โดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของจำเลยจึงต้องเริ่มใหม่นับแต่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งนับถึงวันจำเลยฟ้องแย้งยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การที่ ม. และ ข. ปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินของตนเอง ต่อมาแบ่งแยกที่ดินและยกตึกแถวให้แก่บุตร โดยปรากฏในภายหลังว่าตึกแถวเลขที่ 1/12 ซึ่งยกให้ อ. อยู่ในที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่ ล. ทั้งแปลงและอยู่ในที่ดินของ อ. เป็นส่วนน้อย จึงต้องถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมาแต่เดิมและกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบเคียงตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1310 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 วรรคสอง อันมีผลทำให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 1/12 แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างตึกแถวเลขที่ 1/12 นั้นให้แก่จำเลยและพวกซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวม ส่วนที่ตึกแถวเลขที่ 1/12 บางส่วนที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1247 ประมาณ 2 ตารางวา ก็ต้องปรับบทเทียบเคียง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตึกแถวเลขที่ 1/12 ส่วนปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยจึงเป็นของโจทก์ทั้งสองด้วย แต่โจทก์ทั้งสองต้องเสียเงินค่าที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยและพวก การครอบครองตึกแถวของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เพราะจำเลยมีสิทธิครอบครองโดยชอบมาแต่เดิมและโจทก์ทั้งสองยังมิได้ใช้ค่าที่ดินทั้งในสองกรณีให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองต้องไปบังคับแก่จำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องต่อไป ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703-704/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิ้นสุดสัญญาเช่า - การใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินหลังสัญญาหมดอายุ - ค่าเสียหายจากการไม่ขนย้ายทรัพย์สิน
สัญญาเช่ากำหนดระยะเวลาการเช่าเพียง 3 ปี และมีข้อตกลงเรื่องการต่อสัญญาไว้ในข้อ 10 ว่า ผู้เช่ามีสิทธิขอต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 1 ช่วง คือต่ออีก 3 ปี แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและอัตราค่าเช่าซึ่งผู้ให้เช่าและผู้เช่าได้ทำความตกลงร่วมกัน และโดยที่ผู้เช่าจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งความประสงค์เช่นว่านั้นให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันครบกำหนดอายุการเช่าตามสัญญานี้ ทั้งนี้อัตราค่าเช่าใหม่จะต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเช่าเดิมที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ ไม่มีข้อความบ่งบอกว่ามีข้อตกลงพิเศษที่จำเลยให้โจทก์เช่าไปจนกว่าโจทก์ประสงค์จะเลิกเอง และตามสัญญาเช่านี้ นอกจากผลประโยชน์ที่จำเลยจะได้รับจากโจทก์เป็นค่าเช่าตามที่กำหนดไว้แล้ว จำเลยไม่ได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากโจทก์อีก ส่วนที่โจทก์ใช้เงินลงทุนไปกว่า 3,000,000 บาท ทำให้ร้านค้าของโจทก์เป็นร้านค้าที่ทันสมัย ลูกค้าที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลของจำเลยได้รับความพึงพอใจ ช่วยให้โรงพยาบาลของจำเลยเจริญรุดหน้านั้น สิ่งที่โจทก์ลงทุนไปเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เอง หากลูกค้ามีความพึงพอใจโจทก์ก็ย่อมได้รับผลประโยชน์ในทางธุรกิจมากขึ้น ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้กิจการของจำเลยซึ่งเป็นการประกอบกิจการโรงพยาบาลเจริญรุดหน้าแต่อย่างใด สัญญาเช่าพื้นที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
หลังจากครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาเช่าแล้ว ได้มีการต่อสัญญาเช่า ต่อมาโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่พิพาทกันใหม่ มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจำเลยมีหนังสือแจ้งต่อสัญญาเช่าพื้นที่ให้แก่โจทก์เรื่อยมา โดยต่อสัญญาเช่าออกไปครั้งละ 1 ปี โจทก์รับทราบการต่อสัญญาเช่าดังกล่าว จนกระทั่งครั้งสุดท้ายจำเลยมีหนังสือแจ้งต่อสัญญาเช่าพื้นที่ให้แก่โจทก์มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งตามหนังสือฉบับนี้ จำเลยระบุว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่ 88 ตารางเมตร จำเลยขอคิดค่าเช่าเพิ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นราคาตารางเมตรละ 1,126 บาท เงื่อนไขอื่น ๆ ยังคงเหมือนสัญญาฉบับแรกและหนังสือการต่ออายุสัญญาเช่าพื้นที่ฉบับก่อน ๆ สัญญาเช่าพื้นที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาเช่ามีกำหนดเวลา คือตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์ผู้ให้เช่าจะสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่พิพาทได้ต่อไปก็ต่อเมื่อมีการต่ออายุสัญญาเช่า หรือเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้ ถ้าผู้เช่ายังครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลา จำเลยส่งหนังสือถึงโจทก์เพื่อแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่า จำเลยจำเป็นต้องปรับปรุงอาคารรวมทั้งพื้นที่ใช้สอยบริเวณชั้นล่างของอาคารทั้งหมด ดังนั้น จำเลยจึงไม่ประสงค์ให้มีการต่ออายุสัญญาเช่าออกไปอีก เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ขอให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สิน ตลอดจนอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2554 ต่อมา โจทก์ขอขยายระยะเวลาขนย้ายทรัพย์สินออกไปอีก 1 เดือน เป็นวันที่ 30 เมษายน 2554 จำเลยตกลงตามที่โจทก์ขอ ซึ่งจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวโจทก์ว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการขนย้ายในวันที่ 30 เมษายน 2554 แล้ว จำเลยจะเข้าครอบครองพื้นที่เช่าทันทีจนกระทั่งปลายเดือนเมษายน 2554 ใกล้จะครบกำหนดเวลาสิ้นสุดการขนย้าย จำเลยพบว่าโจทก์ยังไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มดำเนินการขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่พิพาท ในวันที่ 26 เมษายน 2554 จำเลยจึงได้ส่งหนังสือบอกกล่าวแจ้งสิ้นสุดสัญญาเช่าอีกครั้ง เพื่อเตือนให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่พิพาทให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2554 ฟังได้ว่า จำเลยไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำสัญญาเช่าพื้นที่พิพาทอีกต่อไป และจำเลยก็ได้ดำเนินการตามสัญญา ซึ่งมีการแก้ไขสัญญาในข้อ 9.3 โดยจำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันครบกำหนดอายุสัญญา ซึ่งฝ่ายโจทก์ได้รับหนังสือฉบับนี้ไว้แล้ว สัญญาเช่าพื้นที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 อันเป็นวันสิ้นสุดอายุการเช่า ส่วนที่โจทก์มีสิทธิขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่พิพาทได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2554 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่า ข้อ 8.18 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยโจทก์ผู้เช่าต้องขนย้ายทรัพย์สินออกจากสถานที่เช่า และส่งมอบสถานที่เช่าให้จำเลยผู้ให้เช่าไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดการเช่า รวมกับระยะเวลาที่จำเลยผ่อนผันให้โจทก์ดังกล่าว และกรณีนี้แม้โจทก์จะไม่ได้ประพฤติผิดสัญญาก็ตาม เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วและจำเลยไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในพื้นที่พิพาทต่อไป สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลย และที่แก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้มีข้อสัญญาที่เป็นคำมั่นจะให้เช่า ดังนั้น แม้โจทก์เสนอที่จะเช่าต่อแต่จำเลยไม่สนองรับคำเสนอของโจทก์ สัญญาเช่าก็ไม่เกิดขึ้น
โจทก์ฎีกาว่า ม. ไม่ได้รับมอบหมายจากกรรมการจำเลยให้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ และ อ. ผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาไม่ใช่พนักงานของโจทก์นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างประเด็นนี้ในคำฟ้องแม้โจทก์จะนำสืบประเด็นนี้ไว้ ก็เป็นเรื่องนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว เมื่อโจทก์ยังฎีกาประเด็นนี้อีก จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาร่วมลงทุน: การรับผิดชอบซื้อหุ้นคืนตามสัดส่วนและหนี้ที่มีลูกหนี้หลายคน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า บันทึกข้อตกลงและสัญญาร่วมลงทุนไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 กลับอุทธรณ์และฎีกาว่าบันทึกและสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะโดยอ้างเหตุผลขึ้นใหม่นอกเหนือจากคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้จึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ข้อตกลงตามสัญญาระบุให้จำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 3 และหรือจำเลยที่ 4 และหรือจำเลยที่ 5 รับผิดซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากโจทก์ตามสัดส่วนการถือหุ้น จึงเป็นกรณีที่เป็นหนี้ที่มีลูกหนี้หลายคนอันจะแบ่งกันชำระได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 290 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงขัดต่อมาตรา 290 และข้อสัญญาดังกล่าว การวินิจฉัยขัดต่อข้อกฎหมายและข้อสัญญาเช่นนี้ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 5 ไม่ฎีกา ก็สมควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 5 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัด, อายุความ, และการบังคับคดีในหนี้เบิกเกินบัญชีและเงินกู้ รวมถึงบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งห้าคัดค้านนั้น แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมหรือการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าเสียหายจึงยังไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว
การที่จำเลยทั้งห้าไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธมาในศาลชั้นต้นว่าสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาปลอม และจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจทำสัญญาจำนองแทน ส. จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การที่ ป. และ บ. ลงลายมือชื่อในช่องพยานในสัญญาค้ำประกันเพื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. แม้จะไม่ระบุว่า เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ถือว่าเป็นการรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว การลงลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. จึงถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 19 ต่อปี นั้น ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินควรศาลย่อมลดเบี้ยปรับได้ แต่เนื่องจากมีการโอนหนี้ของโจทก์คดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีอาญา: การอุทธรณ์ข้อเท็จจริง และการรับวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท และศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 100 บาท นั้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำเลยแต่ละกระทงจำคุกไม่เกินห้าปี จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาในความผิดฐานดังกล่าวมาโดยสรุปได้ความในทำนองว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีพิรุธน่าสงสัย ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ข้อฎีกาดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16789/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกเคหสถาน ทำร้ายร่างกาย และทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษจำคุกและยืนตามคำพิพากษาเดิมบางส่วน
จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้เสียหายกับพวกออกมาที่หน้าบ้านเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ชกต่อยกับผู้เสียหายกับพวกที่บริเวณหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าห้ามปรามโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามพฤติการณ์เชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของ จ. และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า จ. เคยฟ้องมารดาของจำเลยทั้งสามกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ จ. ก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า จ. ซึ่งถูกมารดาของจำเลยทั้งสามฟ้องขับไล่ยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ให้ยกอุทธรณ์ของ จ. ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้
ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาร่วมกันบุกรุกและข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นสองกรรมเกินจากที่ได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อถามหาน้องชายของผู้เสียหาย แต่เมื่อไม่พบจึงได้ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปถามหาน้องชายของผู้เสียหาย ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
of 70